KKP Research หวั่น 3 ปัจจัยทำ GDP ไทยติดลบ การลุกลาม-การรักษา-การกระจายวัคซีน

KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร คาดการ์การเติบโตของ GDP ไทย 2021 ซึ่งปรับลดลงจาก 3.5% เป็น 2.0% เนื่องจากการระบาดของโควิดระลอกใหม่ ส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจหยุดชะงัก ต้องมีการปรับประมาณการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติใหม่ รวมถึงยังต้องรอดู การลุกลามของการติดเชื้อในประเทศ และการแจกจ่ายวัคซีน ซึ่งในกรณีเลวร้าย KKP Research ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยอาจหดตัวต่อเนื่องที่ -1.2% ในปี 2021

Getty Image
BANGKOK, THAILAND – SEPTEMBER 26: Thai job seekers wait in line for Job Expo Thailand on September 26, 2020 in Bangkok, Thailand. Thailand hosts Job Expo 2020, an effort by the Thai government and companies to boost the economy by offering nearly 1 million jobs to Thai people. Approximately 260,000 jobs are guaranteed to recent graduates while many other companies are focused on hiring elderly and disabled people. While Thailand has confirmed only two locally transmitted cases of COVID-19 in over three months, the economic impact of the virus has left millions unemployed. (Photo by Lauren DeCicca/Getty Images)

KKP Research มองว่า การระบาดระลอกใหม่และการปิดเมืองที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอลงจะส่งผลต่อธุรกิจในลักษณะใกล้เคียงกับช่วงไตรมาส 2 ปีก่อน คือ ธุรกิจที่จำเป็นต้องมีการรวมกลุ่มของคน เช่น การเดินทาง การท่องเที่ยวในประเทศ ร้านอาหาร การค้าปลีก จะได้รับกระทบรุนแรง ในขณะที่ภาคการผลิตเพื่อส่งออกสินค้าอาจเป็นกลุ่มธุรกิจที่ไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากเศรษฐกิจโลกที่เริ่มกลับมาฟื้นตัวได้

KKP Research

สัญญาณการฟื้นตัวของการจ้างงานในช่วงที่ผ่านมายังกระจุกตัวอยู่ในบางกลุ่มธุรกิจ กลุ่มธุรกิจที่เริ่มกลับมาจ้างงานอีกครั้งเป็นกลุ่มที่ไม่ได้พึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก และฟื้นตัวได้ตามการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศ เช่น อสังหาริมทรัพย์ สาธารณูปโภค ในขณะที่การจ้างงานในภาคบริการที่พึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ดีนัก อัตราการว่างงานในเดือนล่าสุดคือเดือนพฤศจิกายนยังอยู่ที่ระดับต่ำเพียง 2.0% แต่มีแรงงานจำนวนมากที่แม้จะมีงานทำอยู่ แต่ถูกลดจำนวนชั่วโมงการทำงานลง โดยผู้ที่เสมือนว่างงานยังคงอยู่ในระดับสูง และในจำนวนนี้ผู้ที่ทำงานต่ำกว่า 10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ยังคงมีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง (อยู่ที่ 4.2 แสนคนในเดือน พ.. 2020 เพิ่มขึ้น 23% จากเดือนเดียวกันในปีก่อนหน้า)

KKP Research

อีกทั้งแรงงานทั้งในและนอกระบบที่ประกอบอาชีพค้าขายหรืออาชีพอิสระที่ยังคงทำงาน แต่รายรับน้อยลงจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา นั่นหมายถึงรายได้ที่หายไปของภาคแรงงานจะรุนแรงกว่าตัวเลขการเลิกจ้างมาก ซึ่งจะกระทบต่อเนื่องไปถึงกำลังซื้อและความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือน 

กลุ่มธุรกิจที่น่ากังวลที่สุดคือ ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวและการบริการที่ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ในช่วงที่ผ่านมา กลับถูกซ้ำเติมอีกครั้งจากการระบาดรอบใหม่ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่สายป่านไม่ยาวพอ อาจนำไปสู่การเลิกจ้างงานในวงกว้างได้

KKP Research

จับตา 3 ปัจจัยเสี่ยง GDP 2021 อาจโตติดลบ

1) การลุกลามของการติดเชื้อในประเทศ ความพิเศษของเชื้อไวรัสโควิด ที่ทำให้ค่อนข้างยากที่จะควบคุมการแพร่ระบาด คือ การที่ผู้ติดเชื้อมีทั้งที่แสดงอาการและไม่แสดงอาการ (asymptomatic) โดยจากการรายงานของ CDC ซึ่งอ้างอิงสถิติล่าสุดในสหรัฐอเมริกาประเมินว่า ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการมีถึง 40% และอาจสูงถึง 80% หากนับรวมผู้ที่มีอาการเพียงเล็กน้อย ซึ่งทำให้ไม่มีการตรวจพบ แต่สามารถแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้โดยที่ไม่รู้ตัวทั้งผู้แพร่และผู้รับเชื้อ  การที่ประเทศไทยไม่มีการตรวจเชื้อแบบเชิงรุกในวงกว้าง จึงมีความเป็นไปได้ที่จำนวนผู้ติดเชื้อแฝงที่สามารถแพร่เชื้อได้ (silent carriers) ในประเทศไทยจะสูงกว่าตัวเลขที่มีการรายงานอยู่หลายเท่าตัว ซึ่งจะทำให้การติดตามการสัมผัสและตรวจเชื้อ (tracing and testing) และการควบคุมการแพร่ระบาดเป็นไปได้ยาก

อีกหนึ่งมิติที่แตกต่างของการระบาดครั้งนี้กับครั้งที่แล้ว คือ ในรอบนี้มีการแพร่ระบาดรุนแรงในกลุ่มแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าว (migrant workers) ที่เป็นกำลังสำคัญในภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทย ซึ่งอาจรวมถึงแรงงานที่ลักลอบเข้าประเทศและทำงานอย่างผิดกฎหมายด้วย ประกอบกับสภาพแวดล้อมในการทำงานและอยู่อาศัยที่เสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อ จะยิ่งทำให้การตรวจสอบและควบคุมในกลุ่มแรงงานทำได้ยาก หากสถานการณ์การติดเชื้อในกลุ่มแรงงานขยายวงลุกลามขึ้น อาจมีความเสี่ยงที่ทางการจะมีมาตรการเข้มงวดมากขึ้นในกลุ่มนี้และอาจกระทบต่อภาคการผลิตของไทยในระยะสั้นได้ โดยเฉพาะในเขตจังหวัดและภาคอุตสาหกรรมที่มีการพึ่งพาแรงงานต่างด้าวเข้มข้น

KKP Research

2) ข้อจำกัดด้านสาธารณสุขในการรองรับผู้ป่วยติดเชื้อ หากจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นเกินขีดความสามารถในการรองรับในด้านสาธารณสุข ก็อาจนำไปสู่มาตรการควบคุมการระบาดที่จำเป็นต้องเข้มงวดมากขึ้นโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้

ข้อจำกัดที่สำคัญในการรับมือกับการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยโควิด-19 อาจไม่ใช่จำนวนเตียงในโรงพยาบาลซึ่งในปัจจุบันมีอยู่ทั้งสิ้น 177,000 เตียงทั่วประเทศ (มีการใช้การอยู่ 75%) ที่ยังสามารถเพิ่มขึ้นได้จากการสร้างโรงพยาบาลสนามในกรณีจำเป็น แต่คอขวดในการรับมือกับผู้ป่วยโควิด-19 จะอยู่ที่ จำนวนห้องแยกโรคความดันติดลบ (negative pressure rooms) ที่สามารถป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคในอากาศ จำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยหนัก (ICU beds) เครื่องช่วยหายใจ (ventilators) และจำนวนบุคลากรทางการแพทย์และพยาบาลสำหรับดูแลผู้ป่วย ICU

KKP Research

KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ประเมินว่า หากจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล (active hospitalization) เพิ่มขึ้นถึง 15,000-20,000 คน (ปัจจุบันอยู่ที่ราว 5,000 คน) จะถึงจุดที่เกินความสามารถด้านสาธารณสุขในการรองรับได้ และมีโอกาสที่จะเห็นมาตรการล็อคดาวน์กลับมาอีกครั้ง ทั้งนี้ อยู่ภายใต้สมมติฐานที่ว่า 1 ใน 4 ของผู้ป่วยโควิดที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจะเป็นผู้ป่วย ICU และ 50% ของทรัพยากรทางการแพทย์ที่มีอยู่และใช้การอยู่ในปัจจุบัน สามารถนำมาใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิดได้ อย่างไรก็ดี การกระจายตัวของทรัพยากรทางการแพทย์ที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่อาจเป็นข้อจำกัดที่มากขึ้นในกรณีที่มีการแพร่ระบาดรุนแรงในพื้นที่ที่สามารถรองรับผู้ป่วยได้น้อย

KKP Research

3) ประสิทธิผลและความครอบคลุมในการแจกจ่ายวัคซีน วัคซีนป้องกันโควิดเป็นกุญแจสำคัญ และเป็นความหวังที่ประเทศไทยจะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้อีกครั้ง  สำหรับประเทศไทยตามการรายงานของทางการ ไทยจะได้รับวัคซีน Coronavac ที่ผลิตโดยบริษัท Sinovac Biotech ของประเทศจีน รวมทั้งสิ้น 2 ล้านโดส ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายนนี้ และได้สั่งจองวัคซีนจาก AstraZenaca อีก 26 ล้านโดส ซึ่งทางการคาดว่าจะได้รับในช่วงกลางปี 2564 และหากเป็นไปตามแผน ประชากรไทยประมาณ 20% จะได้รับวัคซีนภายในสิ้นปีนี้ 

KKP Research

อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงคือ ประสิทธิผลของวัคซีนหากไม่สามารถป้องกันไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือมีผลข้างเคียงรุนแรง หรือการกระจายวัคซีนทำได้ช้า จะทำให้การประเมินการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ มีความเสี่ยงที่จะไม่ฟื้นได้เร็วตามที่คาด และในกรณีเลวร้ายของไทยหากวัคซีนไม่เป็นไปตามที่หวัง อาจหมายถึงประเทศจะไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เลยตลอดทั้งปี 2564 

นโยบายจำเป็นต้องทำมากขึ้น

KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร มองว่าสถานการณ์ดังกล่าว มีความเสี่ยงอย่างมากต่อความอยู่รอดของภาคธุรกิจและภาวะความเป็นอยู่ของภาคครัวเรือน ภาครัฐจำเป็นต้องมีบทบาทมากขึ้นกว่าที่ผ่านมาในการช่วยเหลือเยียวยาภาคธุรกิจและแรงงาน แม้บางโครงการ เช่นคนละครึ่งและเราเที่ยวด้วยกันจะค่อนข้างประสบความสำเร็จและลงสู่ประชาชนและธุรกิจได้จริง แต่ก็ยังนับเป็นเม็ดเงินเพียงส่วนน้อย

หากเปรียบเทียบขนาดของการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลังกับประเทศอื่นจะพบว่าไทยยังมีการใช้จ่ายจากภาครัฐในระดับที่ต่ำมาก อีกทั้งการใช้งบประมาณในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ประกาศไว้ขนาด 1 ล้านล้านบาทในปีที่ผ่านมา ในปัจจุบันยังถูกใช้ไปเพียงราวครึ่งหนึ่งเท่านั้น แสดงถึงความล่าช้าในการผลักดันมาตรการและโครงการต่างๆ ที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิผลและเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น

KKP Research

KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร มองว่าภาครัฐควรต้องผลักดันนโยบาย ทั้งมาตรการเยียวยาระยะสั้นเพื่อเป็นการประคับประคองภาคธุรกิจและแรงงาน และนโยบายการลงทุนเพื่อโครงสร้างพื้นฐานในระยะยาวที่จะเป็นการเพิ่มการจ้างงานและเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจอีกทางหนึ่งด้วย  ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องเพดานหนี้สาธารณะที่ 60% ของ GDP ไม่ควรเป็นข้อจำกัดในภาวะวิกฤตที่สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและความเดือดร้อนต่อประชาชนรุนแรงเช่นนี้ หากการกู้เงินของภาครัฐเป็นไปเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รั่วไหลน้อย และมีแผนในการรักษาวินัยทางการคลังอย่างเข้มงวด ก็จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจและประชาชนโดยรวมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
(
ดูบทความจากมาตรการเยียวยาสู่มาตรการกระตุ้นรอบใหม่ บทบาทภาครัฐกระตุ้นเศรษฐกิจได้แค่ไหน”)

ในด้านนโยบายการเงิน KKP Research มองว่านโยบายการเงินจำเป็นต้องผ่อนคลายเพิ่มเติม ทั้งเพื่อสนับสนุนการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาคการคลัง และเพื่อเป็นการตอบสนองได้อย่างทันท่วงทีในสถานการณ์ปัจจุบันที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มสะดุดลงจากการระบาดระลอกสอง โดยทั่วไปนโยบายการเงินจำเป็นต้องอาศัยระยะเวลาในการส่งผ่านเข้าสู่ภาคเศรษฐกิจจริง การตอบสนองที่ช้าจะเปิดความเสี่ยงให้เกิดการหดตัวขนาดใหญ่ของเศรษฐกิจ  ผู้ทำนโยบายสามารถเร่งผ่อนคลายทางนโยบายผ่านการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม รวมถึงการพิจารณาใช้นโยบายการเงินแบบใหม่ (unconventional policy) อื่น ๆ ซึ่งจะช่วยผลักดันให้สภาพคล่องในระบบไหลไปสู่เศรษฐกิจจริงมากขึ้น และอาจช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทอีกทางหนึ่งด้วย  ควบคู่ไปกับการเร่งปลดล็อคเงื่อนไขของมาตรการด้านสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ ผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้เข้าถึงความช่วยเหลือได้จริงและเป็นวงกว้างมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา