สองยักษ์ใหญ่จับมือกันอีกแล้ว ล่าสุด KBank หรือ บมจ. ธนาคารกสิกรไทยลงนามข้อตกลงร่วมมือจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับบริษัทในกลุ่มธุรกิจคาราบาว โดยกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารจะถือหุ้นมากกว่า 50% และมีอำนาจควบคุมในบริษัทร่วมทุนดังกล่าว
ทั้งนี้ รายละเอียดในการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนและการร่วมลงทุนกับบริษัทในกลุ่มธุรกิจคาราบาว ระบุว่า การร่วมทุนจัดตั้งบริษัทนี้ ผ่านการอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการธนาคารเมื่อ 27 มกราคม 2565 และธนาคารแห่งประเทศไทยได้อนุญาตให้จัดตั้งบริษัทร่วมทุนเมื่อ 27 พฤษภาคม 2565 และให้เป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารกสิกรไทย โดยรายละเอียดร่วมทุน ดังนี้
- ประเภทธุรกิจ: ธุรกิจบริการทางการเงิน
- วัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง: เพื่อให้บริการทางการเงินแก่ผู้บริโภครายย่อยและร้านค้าของบริษัทในกลุ่มธุรกิจคาราบาว ซึ่งจะช่วยพัฒนาบริการทางการเงินให้คนในชุมชนได้เข้าถึงและได้รับบริการทางการเงินที่ครบวงจร รวมทั้งช่วยสนับสนุนธุรกิจค้าปลีกและขับเคลื่อนเศรษฐกิจในชุมชนทั่วไทย
นอกจากตั้งบริษัทร่วมทุนแล้ว กลุ่มธุรกิจการเงินของธนาคารอยู่ระหว่างเตรียมร่วมลงทุนกับบริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด เป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจคาราบาวเช่นกัน เพื่อพัฒนาร้านค้าปลีก “ถูกดี มีมาตรฐาน” ซึ่งการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน การร่วมลงทุนกับบริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด และการสนับนุนทางการเงินทั้งหมดให้แก่กลุ่มธุรกิจคาราบาวจะมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 1.5 หมื่นล้านบาท
KBank จับมือกับบริษัทในกลุ่มธุรกิจคาราบาว เดินหน้าพัฒนาร้านสะดวกซื้อชุมชน “ถูกดี มีมาตรฐาน” โดยการลงทุนนี้ครอบคลุมการร่วมลงทุนผ่านตราสารการลงทุนที่ให้สิทธิลงทุนในหุ้นของบริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด และเตรียมลงนามในสัญญาร่วมทุนจัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อให้บริการสินเชื่อเต็มรูปแบบ ตั้งเป้าร้านถูกดี มีมาตรฐานเป็นผู้นำธุรกิจร้านสะดวกซื้อชุมชนในไทย ให้บริการการเงินและสินเชื่อครบวงจร มีจำนวน 30,000 ร้าน ภายในปี 2567
พัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ระบุว่า ชุมชนนอกตัวเมืองในจังหวัดต่างๆ เป็นพื้นที่ที่ลูกค้าต้องการใช้บริการการเงิน บ้างไม่มีบัญชีเงินฝาก ไม่มีหลักฐานทางการเงินที่ทำให้เข้าถึงแหล่งทุนได้ หรือเป็นพื้นที่ที่สาขาธนาคารยังเข้าไม่ถึง การ่วมทุนกับบริษัทในกลุ่มธุรกิจ คาราบาว เป็นยุทธศาสตร์ของธนาคารที่ตั้งใจพัฒนาร้านถูกดี มีมาตรฐานให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของชุมชน ให้คนที่อยู่ในวงจรสามารถจับจ่ายใช้สอยและใช้บริการการเงินได้สะดวกยิ่งขึ้น เข้าถึงสินเชื่อธนาคารง่ายขึ้น สร้างรายได้หมุนเวียนขับเคลื่อนเศรษฐกิจในชุมชน
แผนที่จะดำเนินการร่วมกับกลุ่มธุรกิจคาราบาวประกอบด้วย 3 ด้าน
- ส่งเสริมศักยภาพร้าน ถูกดี มีมาตรฐาน ใช้เทคโนโลยีบริหารจัดการและระบบการชำระเงิน
- เป็นแหล่งเงินทุนสำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและค้าขายต่างๆ คือการนำข้อมูลการจับจ่ายใช้สอยมาพิจารณาสินเชื่อสำหรับลูกค้าที่ไม่มีหลักฐานแสดงรายได้ประจำ
- เป็นจุดให้บริการธุรกรรมทางการเงินในชีวิตประจำวันกับคนในชุมชน
ความร่วมมือดังกล่าว จะทำให้ธนาคารมีจุดบริการ KBank Service เพิ่มขึ้นอีก 30,000 จุด เดิมมีจำนวนกว่า 27,000 จุด ปัจจุบันมีช่องทางให้บริการผ่านสาขาจำนวน 830 สาขา ตู้เอทีเอ็มและตู้ฝากถอนเงินอัตโนมัติรวม 11,000 ตู้และ K PLUS ที่มีลูกค้าใช้งานกว่า 18 ล้านราย
มูลค่าการลงทุนกว่า 15,000 ล้านบาท ทำอะไรบ้าง?
- ร่วมลงทุนผ่านตราสารการลงทุนที่ให้สิทธิลงทุนในหุ้นของบริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด จำนวน 5,000 ล้านบาท
- เตรียมลงนามในสัญญาร่วมทุนจัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อให้บริการสินเชื่อเต็มรูปแบบ จำนวน 2,000 ล้านบาท
- สนับสนุนทางการเงินแก่บริษัทในกลุ่มธุรกิจคาราบาว จำนวน 8,000 ล้านบาท
เสถียร เศรษฐสิทธิ์ ประธานกรรมการ บริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด ระบุ การร่วมมือระหว่าง KBank กับร้านถูกดี มีมาตรฐาน จะช่วยเสริมกำลังซื้อให้กับชุมชน ยุทธศาสตร์ของบริษัทในการพัฒนาร้านไม่ใช่แค่ปรับร้านโชห่วยให้ทันสมัย แต่วางเป้าให้เป็นเหมือนแพลตฟอร์มและโครงข่ายเชื่อมโยงความต้องการของคนในชุมชนที่เคยเข้าถึงยาก ทั้งบริการทางการเงิน จุดรับส่งสินค้าในชุมชน บริการสินค้าทางการเกษตร ฯลฯ ตั้งใจให้ร้านถูกดี มีมาตรฐานเป็นโซลูชั่นตอบโจทย์แก่คนในชุมชน โดยยึดแนวคิด “กินแบ่ง ไม่กินรวบ” ปัจจุบันมีร้านแล้วกว่า 5,000 แห่งทั่วประเทศ
ด้านบริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG ก็แจ้งมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 3/22565 เมื่อ 21 กรกฎาคม 2565 โดยสาระสำคัญสรุปว่า บริษัท ซี.เจ.เอ็กเพรส จำกัด (CJ) และบริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด (TD) สองบริษัทนี้อาจมีความขัดแย้ง คือมีผู้ถือหุ้นหรือกรรมการหรือผู้บริหารร่วมกันจัดตั้งบริษัทร่วมทุนแห่งใหม่ คือ บริษัท ทีดี เวนเจอร์ จำกัด (TDV) เพื่อประกอบธุรกิจการลงทุนหรือถือหุ้นในบริษัทอื่น
โดยเห็นชอบให้ TDV ทำสัญญาร่วมทุนร่วมกับบริษัท กสิกร วิชั่น จำกัด (KVISION) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ถือหุ้นโดยธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK) 100% ในการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนแห่งใหม่ คือ บริษัท กสิกร คาราบาว จำกัด (KBAO) เพื่อประกอบธุรกิจตามแผนที่วางไว้
มติที่อนุมัติดังนี้
- อนุมัติลงทุนร่วมกับ CJ และ TD จัดตั้ง TDV ด้วยทุนจดทะเบียนรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 2,000 ล้านบาท มูลค่าตราไว้หุ้นละ 100 บาท เพื่อประกอบธุรกิจการลงทุนถือหุ้นในบริษัทอื่น สัดส่วนการถือหุ้น 15% หรือคิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนไม่เกิน 300 ล้านบาท โดย CJ และ TD มีสัดส่วนถือหุ้น 15% และ 70% ตามลำดับ
- เห็นชอบให้ TVD เข้าทำสัญญาร่วมทุนกับ KVISION จัดตั้ง KBAO ด้วยทุนจดทะเบียนไม่เกิน 4,000 ล้านบาท มูลค่าตราไว้ที่หุ้นละ 100 บาท เพื่อประกอบธุรกิจตามที่วัตถุประสงค์ที่ลงทุนไว้ โดย KVISION ถือครองหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วมากกว่า 2 หุ้นในบริษัทดังกล่าว
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา