โควิด-19 ระบาดยาวนาน ส่งผลให้การแข่งขันธุรกิจจัดส่งอาหาร (Food Delivery) รุนแรงมากขึ้น กอรปกับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโรคของรัฐไปจนถึงการจำกัดการให้บริการของร้านอาหารเหลือเพียงการสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันจัดส่งอาหาร ส่งผลกระทบต่อรายได้ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหาร ที่คาดว่ามูลค่ารวมของรายได้ธุรกิจร้านอาหารทั้งปี 2564 หายไปไม่ต่ำกว่า 6 หมื่นล้านบาท ผลักดันให้ธุรกิจจัดส่งอาหารกลายเป็นช่องทางสร้างรายได้หลักของผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร
Disclaimer: Brand Inside เป็นบริษัทในเครือ LINE MAN Wongnai
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าทั้งปี 2564 ปริมาณการสั่งอาหารจัดส่งที่บ้านน่าจะมีจำนวนไม่น้อยกว่า 120 ล้านครั้งหรือเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิดระบาดในปี 2562 ที่มีจำนวนราว 35-45 ล้านครั้ง วิถีการใช้ชีวิตท่ามกลางโรคระบาดส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคในการใช้บริการจัดส่งอาหารไปยังที่พัก ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสรุปการเปลี่ยนแปลงเทรนด์พฤติกรรมของผู้บริโภค ดังนี้
ระดับราคาเฉลี่ยต่อครั้งที่สั่งลดลง 20-25% จากปีก่อน จากปีก่อนจากปัจจัยด้านกำลังซื้อและการอัดโปรโมชั่นของผู้ประกอบการ ผู้บริโภคหันมาสั่งอาหารในระดับราคาที่สอดคล้องกับกำลังซื้อ
ร้านอาหารข้างทาง (Street Food) มีบทบาทมากขึ้นและคาดว่าจะมีส่วนแบ่งรายได้มากกว่า 40% ของมูลค่ารวมของธุรกิจจัดส่งอาหารจากเดิมในปี 2563 อยู่ที่ 29% เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงประเภทอาหารของผู้บริโภคมายังเมนูอาหารที่มีราคาย่อมเยา
พื้นที่การส่งอาหารขยายสู่บริเวณกรุงเทพฯ รอบนอกและพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพฯ – ปริมณฑลมากขึ้น ผลสำรวจของศูนย์วิจัยฯ พบว่า หลังการระบาดเดือนเมษายน 2564 พนักงานในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลที่ทำงานทั้งสองรูปแบบคือ Work from home และ Hybrid working มีสัดส่วนรวมกันสูงถึง 83% โดยผู้บริโภคหันมาสั่งอาหารบริเวณใกล้ที่พักมากขึ้น
ปัจจัยและสภาพแวดล้อมธุรกิจที่เปลี่ยนไป ทำให้คาดการณ์ได้ว่า ธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังที่พัก (Food Delivery) ปี 2564 จะมีมูลค่ารวมสูงถึง 5.31-5.58 หมื่นล้านบาท หรือขยายตัวสูงถึง 18.4%-24.4% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ถึงแม้รายได้จะเติบโตแต่การจะพลิกกลับมาสร้างผลประกอบการให้เป็นบวกสุทธิของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มธุรกิจ Food Delivery ที่แข่งขันกันอย่างดุเดือด ก็เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย
ที่มา – ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา