ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยธุรกิจแบงก์ Q2 สินเชื่อโตช้า-จับตา NPL อาจสูงขึ้นในกลุ่มเปราะบาง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ไตรมาส 2 ปี 2023 นี้ประเมินว่า กำไรสุทธิของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไทยจะอยู่ที่ 64,300 – 66,300 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/2023 ที่อยู่ระดับ 54,800 ล้านบาท โดยรายได้ดอกเบี้ยได้รับอานิสงค์จากอัตราดอกเบี้ยที่ขยับขึ้น และน่าจะมีแรงหนุนจากปัจจัยเชิงฤดูกาลในส่วนของรายได้เงินปันผล

อย่างไรก็ตาม แม้กลุ่มธุรกิจธนาคารไทยจะมีแรงบวกจากอัตราดอกเบี้ยที่ขยับขึ้นมา แต่การเติบโตของสินเชื่อที่ชะลอตัวในไตรมาส 2/2023 (ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ 0.5-0.8% YoY ชะลอลงจากไตรมาส 1/2023 เติบโต 1.3%) และต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายมีแนวโน้มสูงขึ้น (เพิ่มจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก) ส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิและ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) อาจขยับขึ้นได้ในกรอบจำกัด โดยคาดว่า NIM จะปรับขึ้นมาอยู่ที่กรอบ 2.96-3.00% เทียบกับ 2.91% ในไตรมาส 1/2023 

ทั้งนี้ สัญญาณการฟื้นตัวแบบเปราะบางของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในไตรมาส 2/2023 ยังทำให้รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการมีแรงหนุนน้อยลง โดยคาดว่าจะอยู่ในกรอบ 3.5-5.0% YoY ซึ่งหากดูตัวเลขที่ยังเห็นการขยายตัวต่อเนื่องนี้มาจากการเปรียบเทียบกับฐานท่ีต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่น่าจะยังคงกันสำรองฯ แบบระมัดระวัง เพราะสัดส่วน NPL มีโอกาสขยับขึ้นมาอยู่ในกรอบ 2.68-2.72% ต่อสินเชื่อรวม เนื่องจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้าและไม่ทั่วถึงยังส่งผลกระทบต่อสถานการณ์รายได้ และความสามารถในการชำระคืนหนี้ของลูกหนี้บางกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจและครัวเรือนรายย่อยที่มีรายรับไม่สม่ำเสมอ และกลุ่มลูกหนี้ที่เพิ่งออกจากมาตรการช่วยเหลือของสถาบันการเงิน อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นอาจเพิ่มแรงกดดันต่อคุณภาพของสินเช่ือ และทำให้ธนาคารยังปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวัง และอาจตั้งสารองฯ ในกรอบระมัดระวัง

ทั้งนี้คาดว่าในไตรมาส 2/2023 กลุ่มธุรกิจธนาคารไทยจะมีสัดส่วนสำรองฯ ต่อสินเชื่อที่ 1.22 -1.28% (ไตรมาส 1/2023 อยู่ที่ 1.22%)

ในภาพรวมแล้ว ประเมินว่า กำไรสุทธิของระบบแบงก์ไทยในช่วงครึ่งปีแรก 2023 จะอยู่ในกรอบ 119,000 – 121,000 ล้านบาท แต่ยังคงมีความท้าทายทั้งจากาความไม่แน่นอนของทิศทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่ง ปีหลัง ทั้งจากปัจจัยการเมืองในประเทศและสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่อาจเพิ่มแรงกดดันมาสู่ธุรกิจหลักของธนาคารพาณิชย์ ทั้งในส่วนการปล่อยสินเชื่อ รวมถึงรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ ซึ่งอาจทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ ประเมินและทบทวนความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกหนี้ รวมถึงเร่งบริหารจัดการคุณภาพของพอร์ตสินเชื่อในเชิงรุก และตั้งสำรองฯ โดยคำนึงถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า

นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจธนาคารยังต้องเตรียมปรับตัวรับเกณฑ์หรือกติกาที่อาจทยอยปรับเปลี่ยนมากขึ้นซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการเติบโตของรายได้จากธุรกิจหลักของธนาคารพาณิชย์ในระยะข้างหน้า

ที่มา – ธนาคารกสิกรไทย

อ่านเพิ่มเติม

 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา