KBTG บริษัทในเครือธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยกลยุทธ์ Digital Transformation ขององค์กรในปี 2021 ตั้งเป้าใช้เทคโนโลยีพาธนาคารกสิกรไทย สู่ธนาคารระดับภูมิภาค
ปัจจุบันคำว่า Digital Disruption เป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา อันเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการทำงานของธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมบนโลก การปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยีจึงเป็นสิ่งที่ต้องทำ เพื่อให้ธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมยังคงอยู่รอดต่อไปได้ แม้จะต้องมีการเปลี่ยนรูปแบบการทำงานไปจากเดิม
แม้แต่ธุรกิจธนาคาร ที่ให้บริการด้านการเงินยังถูกเทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงการทำงานเช่นเดียวกับธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมอื่นๆ เช่นเดียวกัน คำถามที่เกิดขึ้นคือ ธนาคารจะ Transform องค์กรของตัวเองอย่างไรเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี
Bran Inside ได้มีโอกาสพูดคุยกับเรืองโรจน์ พูนผล ประธาน กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยีกรุ๊ป หรือ KBTG เรื่องกลยุทธ์การทำ Transformation ของ KBTG รวมถึง KBank ซึ่งเป็นบริษัทแม่
เรืองโรจน์ พูนผล เล่าถึงสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงการทำงานที่เกิดจากเทคโนโลยี ว่ามีความเปลี่ยนแปลงนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การ Disrupt ไม่ได้เกิดขึ้นแบบโดมิโน จากอุตสาหกรรมหนึ่งสู่อีกอุตสาหกรรมหนึ่ง เรียงกันไปเรื่อยๆ แบบโดมิโนอีกแล้ว แต่เกิดการ Disrupt พร้อมๆ กันในทุกอุตสาหกรรมแทน และระยะเวลาของการ Disrupt แทนที่จะเกิดใน 2 ปี กลายเป็นเกิดขึ้นใน 2 เดือน โดยมีโควิด-19 เป็นตัวเร่ง
เมื่อการ Disrupt เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่ใช่ในเวลา 2 ปี แต่เป็น 2 เดือน สิ่งที่เกิดขึ้นคือธุรกิจต่างๆ จำเป็นต้องปรับตัว ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจธนาคาร ที่จำเป็นต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้กับการทำงาน เพื่ออยู่รอดให้ได้ในยุคที่เทคโนโลยีจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงการทำงานแบบเดิมๆ
Transform องค์กร ด้วยการรับฟังเสียงคนทำงาน
เรืองโรจน์ เล่าการทำ Transformation องค์กรของ KBTG หลังจากที่เข้ามารับตำแหน่งเมื่อปี 2019 ว่า ต้องทำการ Transformation ตั้งแต่ระดับฐานขององค์กร โดยใช้ “คนทำงาน” เป็นตัวตั้ง เปิดพื้นที่รับฟังเสียงของพนักงานว่ามีปัญหาอะไรบ้าง แล้วนำเอาเสียงเหล่านั้นมาปรับองค์กรใหม่ รวมถึงทำ Exit Interview เพื่อฟังเสียงของพนักงานที่ตัดสินใจลาออกไปแล้วด้วย ส่วนด้านการทำงานเรืองโรจน์ได้ปรับการทำงานเป็นแบบ Agile ที่ทุกคนต้องสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากเรื่องคนทำงานแล้ว เทคโนโลยีก็มีส่วนสำคัญเช่นเดียวกัน จะต้องมีการปรับเทคโนโลยีให้ทันสมัย ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วน คือ Infrastructure, Data และ Application ที่ KBTG ดูแลอยู่
อย่างไรก็ตามการทำ Transformation องค์กรของ KBTG ที่ได้กล่าวไปข้างต้นนับว่าเป็นเพียงเฟสแรกเท่านั้น เพราะนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยิ่งเป็นการเร่งให้เกิดการ Disrupt ที่เร็วขึ้นอีก ซึ่งทำให้ KBTG ต้องทำการ Transformation ในเฟสที่ 2
Transformation ในเฟส 2 เน้นการใช้เทคโนโลยี Automation
สำหรับการทำ Transformation ในเฟสที่ 2 เรืองโรจน์ เล่าว่าเน้นไปที่การใช้ระบบ Automation เข้ามาช่วยในการทำงาน โดยเฉพาะการพัฒนาซอฟแวร์ ที่ในอดีตต้องมีคนเป็นผู้ทดสอบ เพื่อตรวจความปลอดภัยตามหลักเทคโนโลยี แต่ตอนนี้สามารถใช้ระบบ Automation ตรวจสอบได้เลยโดยไม่ต้องใช้คน รวมถึงขั้นตอนการตรวจสอบโค้ด ยังมีการใช้ระบบสแกนโค้ดอัตโนมัติ เพื่อตรวจหาช่องโหว่ได้โดยไม่ต้องใช้คนเช่นกัน
แล้วยิ่งมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 KBTG จึงต้องนำเอาแนวคิด Agile From Anywhere เข้ามาใช้ด้วย คือ แค่ทำงานอย่างรวดเร็วยังไม่พอ แต่ต้องทำงานได้จากทุกที่ ไม่จำเป็นต้องเข้ามาที่สำนักงาน
การทำ Transformation ในเฟสที่ 2 ที่เรืองโรจน์ได้เล่าถึงไม่ได้เกิดผลดีกับเฉพาะ KBTG เท่านั้น แต่ยังเป็นผลดีกับธนาคารกสิกรไทยด้วยเช่นกัน เพราะเรืองโรจน์ก็ได้ย้ำว่า ธนาคารกสิกรไทยต้องการเป็นธนาคารในระดับภูมิภาค ไม่ใช่แค่ธนาคารในระดับประเทศอีกต่อไป ส่วน KBTG เอง ก็มีความต้องการที่จะเป็นบริษัทเทคโนโลยีในระดับภูมิภาคเช่นกัน
สิ่งที่เราเห็นจากความพยายามที่จะเป็นธนาคารในระดับภูมิภาคของธนาคารกสิกรไทย และบริษัทเทคโนโลยีระดับภูมิภาคของ KBTG เห็นได้จากการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ออกมาอยู่เรื่อยๆ
ที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ การจัดตั้งบริษัท Kubix บริษัทในเครือ KBTG ที่ทำหน้าที่ดูแลระบบการเงินที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาจัดการแทนตัวกลางอย่างสถาบันการเงิน (Decentralized Finance หรือ DeFi) โดยเป็นการแปลงสินทรัพย์ที่มีอยู่ให้กลายเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) ในรูปแบบโทเคนดิจิทัล
สำหรับปี 2021 สิ่งที่เราจะได้เห็นจากภาพการเป็นธนาคารในระดับภูมิภาคของธนาคารกสิกรไทย และ KBTG คือ การได้รับใบอนุญาตให้เปิดกิจการในประเทศเวียดนาม ซึ่งจะเน้นการให้บริการแบบดิจิทัลทั้งหมด หน้าที่ของ KBTG จะต้องนำเอาเทคโนโลยีธนาคารจากประเทศไทย ไปที่ประเทศเวียดนามให้แล้วเสร็จในเดือนสิงหาคมปีนี้ นอกจากนี้ KBTG ยังวางแผนที่จะเปิดรับพนักงานเพิ่มอีกราว 300 คน ในปีนี้ จากเดิมที่มีพนักงานอยู่ 1,500 คน
การขยายการให้บริการไปยังประเทศเวียดนามนับว่าเป็นสิ่งที่น่าจับตามองมาก โดยเรืองโรจน์ได้ให้เหตุผลว่า เวียดนามเป็นประเทศที่มีประชากรในวัยหนุ่มสาวมาก นิสัยคนขยัน แถมเศรษฐกิจยังเติบโตได้ในยุคโควิด-19 ระบาด เวียดนามเปรียบเป็นเหมือนซับเซ็ตย่อยๆ ของประเทศจีน ซึ่งในขณะนี้ KBTG ก็มีศูนย์พัฒนาในประเทศเวียดนามแล้ว โดยมีพนักงานอยู่ราว 100 คน
นอกจากนี้ KBTG ยังได้เปิดตัวโครงการ Tech Kampus เพื่อพัฒนาการศึกษา หลักสูตร และงานวิจัยในสายเทคโนโลยีร่วมกับหน่วยงานรัฐ 2 แห่ง และมหาวิทยาลัยอีก 7 แห่ง ซึ่งในปีนี้เราน่าจะได้เห็นนวัตกรรมใหม่ๆ ในรูปแบบของ Deep Tech Innovation อีกด้วย
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา