เปิดแผนธุรกิจ KBANK การเป็น Digital Banking อันดับ 1 และแนวการพัฒนาที่ Startup ต้องรู้

ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK ได้เปิดเผยแผนธุรกิจในการเป็น Digital Banking อันดับ 1 ของไทยได้อย่างน่าสนใจ มีหลายส่วนที่เป็นเรื่องใหม่ ยังไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน และมีอีกหลายส่วนที่เป็นการต่อยอด ตอกย้ำภาพความร่วมมือกับพันธมิตรในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ

แม่ทัพที่นำทีมมาเปิดเผยข้อมูลคือ ธีรนันท์ ศรีหงส์ กรรมการผู้จัดการ ของ KBANK ซึ่ง คนในวงการการเงินการธนาคารทั้งหมด ต้องให้ความสนใจและห้ามพลาดเป็นอย่างยิ่ง

15233769_10153896581936020_1708562079_o

เตรียมเปิดตัวบริษัท VC ดูแลการลงทุนเทคโนโลยี

ธีรนันท์ บอกว่า KBANK ได้เตรียมงบประมาณกว่า 5,000 ล้านบาท สำหรับการลงทุนด้านไอทีทั้งหมด โดยแบ่งเป็น 4,000 ล้านบาท สำหรับการลงทุนด้านไอทีทั่วไป ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับธนาคารอยู่แล้ว เพื่อการพัฒนาบริการต่างๆ ระบบความปลอดภัย และอีก 1,000 ล้านบาท จะเป็นงบสำหรับลงทุนในด้าน Startup ซึ่ง KBANK ได้ดำเนินการจัดตั้งบริษัท Venture Capital แล้ว อยู่ระหว่างรอการอนุมัติจากธนาคารแห่งประเทศไทย คาดว่าจะเรียบร้อยในปี 2560

สำหรับการลงทุนด้าน Startup จะแบ่งเป็น การลงทุนโดยตรง นั่นคือ การเข้าไปลงทุน (direct investment) ใน Startup เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมบริการใหม่ๆ ทั้งในไทย, อาเซียน และจีน ซึ่งถือเป็นตลาดหลักของ KBANK และเป็นส่วนหนึ่งในแผนที่จะทำให้ KBANK ก้าวขึ้นเป็นธนาคารระดับภูมิภาค นอกจากนี้ยังมีการลงทุนผ่านกองทุน (fund of fund) ต่างๆ เพื่อให้ KBANK ได้เรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีต่างๆ ผ่านกองทุนที่มีความเชี่ยวชาญทั่วโลก

กลุ่มธุรกิจเป้าหมายลงทุน ไม่ได้จำกัดเพียง FinTech เท่านั้น แต่ยังรวมถึงธุรกิจด้านอื่นๆ ที่น่าสนใจและมีความเกี่ยวข้องกับธนาคาร เช่น Customer Engagement & Experience, AI & Machine Learning, Big Data & Analytics และ Enterprise IT, Infrastructure & Security

kbank-startup-1

รักษาความเป็นอันดับ 1 Digital Banking

KBANK มีฐานบัญชีผู้ใช้ผ่านช่องทาง digital กว่า 5 ล้านราย โดย 80% เป็นผู้ที่ใช้งานเป็นประจำ และตั้งเป้าจะเพิ่มฐานผู้ใช้เป็น 7 ล้านรายในปี 2560 ซึ่งเมื่อดูจากอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และการใช้งานสมาร์ทโฟนในไทย ก็มีความเป็นไปได้ ยิ่งดูการใช้งานในปัจจุบัน จากเดิมสัดส่วนการใช้ผ่าน digital มีประมาณ 40% ในปี 2557 และเพิ่มเป็น 65% ในปี 2559 แสดงว่าการเติบโตเพิ่มขึ้นสูงมาก ขณะที่การใช้งานผ่านช่องทางอื่นๆ (ที่ไม่ใช่ digital) มีสัดส่วน 35% คือ การใช้งานไม่ได้ลดลง แต่ digital มีการเติบโตสูงมาก

และเพื่อรักษาการเติบโตและการเป็นผู้นำ Digital Banking ในปี 2560 จะมีบริการใหม่ๆ ทยอยออกมาให้ใช้ตลอดทั้งปี ทั้งที่ KBANK พัฒนาเอง และที่พัฒนาร่วมกับพันธมิตร โดยมีเทคโนโลยีเด่นๆ 5 ส่วน ที่ถือเป็นเรื่องใหม่ และ KBANK โฟกัสเป็นพิเศษ คือ

  1. Blockchain
  2. World Class Design
  3. Mobile Banking and Payment
  4. Bank & FinTech Open API
  5. Big Data Analytics & Machine Learning

และมีอีก 3 ส่วนที่โฟกัสรองลงมา คือ e-KYC , Internet of Things และ Cyber Security ซึ่งทุกส่วนก็การพัฒนาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว

ธีรนันท์ บอกว่า บริการใหม่ที่น่าจะได้เห็นตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2560 เช่น OriginCert ใช้เทคโนโลยี Blockchain ซึ่งเป็นความร่วมมือกับ IBM โดยจะเริ่มต้นใช้กับการออก Letter of Guarantee เพื่อยืนยันความถูกต้องของเอกสาร

15304034_10153896581191020_2007743406_o

จับมือพันธมิตรเพื่อสร้างนวัตกรรม และการเติบโต

แนวทางหนึ่งที่ชัดเจนของ KBANK นอกจากการพัฒนานวัตกรรม ด้วยตัวเองแล้ว อีกส่วนที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อสร้างนวัตกรรมที่เป็นบริการใหม่ๆ ซึ่งได้เริ่มต้นไปแล้วด้วยการเปิด Open API เพื่อให้พันธมิตร Startup และ FinTech สามารถเข้าถึงข้อมูลและฟังก์ชั่นของธนาคาร และยังเชื่อมต่อกับลูกค้าของธนาคาร เพื่อให้สามารถนำไปประโยชน์ได้โดยสะดวก

“ธนาคารไม่เคยเปิด API นอกอุตสาหกรรมมาก่อน นี่จึงถือเป็นการเปิด API ข้ามอุตสาหกรรมเป็นครั้งแรก และไม่ได้จำกัดเฉพาะ FinTech เท่านั้น เพราะ Startup ทุกประเภท ต้องมีเรื่องธุรกรรมการเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง สามารถเข้ามาพัฒนาร่วมกัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าที่ใช้บริการ”

สิ่งที่ Startup จะได้รับคือ องค์ความรู้, เครื่องมือ และข้อมูลต่างๆ ทำให้ Startup สามารถลดต้นทุนไปได้มหาศาล ขณะที่ธนาคารจะได้รับบริการใหม่ๆ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ใช้บริการ ดังนั้น Startup ทุกราย สามารถเข้ามาหารือกับ KBANK ในฐานะพันธมิตรได้ ซึ่งอาจเป็นได้ทั้ง Technology Collaboration และ Business Collaboration

ตัวอย่างหนึ่งที่เพิ่งเปิดตัวไปล่าสุด และเตรียมเปิดให้บริการช่วงไตรมาส 1 ปี 2560 คือ Beacon Interface ซึ่งเป็น FinTech ของไทย เป็นการพัฒนาแอปเพื่อให้ผู้บกพร่องทางการมองเห็นสามารถทำธุรกรรมผ่านช่องทางธนาคารบนมือถือได้

kbank-startup-2

สรุป

ทั้งการจัดตั้งบริษัท VC ขึ้นมาเพื่อดูแลการลงทุนใน Startup และการเดินกลยุทธ์จับมือพันธมิตรสร้างนวัตกรรมบริการใหม่ๆ ถือเป็นย่างก้าวที่สำคัญของ KBANK ในการตอกย้ำความเป็นผู้นำด้าน digital banking แต่ก็ต้องยอมรับว่า บนเส้นทางเทคโนโลยีของธนาคาร นี่คือจุดเริ่มต้นเท่านั้น แต่ก็ทำให้ Startup ทั้งหลายเห็นแนวโน้มชัดเจนมากขึ้นว่า ธนาคารใหญ่ เตรียมแผนธุรกิจด้านนี้ไว้อย่างไร

อ่านเรื่องทิศทางธุรกิจที่ยั่งยืนและ การคาดการณ์เศรษฐกิจของ KBANK โดย ขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ของ KBANK ได้ที่นี่

kbank-startup-3

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา