ทิศทาง KBTG ในอีก 5 ปี มุ่งผลิตนวัตกรรม เป็นผู้นำภูมิภาค และเป็นผู้เล่นรายใหม่ในตลาดจีน

ปี 2019 เรืองโรจน์ พูนผล หรือ กระทิง ขึ้นดำรงตำแหน่งประธาน กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป หรือ KBTG โดยตั้งเป้าหมายว่า ต้องการสร้างองค์กรเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ปี 2020 นี้ KBTG ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมามากมาย ไม่ว่าจะเป็น ขุนทอง chatbot, eatable, Contactless Technology และล่าสุดก็คือ MAKE by KBank แสดงให้เห็นถึงการขยับบุกตลาดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน มาดูกันว่าทิศทางต่อไปจะเป็นอย่างไร

เรืองโรจน์ บอกว่า ถัดจากนี้จะมีบริการใหม่ รอเปิดตัวอีก 4-5 ตัว รวมถึงบริการอีก 2 ตัว ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อคนจีน หลังจากที่ใช้งบประมาณลงทุนไปกว่า 300 ล้านหยวนก่อนหน้านี้ ดังนั้นครึ่งปีหลัง 2020 รับรองว่าสนุกแน่นอน

เป้าหมายของ KBTG คือ การสร้างให้ KBank ก้าวไปสู่การเป็น Regional Digital Bank นั่นคือ KBTG จะเป็นจุดแข็งที่สร้างความแตกต่างให้กับ KBank ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลา 5 ปี หรือถึงปี 2024 โดยใช้งบประมาณรวมๆ ประมาณ 6,000-7,000 ล้านบาท แปลว่า ธนาคารต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในทุกอุตสาหกรรม โดยได้วางแผนในการพัฒนา 4 ทิศทางหลัก

1. Innovation

นวัตกรรมเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในการเจาะเข้าสู่อุตสาหกรรมต่างๆ แปลว่า ธนาคารจะไม่ได้เป็นแค่สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อเท่านั้น แต่ต้องขยายสินค้าและบริการใหม่ๆ ด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยี เข้าไปมีส่วนร่วมในทุกๆ ธุรกิจ โดยมี 2 ส่วนสำคัญ

  • Innovation runway เป็นการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เช่น การเปิดตัว Eatable, ขุนทอง หรือ MAKE by KBank รวมถึงบริการใหม่ๆ ที่จะเปิดในปีนี้และปีต่อๆ ไป ต้องรวดเร็วและปลอดภัย
  • AI factory 

2. Regional Expansion 

KBank ตั้งเป้าหมายการเป็นผู้นำสถาบันการเงินในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นส่วนหนึ่งในตลาดจีน ดังนั้นจากนี้ไปจะเห็นการขยายธุรกิจออกไปในภูมิภาคและในจีนอย่างชัดเจน

  • จีน จัดตั้งบริษัทเทคโนโลยี KAITAI TECH ที่เมืองเซินเจิ้น ประเทศจีน ซึ่งการบุกตลาดจีนเป็นเรื่องที่โหดมาก แต่ก็มีโอกาสสูงมาก KBank ไม่ได้ต้องการชนะในตลาดจีน แต่ต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมอยู่ในนั้น คนจีนมาเที่ยวไทยมากที่สุด คนไทยอยากไปทำการค้าในจีนมากที่สุด ซึ่ง KBank ต้องเข้าไปให้บริการ
  • AEC จัดตั้ง Development Center ที่ประเทศเวียดนาม เนื่องจากเวียดนามมี Developer ที่มีความสามารถเป็นจำนวนมาก รวมถึงมีโอกาสเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ KBTG จะประกาศงบประมาณที่ลงทุนในประเทศเวียดนามภายในวันที่ 31 สิงหาคม

3. Transformation

เรืองโรจน์เล่าว่า โควิดเปลี่ยนพฤติกรรมคนจากปกติจะใช้เวลา 2 ปีเหลือ 2 เดือนเท่านั้น ดังนั้น KBTG จึงใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย หนึ่งในนั้นคือการทำงานของ KBTG มีพนักงานประจำกว่า 1,300 คนในเดือน มี.ค. ที่เกิดโควิด ทำให้ต้อง Work From Home กันทันที ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับองค์กร แต่ก็สามารถผ่านกันมาได้ด้วยดี มีประสิทธิภาพพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

ขณะที่ในอนาคตการปรับเปลี่ยนองค์กร เฟสต่อไปต้องยกระดับให้ KBank และ KBTG ก้าวขึ้นเป็นธนาคารที่มีเทคโนโลยีเหนือกว่าสถาบันการเงินอื่นๆ ในระดับภูมิภาค มีสินค้าและบริการที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ ซึ่งถือเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย

4. People

เรื่องคนเป็นเรื่องใหญ่สำหรับทุกองค์กร ที่ KBTG ปัจจุบันมีพนักงานประจำ 1,400 คน ถ้ารวมพาร์ทไทม์ และ Outsource จะมีถึง 2,500 คน ตั้งเป้าว่าภายในปีนี้จะมีพนักงานเพิ่มให้ถึง 3,000 คน รวมถึงพนักงานที่จีนอีก 300 และเวียดนามอีก 100 คนในอนาคต

เรืองโรจน์ เล่าความตั้งใจว่า อยากให้พนักงานคนไทยเติบโตไปเป็นผู้นำที่ต่างประเทศ KBTG จึงเร่งพัฒนาคนระดับ middle management ผ่านการ reskill ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะด้านภาษา เพราะเมื่อขยายสาขาไปที่ต่างประเทศแล้ว พนักงานจำเป็นต้องพูดได้หลายภาษามากขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องพูดภาษาอังกฤษให้คล่องเป็นพื้นฐาน รวมถึงต้องสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้แข็งแกร่ง โดยวัฒนธรรมองค์กรที่ KBTG ยึดมั่นคือ TAVIA ย่อมาจาก

Teamwork สามารถทำงานเป็นทีมได้

AClass ต้องเก่งในสาขาที่ตนเองทำงานอยู่ 

Value Creation สร้างคุณค่าให้กับองค์กร

Innovation ต้องมีการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ

Agility พร้อมปรับตัวตลอดเวลา

สรุป

ทิศทางของ KBTG จะเป็นอย่างไรคงต้องจับตาดูกันต่อไป เพราะภายใน 2 ปีนี้ทางบริษัทมุ่งหน้าผลิตนวัตกรรมที่ช่วยแก้ปัญหาให้คนไทยออกมาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งตั้งเป้าหมายบุกตลาดระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง รวมถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมในตลาดประเทศจีน เพื่อหาพันธมิตรและเทคโนโลยีใหม่ๆ มาต่อยอดในอนาคต

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา