KFC ไทยมีหลักพันสาขา แต่มีแฟรนไชส์ 3 ราย แล้ว KFC ที่บริหารโดย CRG แตกต่างกับเจ้าอื่นอย่างไร?

ตลาดไก่ทอดในประเทศไทยปี 2022 มีมูลค่าราว 20,000 ล้านบาท กินสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของตลาดร้านอาหารบริการด่วน หรือ QSR มี KFC เป็นผู้นำตลาดมาอย่างยาวนาน และไม่น่าจะถูกโค่นง่าย ๆ

แต่ถึงจะแปะป้ายหน้าร้าน KFC เหมือนกัน ผู้บริหารร้าน KFC ในประเทศไทยกว่า 1,000 สาขา กลับมีทั้งสิ้น 3 ราย ช่วยกันเสิร์ฟไก่ทอด 25 ล้านชิ้น/เดือน ซึ่งแต่ละรายก็บริหารจัดการ และมีแนวทางการทำตลาดที่แตกต่างกัน

Brand Inside ได้คุยกับ ปิยะพงศ์ จิตต์จำนงค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส QSR & Western Cuisine บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) หนึ่งในแฟรนไชส์ KFC ในไทย เพื่อฉายภาพการทำตลาดดังนี้

KFC

KFC ของ CRG กับหน้าร้านหลายโมเดล

ปิยะพงศ์ เล่าให้ฟังว่า CRG ทำตลาดในฐานะแฟรนไชส์ของ KFC มาอย่างยาวนาน และเป็นส่วนสำคัญในการสร้างแบรนด์ KFC ให้แข็งแกร่งในประเทศไทย ซึ่งหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญในการสร้างการเติบโตคือการพัฒนาสาขารูปแบบใหม่อย่างต่อเนื่อง ไม่ได้ถูกจำกัดแค่การขยายสาขาตามศูนย์การค้าของเครือเซ็นทรัล

“ปัจจุบันเรามีสาขาครบทุกรูปแบบที่ KFC กำหนดไว้ ไล่ตั้งแต่ในศูนย์การค้าที่มีตั้งแต่สาขาขนาดเล็กถึงใหญ่, สาขาแบบ Drive-Thru, สาขาแบบ Standalone และสาขาในสถานีบริการน้ำมัน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีสาขาแบบ Shop House ที่ใช้พื้นที่เพียงห้องแถว 2 ห้อง เน้นเดลิเวอรี และเปิด 24 ชม.”

หากเจาะไปที่สาขา Shop House ของ KFC ที่บริหารโดย CRG จะพบว่า ปัจจุบันมีทั้งหมด 2 สาขา แห่งหนึ่งอยู่ที่ ซ. อินทามระ ย่านที่มีการเคลื่อนไหว 24 ชม. เน้นซื้อกลับบ้าน และเดลิเวอรี โดยสาขาแบบนี้มีต้นทุนต่ำกว่าสาขาปกติถึง 40% ซึ่งในอนาคต CRG มีแผนขยายสาขารูปแบบนี้ในพื้นที่อื่นเพิ่มเติม

เข้าถึงได้ทุกวัน ราคาไม่แพง 69 บาท อิ่มได้

ขณะเดียวกัน CRG ยัง วางตำแหน่ง KFC ให้เป็นร้านอาหารที่เข้าถึงได้ทุกวัน มีราคาไม่สูงมาก เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงได้ ผ่านเมนูที่ราคาเริ่มต้น 69 บาท และหากเข้ามารับประทานที่ร้าน 5 คน 300 บาท ก็สามารถอิ่มได้ทุกคนเช่นเดียวกัน แต่ถ้าไม่อิ่ม จะมีเมนู The Box เข้ามาตอบโจทย์ลูกค้าที่ชื่นชอบเมนูหลากหลายในราคาที่ไม่สูงเกินไป

และเพื่อเพิ่มความเป็นร้านที่เข้าถึงได้ทุกวัน KFC ภายใต้การบริหารโดย CRG จะเพิ่ม KFC Cafe’ by Arigato ที่จำหน่ายเมนูกาแฟ และเครื่องดื่มต่าง ๆ เข้าไป เพิ่มโอกาสให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการทั้งวัน จากปกติตัวร้านจะมีช่วงเวลาที่ลูกค้าเข้ามาใช้บริการเยอะคือช่วงเที่ยง และช่วงเย็น

“ปีนี้เราคาดว่าจะมีสาขาทั้งหมด 320 แห่ง ผ่านการเปิดเพิ่ม 20 สาขา และในปี 2023 จะเปิดเพิ่มอีก 30 สาขา โดย CRG วางงบประมาณในการขยายสาขารูปแบบต่าง ๆ กว่า 400 ล้านบาท ส่วน KFC Cafe’ by Arigato ตอนนี้เรามีให้บริการแล้ว 260 สาขา และจำหน่ายมาได้กว่า 2 ล้านแก้ว ในปี 2022”

ปั้นยอดขาย 7,000 ล้านบาท ในปี 2023

จากกลยุทธ์ดังกล่าว CRG จะปิดรายได้จาก KFC ที่ 6,300 ล้านบาท ในปี 2022 เติบโต 60% จากปี 2021 คิดเป็น 40% ของรายได้จากร้านอาหารต่าง ๆ ในเครือ และมากกว่าเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ 6,100 ล้านบาท และในปี 2023 ตั้งเป้ารายได้ที่ 7,000 ล้านบาท เนื่องจากสถานการณ์ต่าง ๆ เริ่มกลับมาปกติมากขึ้น

“ตอนนี้หากรวมรายได้ KFC ทั้ง 3 แฟรนไชส์ จะพบว่ายอดขายเท่ากับช่วงปี 2019 แล้ว แต่ตัวเลขนั้นมาจากจำนวนสาขารวมที่มากขึ้นด้วย ไม่ใช่แค่สถานการณ์เริ่มกลับมาปกติอย่างเดียว ดังนั้นในปี 2023 KFC และธุรกิจร้านอาหารอื่น ๆ จะกลับมาดีขึ้นอย่างชัดเจนแน่นอน”

สำหรับสถานการณ์ฟุตบอลโลกในตอนนี้มีการขับเคลื่อนยอดขายเดลิเวอรีเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยปัจจุบันสัดส่วนรายได้มาจากการรับประทานที่ร้าน 75% และเดลิเวอรีผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ 25% และในปี 2022 บริษัทพัฒนาสาขาแบบ Green Store ที่ใช้พลังงานสะอาด และดูแลสิ่งแวดล้อม เช่น สาขาราชพฤกษ์ ใช้เงินลงทุน 17-18 ล้านบาท

สรุป

ธุรกิจร้านอาหารเริ่มฟื้นตัวจากช่วงวิกฤติเมื่อปี 2021 ได้จริง ๆ และในปี 2023 ทุกร้านน่าจะกลับมาทำธุรกิจกันได้อย่างปกติ ซึ่ง KFC ที่บริหารโดย CRG ก็พร้อมเดินหน้าขยายสาขาหลากหลายรูปแบบเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่ม ช่วยสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้ธุรกิจเติบโตในอนาคตได้

อ้างอิง // CRG

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา