KKP Research ปรับคาดการณ์ GDP ไทย 2021 ลดลง เหลือโต 2.0% จากโควิดระลอกใหม่

  • KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ปรับลดการคาดการณ์อัตราการเติบโตของ GDP สำหรับปี 2021 ลงจาก 3.5% เป็น 2.0% จากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ในประเทศที่นำไปสู่การปิดเมืองบางส่วน 
  • ประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2021 ปรับลดลงจาก 6.4 ล้านคนเป็น 2 ล้านคน ในกรณีเลวร้ายคาดว่าจะไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เลยทั้งปี 
  • ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามคือ (1) การลุกลามของการติดเชื้อภายในประเทศ (2) ข้อจำกัดด้านสาธารณสุขในการรองรับผู้ป่วย และ (3) ประสิทธิผลและความครอบคลุมในการแจกจ่ายวัคซีน 

KKP Research

เปิดปี 2021 ด้วยโควิดระบาดระลอกใหม่ และมีแนวโน้มกระจายในวงกว้าง ยากต่อการควบคุมและการติดตามผู้สัมผัสเชื้อ มาตรการของภาครัฐที่เข้มข้นน้อยกว่าครั้งก่อน และจากพฤติกรรมของผู้คนเองที่มีการเดินทางและพบปะกันมากขึ้นในช่วงเทศกาล จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศจึงมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าการระบาดระลอกแรกและได้กระจายไปราว 60 จังหวัดทั่วประเทศ

KKP Research

KKP Research ปรับลดการคาดการณ์ GDP เหลือ 2.0%

KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ปรับลดการคาดการณ์อัตราการเติบโตของ GDP สำหรับปี 2021 ลงอีกครั้งจากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ในประเทศ โดยมองว่า การระบาดรอบนี้จะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญผ่าน 2 ช่องทางหลัก คือ (1) การประกาศปิดเมืองจะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศชะลอลงกว่าที่เคยประเมินไว้ กระทบต่อการลงทุน การจ้างงาน รายได้และการบริโภค (2) นักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะกลับมาได้ในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ปีนี้ มีแนวโน้มล่าช้าออกไปกว่าเดิม 

KKP Research ปรับลดการคาดการณ์ GDP สำหรับปี 2021 ลงจาก 3.5% เหลือ 2.0% อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าในกรณีเลวร้ายที่การแพร่ระบาดรุนแรงจนทำให้มาตรการปิดเมืองต้องมีความเข้มข้นขึ้น ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ตลอดทั้งปี จะส่งผลให้ GDP อาจหดตัวได้ถึง -1.2% 

KKP Research

โควิด-19 ระลอกใหม่กระทบเศรษฐกิจที่เปราะบางอยู่แล้ว

1) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศจะสะดุดลงอีกครั้ง จากการระบาดและมาตรการที่มีแนวโน้มลากยาว รุนแรงควบคุมได้ยากกว่ารอบที่แล้ว ในครั้งนี้จังหวัดที่มีการแพร่ระบาดสูงเป็นพื้นที่ที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระดับสูง โดยขนาดเศรษฐกิจโดยรวมของพื้นที่เสี่ยงสูง 28 จังหวัดคิดเป็นสัดส่วนกว่า 70% ของ GDP ทั้งประเทศ จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้คาดว่าแม้การปิดเมืองจะเข้มงวดน้อยลงแต่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมจะยังคงรุนแรงใกล้เคียงกับรอบที่ผ่านมา

KKP Research

เศรษฐกิจในไตรมาส 1 จะหดตัวรุนแรง ก่อนจะค่อยๆ ฟื้นตัวในไตรมาสถัดไป คาดการณ์ว่า รัฐจะสามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ในระยะเวลาประมาณ 2 เดือน ซึ่งจะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปีได้รับผลกระทบในลักษณะเดียวกันกับในไตรมาส 2 ปี 2020 ส่งผลให้ GDP ในไตรมาสแรกมีโอกาสโตติดลบถึง 6.1% และหากการระบาดจบลงตามคาด เศรษฐกิจจะสามารถกลับมาฟื้นตัวได้อย่างช้าๆ ในช่วงไตรมาส 2

KKP Research

2) นักท่องเที่ยวต่างชาติอาจกลับมาได้ช้ากว่าที่คาด ซึ่งเป็นผลจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ (1) การระบาดระลอกใหม่ในประเทศทำให้คนไทยกลับมามีความกังวลในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และในทางกลับกันนักท่องเที่ยวจากประเทศที่มีการระบาดอยู่ในระดับต่ำแล้ว เช่น จีน ก็อาจลังเลที่จะเข้ามาเที่ยวในประเทศไทย และ (2) แม้ไทยจะมีแผนสำหรับการผลิตและใช้วัคซีนในประเทศ แต่ต้องรอถึงช่วงครึ่งหลังของปีกว่าจะมีการเริ่มฉีดได้ในวงกว้างขึ้น ซึ่งอาจไม่ทันสำหรับการเปิดรับนักท่องเที่ยวในไตรมาส 3 KKP Research จึงปรับประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวสำหรับปี 2021 ลงจากที่เคยคาดว่าจะกลับมาได้ 6.4 ล้านคนในไตรมาส 3 และ 4 เหลือเพียง 2 ล้านคนในไตรมาส 4 เท่านั้น

KKP Research

ส่งออกช่วยพยุงเศรษฐกิจ แต่ยังมีความเสี่ยง

การส่งออกจะเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจในปีนี้โดยจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างช้าๆ ตามเศรษฐกิจโลก นอกจากความคืบหน้าเรื่องวัคซีนแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่อาจช่วยบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้ คือ เศรษฐกิจโลกที่เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของประเทศเศรษฐกิจหลัก ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะยังหนุนให้การส่งออกไทยสามารถขยายตัวได้ในปีนี้

ในช่วงที่ผ่านมาพบว่าการส่งออกไทยยังฟื้นตัวช้ากว่าหลายประเทศในภูมิภาค เนื่องจากการฟื้นตัวของการค้าระหว่างประเทศยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มสินค้าเทคโนโลยี ในขณะที่สินค้าส่งออกไทยมีสัดส่วนของสินค้ากลุ่มนี้น้อย นอกจากนี้ ปัญหาการขาดแคลนตู้สินค้าที่เกิดต่อเนื่องมาจากปีก่อน และค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง จะยังคงเป็นความเสี่ยงที่อาจทำให้การส่งออกไทยในปี 2021 ขยายตัวได้น้อยลงกว่าที่เคยประเมิน ในระยะข้างหน้ายังต้องติดตามความเสี่ยงจากการระบาดของโควิด-19 ที่อาจทำให้เกิดปัญหาในภาคการผลิตในประเทศที่สามารถกลับมากระทบการส่งออกเพิ่มเติมได้เช่นกัน

KKP Research

ตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนสูงโดยขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยงหลายประการ โดยหากสถานการณ์การระบาดยืดเยื้อและรุนแรง คาดว่าในกรณีเลวร้ายอาจต้องมีมาตรการที่จำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจยาวนานถึง 2 ไตรมาสเพื่อควบคุมการระบาดของโควิดที่รุนแรงขึ้น ภาคการผลิตและการส่งออกอาจประสบปัญหาจากความจำเป็นต้องปิดโรงงานชั่วคราวและการขนส่งสินค้า อีกทั้งหากวัคซีนไม่ได้ผลตามคาด อาจทำให้ไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เลยในปีนี้ ในกรณีเลวร้าย KKP Research ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยอาจหดตัวต่อเนื่องที่ -1.2% ในปี 2021

Source

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา