เจาะลึกโครงการ KBTG Tech Kampus ที่เกิดมาเพื่อภาคการศึกษา และงานวิจัยเทคโนโลยีของคนไทย

KBTG ร่วมกับ 2 หน่วยงานรัฐและอีก 7 มหาวิทยาลัย จัดทำโครงการ Tech Kampus สนับสนุนการวิจัย ต่อยอดเทคโนโลยี พัฒนาหลักสูตรการศึกษาสายเทค ให้กับภาคการศึกษา และภาคธุรกิจไทย

ปัจจุบันคำว่าเทคโนโลยีได้กลายเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศในหลายๆ ด้านไปเรียบร้อยแล้ว แต่ปัญหาอย่างหนึ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเทคโนโลยี คือ กระบวนการวิจัย และ R&D ที่ยังไม่เพียงพอ เนื่องจากขาดผู้เชี่ยวชาญในเชิงลึก รวมถึงขาดระบบการศึกษาที่ผลิตบัณฑิตออกมาให้เพียงพอกับความต้องการของภาคธุรกิจ หรือบัณฑิตที่ผลิตออกมา ก็ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในด้านที่ตรงกับความต้องการ เพราะการเรียนในมหาวิทยาลัย กับการทำงานจริงมีเงื่อนไขต่างๆ ไม่เหมือนกัน

เจาะลึกโครงการ Tech Kampus ของ KBTG

ด้วยปัญหาข้างต้นนี้ KBTG จึงได้เริ่มโครงการ Tech Kampus ร่วมกับมหาวิทยาลัย 7 แห่ง และองค์กรภาครัฐ 2 แห่ง เพื่อพัฒนา และยกระดับคุณภาพการศึกษา และต่อยอดงานวิจัย โดยเฉพาะในสาขา Data Science และ Artificial Intelligence (AI) เพื่อสร้างนวัตกรรม และผลิตบุคลากรสายเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ให้มีโอกาสในการเรียนรู้ และวิจัยเทคโนโลยีใหม่ๆ ตั้งแต่ยังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย

โครงการ Tech Kampus ที่ KBTG ร่วมมือกับทั้งมหาวิทยาลัย และหน่วยงานภาครัฐนี้ จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ การร่วมมือทำงานวิจัยทางด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ และการร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาในสาขา Data Science และ AI และจะขยายไปยังสาขาอื่นๆ เพิ่มเติมในอนาคต

ด้วยรูปแบบของโครงการ Tech Kampus จะทำให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของนักศึกษา มีความรู้ และทักษะที่ตรงกับความต้องการในตลาดแรงงาน รวมถึงเป็นการส่งเสริมงานวิจัยด้านเทคโนโลยี ที่สามารถนำไปต่อยอดเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ได้

R&D น้อย ปัญหาใหญ่ในวงการเทคโนโลยีไทย

คุณเรืองโรจน์ พูนผล ประธาน กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยีกรุ๊ป หรือ KBTG เล่าถึงปัญหาของวงการเทคโนโลยีไทยว่า ปัจจุบันไทยมีอัตราการทำ R&D ที่ต่ำมาก คิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.3% ของ GDP เท่านั้น เทียบกับประเทศญี่ปุ่นที่มีสัดส่วนการทำ R&D 3% ของ GPD แต่หากเทียบกับไทย ญี่ปุ่นจะใช้งบ R&D สูงถึง 33% ของ GDP ไทย

ปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่คุณเรืองโรจน์เล่าคือ ประเทศไทยมีคนเก่งด้านเทคโนโลยี แต่ขาดการสร้างความร่วมมือแบบ Deep Collaboration และ Deep Focus การทำงานวิจัยในมหาวิทยาลัยอาจต้องใช้เวลานานนับปี ในขณะที่ภาคธุรกิจไม่สามารถรอเวลาได้มากขนาดนั้น เพราะเวลาเป็นปัจจัยสำคัญ ไม่มีเวลาอีกแล้วในการทำการวิจัย การทำวิจัยด้วยตัวเองคนเดียวเป็นสิ่งที่ไม่ตอบโจทย์อีกแล้วในยุคนี้

บวกกับคนทำงานในสายเทคโนโลยีได้รับความต้องการในตลาดแรงงานสูงมาก จนเทียบได้กับการเป็นกวางในป่าอเมซอน ที่อยู่ในป่าได้ไม่นานก็มีคนต้องการตัวแล้ว ดังนั้นการสร้าง Tech Talent Ecosystem จึงกลายเป็นสิ่งสำคัญ

นอกจากนี้ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญหลายๆ คน พบว่า การทำงานวิจัยของไทยยังมีปัญหา คือ การใช้โจทย์ตั้งต้นที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศ ดังนั้นบางครั้งงานวิจัยที่ได้จึงกลายเป็นของขึ้นห้าง ไม่สามารถใช้ได้ในชีวิตความเป็นจริง

หรือหากมีการทำงานวิจัยร่วมกับภาคเอกชน จะมีข้อดีตรงที่เข้าถึงข้อมูลที่มีความเป็นจริงสูง แต่กลายเป็นว่าข้อมูลนี้อาจกลายเป็นความลับทางธุรกิจ ไม่สามารถตีพิมพ์งานวิจัยได้ ซึ่งในมุมของอาจารย์ผู้ทำงานวิจัย จะกลายเป็นว่าไม่มีผลงานที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้

ดังนั้นโจทย์สำคัญคือ จะต้องทำให้การวิจัยกลายเป็นสิ่งที่ทำได้จริง ใช้โจทย์ของจริงที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และต้องทำงานวิจัยร่วมกับภาคเอกชนมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม โครงการ Tech Kampus ของ KBTG จะช่วยแก้ไขปัญหาในการทำงานวิจัยด้านเทคโนโลยี ซึ่งจะสามารถต่อยอดเป็นการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ได้ ผ่านการร่วมทำงานระหว่าง KBTG กับมหาวิทยาลัย 7 แห่ง และหน่วยงานภาครัฐอีก 2 แห่ง ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT), คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล, วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล, ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) และสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIAT)

กรณีศึกษา งานวิจัยที่ทำร่วมกับ KBTG มีอะไรบ้าง

ดร.ทัดพงษ์ พงศ์ถาวรกมล Senior Principal Visionary Architect ของ KBTG เล่าถึงนวัตกรรมที่เป็นกรณีศึกษา ที่ KBTG มีความต้องการนำมาใช้งานจริง เพื่อให้บริการลูกค้าของธนาคารในอนาคต ว่าแบ่งออกเป็นหลายประเภท ได้แก่

    • นวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการลูกค้า ทำสาขาของธนาคารให้กลายเป็น Smart Branch มีการใช้งานระบบสแกนใบหน้า ใช้ระบบ ChatBot ในการตอบคำถามแก่ลูกค้า
    • นวัตกรรม Digital Operation Transformation ภายในองค์กร เป็นการเปลี่ยนงานที่ใช้คนทำซ้ำๆ เป็นการให้คอมพิวเตอร์ทำหน้าที่แทน เช่น งานประมวลผลเอกสาร การตรวจสอบความถูกต้อง การหาช่องโหว่ในเอกสาร โดยหากใช้ระบบ AI เข้ามาทำงานแทน จะทำให้การทำงานเร็วขึ้นนับ 10 เท่า
    • มีนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบของธนาคารในอนาคต ที่อาจเปลี่ยนรูปแบบจากปัจจุบันไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งในปัจจุบัน KBTG ก็กำลังทำการศึกษาในเรื่องนี้อยู่เช่นกัน

นวัตกรรม Smart Branch ในยุคที่ธนาคารต้องรู้จักลูกค้ามากขึ้น

ในกรณีของนวัตกรรม Smart Branch คุณญาณวิทย์ รักษ์ศรี Senior Principal Visionary Architect ของ KBTG ได้ให้รายละเอียดการพัฒนา Smart Branch ในอนาคตที่เป็นไปได้ว่า จะต้องเป็นการเชื่อมต่อการทำงานของสาขา ทั้งออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกัน มีการใช้งานเทคโนโลยีที่รู้จักลูกค้ามากขึ้น รู้ว่าลูกค้าคือใคร และจะให้บริการอย่างไร เช่น การใช้ระบบตรวจจับลูกตา ตรวจจับใบหน้า หรือแม้แต่ระบบ Heat Map ที่ตรวจว่ามีลูกค้ามารอใช้บริการที่สาขามากเพียงใด เป็นเหมือนการรู้จัก เข้าใจ รู้ใจลูกค้ามากขึ้น

ประเด็นเรื่อง Smart Branch ในมุมมองของ ผศ.ดร. จักรหล่ำ ศิลปสุวรรณชัย จากภาควิชาเทคโนโลยีและการสื่อสาร คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ได้ให้ความเห็นว่าคำว่า Smart Branch ไม่ได้หมายความว่าภายในธนาคารจะไม่ต้องมีเคาน์เตอร์บริการอีกต่อไปแล้ว เพราะยังมีบางคนที่ไม่ใช้งานแอปพลิเคชันโมบายแบงก์กิ้งเลย แต่จะต้องทำให้การทำธุรกรรมกลายเป็นสิ่งที่ง่ายขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย

นอกจากนี้ประเด็นเรื่อง Smart Branch ยังมีเรื่องของประสบการณ์การใช้งานของลูกค้าที่จะต้องมีความเกี่ยวข้องด้วย โดยเฉพาะเรื่องการยืนยันตัวตน ที่รศ.ดร.กิติ์สุชาต พสุภา รองคณะบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ให้ความเห็นว่า การใช้บริการธนาคาร มีประเด็นที่ทำให้ลูกค้าเกิดความรำคาญ นั่นคือ การยืนยันตัวตนว่าตัวเองเป็นลูกค้าจริงๆ 

ซึ่งธนาคารก็สามารถแก้ไขปัญหาความรำคาญของลูกค้าได้ โดยการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เช่น การใช้ระบบกล้อง ระบบการสแกนลายนิ้วมือ การตรวจจับการเคลื่อนไหวของริมฝีปาก รวมถึงเสียง ว่าลูกค้าเป็นคนจริงๆ หรือไม่ ก็สามารถทำได้เช่นกัน

หากให้สรุปง่ายๆ ว่านวัตกรรม Smart Branch ที่ KBTG กำลังทำอยู่คืออะไร มันก็คือ การรู้จัก รู้ใจ และเข้าใจลูกค้ามากขึ้นนั่นเอง

นอกจากกรณีศึกษานวัตกรรม Smart Branch ที่ KBTG กำลังให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้ ยังมีประเด็นเรื่องการศึกษาวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีการประมวลผลภาษาทางธรรมชาติ (Thai Natural Language Processing: Thai NLP) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีทางด้านภาษาที่ตามหลังภาษาอื่นๆ ในโลกอยู่ราว 5 ปี ด้วยอุปสรรคทางด้านข้อมูล

ดร.ชูชาติ หฤไชยะศักดิ์ จากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ NECTEC ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ โครงการ Thai NLP ในภาพรวมว่า สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลายทาง หากมีข้อมูลมากพอ 

อย่างในต่างประเทศเองเทคโนโลยี AI ที่ใช้ประมวลผลด้านภาษาไปไกลกว่ามากมีการใช้เทคโนโลยีนี้เพื่อให้ระบบ AI เขียนหนังสือได้เอง โดยเลียนแบบรูปแบบการเขียนของคนได้ ซึ่งหากไม่มีข้อมูลภาษาจำนวนมาก ก็คงไม่สามารถทำได้เช่นนี้

ในอนาคตเราอาจได้เห็นภาพการใช้เทคโนโลยีด้านภาษาที่ไม่ใช่แค่ ChatBot ที่คอมพิวเตอร์พิมพ์ข้อความตอบโต้กับคน แต่อาจเป็นการใช้ระบบ VoiceBot ที่คอมพิวเตอร์สามารถพูดกับคนเป็นภาษาไทยได้ โดยใช้เทคโนโลยี Thai NLP หรือจะให้เทคโนโลยี Thai NLP สรุปใจความประโยคยาวๆ ให้ โดยคนไม่จำเป็นต้องฟังข้อความนั้นด้วยตัวเองทั้งหมดก็เป็นไปได้เช่นกัน

ใครจะได้ประโยชน์จากโครงการ Tech Kampus บ้าง

สำหรับฝ่ายที่จะได้ประโยชน์จากโครงการ Tech Kampus ของ KBTG ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่จะเป็นทั้งภาครัฐ มหาวิทยาลัย ภาคเอกชน นักวิจัย รวมถึงนักศึกษา ที่ทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์แบบ Win-Win เพราะทำให้ทุกฝ่ายสามารถเข้าถึงข้อมูล และโจทย์การวิจัยที่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย โดยเฉพาะเป็นโจทย์ที่มีความต้องการที่จะแก้ไขปัญหา หรือสร้างนวัตกรรมจากภาคธุรกิจธนาคาร จากธนาคารกสิกรไทย

นอกจากนี้นักศึกษาสาขาด้านเทคโนโลยี ยังได้มีโอกาสที่จะเรียนรู้ และลงมือทำงานวิจัยจริง โดยงานวิจัยนี้จะเกิดประโยชน์กับผู้คนจำนวนมาก ใช่ใช่แค่งานวิจัยขึ้นห้างอย่างที่เคยเป็นมา ธนาคารที่เราเห็นกันอยู่ในทุกวันนี้ อาจพลิกโฉมจนไม่เหลือภาพเดิมในวันหน้า กลายเป็นธนาคารที่เข้าใจลูกค้า จากนวัตกรรมที่ต่อยอดจากงานวิจัยในวันนี้

และหากมองไปในอนาคต ในระยะเวลาหลายปีข้างหน้านี้ หากในอนาคตโครงการ Tech Kampus ของ KBTG ประสบความสำเร็จ มีงานวิจัยที่สร้างจากโจทย์จริงที่เกิดขึ้น นำไปใช้ได้จริง นอกจากจะเป็นประโยชน์จากคนไทยจำนวนมากแล้ว ยังจะกลายเป็นการสร้างความได้เปรียบ และจุดแข็งให้กับประเทศไทย ในฐานะประเทศที่สร้างงานวิจัย ที่สามารถต่อยอดไปสู่นวัตกรรมที่ตอบโจทย์คนทั่วโลกได้ด้วยเช่นกัน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Branded Content เป็นบทความที่ได้รับการสนับสนุนจากสปอนเซอร์