ประเทศไทยน่าห่วง โดนปรับลด GDP โตเหลือ 1% เพราะคุมเข้ม-เยียวยาไม่ทั่ว-ผู้ติดเชื้อพุ่ง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดการเติบโตเศรษฐกิจไทยเหลือ 1% เพราะสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาในไทยยังไม่คลี่คลาย ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวไม่ได้ ธุรกิจต่างๆ ไม่สามารถกลับมาเปิดทำการได้เต็มรูปแบบ ส่วนภาคการท่องเที่ยวที่เป็นหัวจักรเศรษฐกิจก็ยังซบเซาต่อไป

gdp thailand kresearch 1%

เศรษฐกิจไทยจะโตได้แค่ 1%

เศรษฐกิจไทยปี 2564 ในมุมมองของศูนย์วิจัยกสิกรไทยไม่สวยหรูนัก ปรับลดการเติบโตลงมาเหลือแค่ 1% หลังจากในช่วงเดือนเมษายนศูนย์วิจัยกสิกรไทยเคยมองว่าเศรษฐกิจไทยโตได้ถึง 1.8% ที่สำคัญ ในช่วงปลายปี 2563 ก็เคยคาดเอาไว้ว่าเศรษฐกิจจะโตถึง 2.6% เรียกได้ว่าลดลงอย่างต่อเนื่อง สะท้อนชัดว่าเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในมุมลบ

มาตรการเข้มงวด-เยียวยาไม่ครอบคลุม-ผู้ป่วยสูงต่อเนื่อง คือ 3 ปัจจัยลบ

มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดขึ้น คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยถูกปรับลดการเติบโตลง เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าซึ่งแพร่ระบาดได้เร็วและรุนแรงกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมถูกพบมากขึ้น ส่งผลให้คณะรัฐมนตรีประกาศมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (พื้นที่สีแดงเข้ม) 

แน่นอนว่ามาตรการเข้มงวดกระทบต่อภาคธุรกิจและการจ้างงานมีมากขึ้น และมีผลกระทบต่อเนื่องไปยังกำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคให้ทรุดตัวไปกว่าเดิม

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า มาตรการเยียวยาของภาครัฐยังไม่ครอบคลุมเพียงพอ แม้มาตรการเยียวยาคาดว่าจะช่วยประคองการดำรงชีพที่จำเป็นของประชาชน แต่ไม่สามารถชดเชยผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยรวม 

ภาพจาก รัฐบาลไทย

โดยวันที่ 13 ก.ค. 2564 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบออกมาตรการเยียวยาวงเงินรวม 4.2 หมื่นล้านบาท เพื่อช่วยชดเชยแรงงานและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ โดยครอบคลุม 10 จังหวัดในพื้นที่สีแดงเข้ม เป็นระยะเวลา 1 เดือน รวมถึงมีมาตรการช่วยบรรเทาภาระค่าน้ำค่าไฟแก่ประชาชนทั่วไปเป็นระยะเวลา 2 เดือน 

อีกปัจจัยลบ คือ จำนวนผู้ติดเชื้อที่กลับมาเพิ่มขึ้นในประเทศไทย ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดกรอบประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2564 เหลือ 2.5-6.5 แสนคน จากประมาณการเดิมที่ 2.5 แสน-1.2 ล้านคน 

แม้ว่าจะมีการเริ่มเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วยโครงการ “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” และโครงการ “สมุย พลัส โมเดล” อย่างไรก็ดี แผนการเปิดประเทศในพื้นที่อื่นๆ รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาท่องเที่ยวในไทย จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดและการเร่งฉีดวัคซีนเป็นหลัก ขณะที่ในต่างประเทศก็ยังเผชิญความเสี่ยงจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง 

Thailand Phuket 2020 ภูเก็ต
ภาพจาก Shutterstock

การแพร่กระจายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพอย่างครอบคลุมคือความหวัง

ทิศทางเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศที่ยังคงเผชิญความเสี่ยงสูง ทั้งจากการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ใหม่ ประสิทธิภาพของวัคซีน รวมถึงการเร่งฉีดวัคซีนที่อาจต่ำกว่าเป้าหมาย หากสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศยังไม่คลี่คลายลง คาดว่าภาครัฐอาจจำเป็นต้องมีมาตรการดูแลผลกระทบเพิ่ม

ในขณะเดียวกัน หากสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลาย คาดว่าภาครัฐจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อช่วยให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีแรงส่งมากขึ้น โดยใช้งบประมาณภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท 

ขณะที่ยังต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดในต่างประเทศที่ยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่ท่ามกลางการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ใหม่ๆ เช่นกัน ซึ่งอาจเป็นปัจจัยกดดันภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกของไทยในระยะข้างหน้าได้ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้คำนึงถึงปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ในการทบทวนประมาณการเศรษฐกิจไทยแล้ว และคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้อาจขยายตัวได้ 1.0%

ที่มา – ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

บาส รชต สนิท - นักข่าว นักเขียน ที่ Brand Inside | สนใจด้าน Future of Work, สิทธิคนทำงาน, สิ่งแวดล้อม, การเมืองโลก, ปัญหาทุนนิยม และ สิทธิมนุษยชน