ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ เศรษฐกิจตกต่ำ ไทยควรใช้มาตรการ QE หรือไม่

ความไม่นอนแน่ทางเศรษฐกิจทำให้รัฐต้องดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินและการคลังเพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น แต่อัตราดอกเบี้ยนโยบายเหลือให้ปรับลดได้อีกไม่มาก รัฐบาลไทยควรใช้มาตรการ QE เพื่อประคองเศรษฐกิจแบบประเทศอื่นหรือไม่

QE

ความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทำให้รัฐบาลในหลายประเทศรวมถึงไทยดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อประคองภาวะเศรษฐกิจในประเทศ และยังมีการประกาศใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาและอังกฤษเพื่ออัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยการลดอัตราผลตอบแทนพันธบัตรและต้นทุนทางการเงินให้ต่ำลง

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทยที่ยังคงต้องใช้เวลาอีกสักพักและเหลือพื้นที่ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกไม่มาก (ปัจจุบันคงไว้ที่ 0.5%) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า หากไทยจะต้องมองหาทางเลือกเครื่องมือทางการเงินอื่นมาช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจในปัจจุบัน มาตรการ QE ยังไม่ใช่คำตอบ เนื่องจากโครงสร้างระบบการเงินไทยเป็นแบบ Bank-based economy การดำเนินนโยบายด้านสินเชื่อน่าจะมีประสิทธิภาพมากกว่า

QE
เงินบาท ภาพจาก Shutterstock

การบังคับใช้มาตรการ QE ในไทย

ที่ผ่านมาไทยยังไม่เคยมีการใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณหรือ QE มาก่อน แต่ถ้าสถานการณ์การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจแย่ลงจนเครื่องมือนโยบายทางการเงินปัจจุบันไม่เพียงพอและต้องใช้มาตรการ QE จะต้องทำภายใต้กฎหมาย 2 ฉบับ คือ

  • พ.ร.บ. ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 ว่าด้วยกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายการเงิน และ
  • พ.ร.บ. เงินตรา พ.ศ. 2501 ว่าด้วยรายละเอียดเกี่ยวกับเงื่อนไขการพิมพ์เงิน

เนื่องจากกลไกของมาตรการ QE คือ การดำเนินนโยบายการเงินด้วยการซื้อตราสารทางการเงินและการพิมพ์เงินเพื่ออัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตามศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าการบังคับใช้มาตรการ QE ในประเทศไทยแตกต่างจากประเทศอื่นๆ เนื่องจากการพิมพ์ธนบัตรหมุนเวียนในไทยต้องมีการหนุนหลังด้วยสินทรัพย์ต่างประเทศ 100% ทำให้ต่อให้ต้องการพิมพ์เงินเพื่อซื้อตราสารทางการเงินที่มีปัญหาก็จะยังทำไม่ได้ทันทีเพราะต้องทำตามเงื่อนไขการพิมพ์เงินใน พ.ร.บ. เงินตรา พ.ศ. 2501 และต้องคำนึงถึงความเชื่อมั่น เสถียรภาพของค่าเงินบาท และความน่าเชื่อถือของธปท.หลังมีการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบทุนสำรองเงินตราด้วย

Bangkok Face Mask 2020 กรุงเทพ คนใส่หน้ากาก
ภาพจาก Shutterstock

โครงสร้างระบบการเงินไทยไม่ช่วยรายย่อย

มาตรการ QE เป็นเครื่องมิอที่ช่วยเพิ่มสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและลดต้นทุนการกู้เงินผ่านตลาดตราสารนี้ให้อยู่ในระดับต่ำ ทำให้การดำเนินมาตรการนี้ได้ผลลัพธ์ต่างกันตามโครงสร้างของระบบการเงิน ซึ่งประเทศที่มีตลาดตราสารหนี้ขนาดใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และญี่ปุ่นที่ตลาดตราสารหนี้มีสัดส่วนสูงกว่า 2 เท่าของขนาดเศรษฐกิจ การใช้มาตรการ QE จะส่งผลดีมากกว่าและถูกพิจารณาเป็นเครื่องหลักในการรับมือวิกฤต

ขณะที่ไทยมีลักษณะเป็น Bank-based economy ที่ตลาดสินเชื่อมีบทบาทหลักในกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ผู้ประกอบการในประเทศโดยเฉพาะ SMEs มีการพึ่งพาการกู้ยืมจากสถาบันทางการเงินเป็นแหล่งเงินทุนหลัก ทำให้การออกมาตรการ QE ในไทยที่ถึงแม้จะช่วยลดต้นทุนการกู้ยืมในตลาดการเงินให้ต่ำลงได้ก็ไม่ได้ส่งผลโดยตรงต่อการปล่อยเงินกู้ของสถาบันการเงินกับลูกค้าหรือผู้ประกอบการรายย่อย

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การที่ประเทศมีลักษณะเป็น Bank-based economy ที่มีการพึ่งพาสินเชื่อเป็นหลัก การใช้มาตรการช่วยเหลือด้านสภาพคล่องและมาตรการด้านสินเชื่อ เช่น การค้ำประกันสินเชื่อ บสย. การปล่อยกู้ผ่านโครงการสินเชื่อพิเศษของรัฐและสถาบันการเงินน่าจะมีประสิทธิภาพและมีความเหมาะสมมากกว่าสำหรับบริบทและโครงสร้างระบบการเงินไทย

QE 2
ภาพจาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

สรุป

การบังคับใช้มาตรการ QE ในไทยต้องพิจารณาการดำเนินนโยบายตามเงื่อนไข พ.ร.บ. ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 และ พ.ร.บ. เงินตรา พ.ศ. 2501 ทำให้แม้จะทำมาตรการ QE ก็ไม่สามารถพิมพ์เงินออกมาได้ทันที และรูปแบบโครงสร้างระบบการเงินไทยเป็นแบบ Bank-based economy ที่พึ่งพาสินเชื่อเป็นหลัก การดำเนินนโยบายช่วยเหลือด้านสภาพคล่องและสินเชื่อจะมีประสิทธิภาพและตอบโจทย์กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยมากกว่า

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการ QE:

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา