Klarna สตาร์ทอัพระบบจ่ายเงินจากสวีเดน ได้ประกาศว่าตอนนี้ทางบริษัทได้รับใบอนุญาตการประกอบกิจการธนาคารจาก Finansinspektionen หน่วยงานผู้ดูแลกิจการทางการเงินของสวีเดนเป็นที่เรียบร้อย เตรียมขยายบริการให้ครอบคลุมด้านธนาคารในอนาคต
Klarna ปัจจุบันเน้นไปที่การทำระบบจ่ายเงินให้เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ กับการเพิ่มช่องทางการจ่ายเงินให้กับผู้ใช้บนร้านค้าออนไลน์ ที่ปัจจุบันมีลูกค้ากว่า 60 ล้านคน และมีผู้ค้าที่เข้าร่วมกว่า 7 หมื่นราย ซึ่งการได้รับใบอนุญาตธนาคาร จะทำให้ Klarna ให้บริการทางการธนาคารอย่างเช่นบัตรเครดิตกับผู้ใช้ทั่วยุโรปได้ และมีโอกาสทำผลิตภัณฑ์ประเภทกระเป๋าเงินดิจิทัลแบบออลอินวันที่รวมทุกอย่างไว้ในที่เดียวได้
หลังจากได้รับใบอนุญาตธนาคารอย่างเป็นทางการ Klarna ก็ได้เปลี่ยนชื่อของบริษัทเป็น Klarna Bank แต่จะยังคงดำเนินการโดยใช้แบรนด์ Klarna ต่อไปเช่นเดิม
การได้รับใบอนุญาตธนาคารของ Klarna ในครั้งนี้ถือเป็นการปรับตัวครั้งใหญ่อีกครั้งในแวดวงการให้บริการทางการเงิน โดยนอกจาก Klarna ก็มีบริการอย่าง N26, Atom Bank สตาร์ทอัพธนาคารที่เน้นการให้บริการบนแอพที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคาร ทำให้สามารถประกอบกิจการเป็นธนาคารได้เต็มรูปแบบแล้ว ซึ่งแต่เดิม กิจการธนาคารมักจะเป็นกิจการขนาดใหญ่ รองรับการจ่ายเงินเป็นจำนวนมาก ในขณะที่ปัจจุบันสตาร์ทอัพสามารถสร้างเทคโนโลยีและโฟกัสได้ตรงจุดกว่า รวมถึงมีขนาดเล็กกว่า จึงทำให้สามารถมอบอัตราดอกเบี้ยและมีทางเลือกให้กับลูกค้าและผู้ประกอบการได้มากกว่า
โฆษกของ Klarna ปฏิเสธในการให้รายละเอียดว่าทางบริษัทจะเพิ่มบริการอะไรเป็นอย่างแรกหลังจากที่ได้รับใบอนุญาตการทำกิจการธนาคาร และจะเริ่มเปิดให้ผู้ใช้ได้เริ่มใช้งานเมื่อไร
ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา Klarna ก็ได้เข้าซื้อบริการ BillPay คู่แข่ง PayPal จากเยอรมนีด้วยมูลค่า 75 ล้านดอลลาร์ โดยยอดการเติบโตของ Klarna นั้นก็ถือว่าสูงมาก โดยในแง่ของยอดการใช้จ่ายเงิน (transaction) มีการเติบโต 50% ในปี 2016 และ 37% ในไตรมาสแรกของปี 2017 ส่วนในแง่ของปริมาณเงิน (volume) เติบโต 44% ในปี 2016 และ 39% ในไตรมาสแรกของปี 2017 โดยเมื่อไตรมาสล่าสุดก็มีผู้ค้าเข้าร่วมกับ Klarna อีกกว่า 17,000 ราย
Klarna ก่อตั้งขึ้นในปี 2005 ที่เมือง Stockholm ประเทศสวีเดน โดยปัจจุบันมี Sebastian Siemiatkowski เป็นซีอีโอ มีพนักงานบริษัททั้งหมด 1,500 คน ผู้ลงทุนในกิจการของ Klarna เช่น Sequoia, DST, Atomico, IVP, Povlsen, Creandum, Sequoia Capital, Bestseller, General Atlantic
ที่มา – Klarna, TechCrunch
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา