KBANK กับทิศทางธุรกิจที่ยั่งยืน พร้อมคาดการณ์สภาพเศรษฐกิจ ปี 2560 อุตสาหกรรมไหนมาแรง

ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK ได้เปิดเผย 2 เรื่องใหญ่ นั่นคือ แผนด้าน digital banking ซึ่ง Brand Inside ได้นำเสนอไปแล้ว (อ่านได้ที่นี่)

อีกเรื่องหนึ่งที่ใหญ่ไม่แพ้กันคือ ทิศทางธุรกิจในปี 2560 ของ KBANK พร้อมกับคาดการณ์สภาพเศรษฐกิจ และมองว่าอุตสาหกรรมไหนในประเทศไทยที่จะมาแรงจนน่าจับตามอง ซึ่งให้ข้อมูลโดย ขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ของ KBANK เป็นอีกเรื่องที่นักธุรกิจต้องติดตาม

kbank-bus-1

รักษาอันดับ 1 และการเติบโต ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็เป็นไปได้

ขัตติยา บอกว่า ความท้าทายของ KBANK คือการรักษาความเป็นอันดับ 1 ในด้าน digital banking และต้องสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรม การมีฐานลูกค้า 5 ล้านรายคิดเป็นส่วนแบ่ง 50% ของตลาด และมีเป้าหมายเพิ่มเป็น 7 ล้านรายในปีหน้า ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็มีความเป็นไปได้

สิ่งที่เป็นความท้าทาย คือ การเตรียมความพร้อมรับกฎระเบียบที่เปลี่ยนแปลง เช่น

  • มาตรฐานทางบัญชี, แผน National e-Payment
  • พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป มีทางเลือกมากขึ้น มีผู้สูงวัยมากขึ้น และมีเจ้าของกิจการมากขึ้น
  • มีผู้เล่นใหม่เข้ามาในตลาด ทั้งกลุ่ม Bank และ Non-Bank ได้แก่ FinTech ที่มีบทบาทมาก
  • การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว เช่น Blockchain

สิ่งที่ KBANK จะมุ่งเน้นเพื่อสร้างการเติบโตในด้าน digital banking มี 3 ส่วนคือ การทำ Operational Excellent หรือ การพัฒนาระบบการทำงานภายใน ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดต้นทุน สร้างความคุ้มค่าให้มากที่สุดท่ามกลางกฎระเบียบที่เปลี่ยนแปลง, Customer Experience สร้างประสบการณ์และบริการที่ดีขึ้นให้กับลูกค้า ด้วยการร่วมมือกับพันธมิตร และ Digital Enabler สร้างบริการใหม่ด้วยพลังของการเป็น digital banking

kbank-bus-3

เร่งเครื่องธุรกิจ เติบโตทุกกลุ่มลูกค้า

ขัตติยา บอกว่า ทิศทางธุรกิจกลุ่มลูกค้าบุคคล ธนาคารจะมุ่งสู่การเป็นธนาคารเพื่อลูกค้ารายย่อยที่ได้มาตรฐานระดับโลก (World Best-in-Class Retail Bank) และยกระดับคุณภาพการเป็นที่ปรึกษาและการบริการผ่านสาขาเทียบเท่ามาตรฐานโลก (Best Experience & Advisory at Branch) นำเสนอนวัตกรรมบริการทางการเงินแบบดิจิทัลเต็มรูปแบบ พร้อมตั้งเป้าหมายสินเชื่อเติบโต 5-7% และมีฐานลูกค้าบุคคลเพิ่มเป็น 14.1 ล้านราย เติบโต 5-6%

ขณะที่ ธุรกิจกลุ่มธุรกิจลูกค้าผู้ประกอบการ (SME) ธนาคารตั้งเป้าหมายรักษาความเป็นผู้นำและการเป็นธนาคารหลักของกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอี สนับสนุนให้ผู้ประกอบการเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการดูแลเครือข่ายธุรกิจของลูกค้า (Value Chain) ช่วยให้ลูกค้าใหม่ที่มีศักยภาพเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น นำเสนอผลิตภัณฑ์นวัตกรรมด้านดิจิทัลที่ทันสมัยสำหรับลูกค้า โดยตั้งเป้าสินเชื่อเติบโต 4-6%  เน้นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเติบโตของประเทศเพื่อนบ้านและการค้าชายแดน อาทิ ก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง ฮาร์ดแวร์

ส่วนทิศทางธุรกิจกลุ่มลูกค้าบรรษัท มุ่งเน้นการเป็นผู้นำในการให้บริการด้านการระดมทุนที่หลากหลาย  (Best Funding Solution) ทั้งการออกตราสาร กอง REITs การควบรวมกิจการ (M&A) เพื่อให้ลูกค้าได้ต้นทุนที่ดีที่สุด และเป็นผู้นำในบริการธุรกรรมครบวงจร (Best Transaction Banking Provider) รองรับการทำธุรกรรมจำนวนมากที่ครอบคลุมสกุลเงินในกลุ่ม AEC+3 และสกุลเงินหลักทั่วโลก ตั้งเป้าหมายสินเชื่อเติบโต 4-6%

15233591_10153896581331020_385123736_o
ขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ของ KBANK

ยกระดับเป็นธนาคารระดับภูมิภาค

ทิศทางธุรกิจข้ามประเทศ มุ่งสู่การเป็นธนาคารเพื่อการรับชำระเงินและการลงทุนแห่งภูมิภาค (Regional Settlement and Investment) ด้วยการวางโครงสร้างพื้นฐานรองรับการโอนเงินและชำระเงินข้ามประเทศด้วยสกุลเงินท้องถิ่นในภูมิภาคอาเซียน การสนับสนุนลูกค้าธุรกิจไทยที่ต้องการเข้าไปลงทุนใน CLMVI การจัดตั้งศูนย์ธุรกิจการค้าชายแดน เพื่อสนับสนุนการทำการค้าชายแดน (Border Trade) สนับสนุนการระดมทุนเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งโรงไฟฟ้า ถนน และท่าเรือในกลุ่มประเทศ CLMV รวมทั้งการควบรวมกิจการ โดยเฉพาะในกลุ่มบริษัทไทยและญี่ปุ่น

ทั้งนี้ ในปี 2560 ธนาคารกสิกรไทยยังคงเดินหน้าขยายเครือข่ายในต่างประเทศ ได้แก่ การยกระดับเป็นธนาคารท้องถิ่นในประเทศจีน การเพิ่มสาขาแห่งที่ 2 ของธนาคารท้องถิ่นในสปป.ลาว การเพิ่มปริมาณธุรกิจของสาขากรุงพนมเปญ และหาแนวทางเปิดสาขาในประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย และเมียนมา ภายในปี 2561

kbank-bus-4

4 ธุรกิจมาแรง ก่อสร้าง – ยานยนต์ – บริการสุขภาพ – ท่องเที่ยว

ในภาพรวมเศรษฐกิจไทย คาดว่าธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตได้ในปี 2560 คือ ธุรกิจก่อสร้าง จากบรรยากาศการลงทุนที่ค่อย ๆ ฟื้นตัว และโครงการของรัฐ ธุรกิจยานยนต์ จากการที่โครงการรถคันแรกทยอยสิ้นสุดลง น่าจะเป็นผลดีต่อยอดขายในประเทศ ขณะที่การส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนมีโอกาสฟื้นตัวโดยเฉพาะตลาดอาเซียนและออสเตรเลีย ธุรกิจบริการสุขภาพ ได้รับอานิสงส์จากกลุ่มลูกค้า Medical Tourism ซึ่งไทยมีความได้เปรียบหลายประเทศในภูมิภาค และธุรกิจท่องเที่ยวที่บางตลาดมีแนวโน้มดีขึ้น อาทิ รัสเซีย และสแกนดิเนเวีย

กล่าวได้ว่าใน 4 ธุรกิจนี้ มาแรงน่าจับตามอง แต่ธุรกิจอื่นๆ ก็ยังมีโอกาสอยู่ไม่น้อยเช่นกัน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา