เปิดศึกวงการ Food Delivery ไทย: การแข่งขันที่ไม่ใช่แค่โปรโมชั่นส่งฟรี

นาทีนี้ หนึ่งในธุรกิจที่น่าจับตามองอย่างใกล้ชิด คือ Food Delivery หลังจากสถานการณ์โควิดที่ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคหันมาสั่งอาหารกลับไปกินที่บ้านมากขึ้น และล่าสุด การควบรวมกันของ LINE MAN Wongnai และ การประกาศรีแบรนด์ใหม่ของ GET เป็น Gojek บอกเลยว่าธุรกิจนี้ไม่ธรรมดาแน่ๆ

Disclaimer: Brand Inside เป็นบริษัทในเครือ LINE MAN Wongnai

จากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ปริมาณการสั่งอาหารผ่านบริการ Food Delivery เติบโตกว่า 150% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยคาดว่าปี 2563 นี้ จะมีการจัดส่งอาหารผ่านบริการ Food Delivery รวมทั้งสิ้น 66-68 ล้านครั้ง เติบโตขึ้นจากปีก่อน 78-84%

ในวงการ Food Delivery ของประเทศไทย มีผู้เล่นใหญ่ๆ อยู่ 4 เจ้าสำคัญ ได้แก่ LINE MAN Wongnai, Grab, Food Panda และ Gojek รวมถึง Robinhood แพลตฟอร์มทางเลือกน้องใหม่ ที่กำลังจะเข้ามาแข่งขันด้วยในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้านี้

ภาพจาก lineman.line.me

LINE MAN Wongnai

ก่อนหน้านี้ไม่นาน LINE MAN เพิ่งจะประกาศควบรวมกิจการกับ Wongnai กลายเป็น LINE MAN Wongnai โดยได้รับเงินลงทุนประมาณ 3,300 ล้านบาท ให้บริการในพื้นที่ 13 จังหวัด และกำลังขยายเป็น 20 จังหวัดในอนาคต

ก่อนหน้านี้ LINE MAN ได้รับความสนใจเนื่องจากเป็นบริษัทในเครือของ LINE แต่ก็ขาดความต่อเนื่องในการทำการตลาด การเพิ่มจำนวนคนขับ การขยายเมืองให้บริการ เมื่อเทียบกับคู่แข่งในตลาดรายอื่นๆ ดังนั้นจุดสำคัญที่หลายคนจับตามองคือ หลังการควบรวมเป็น LINE MAN Wongnai จะสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรให้เกิดขึ้นบ้าง การมีผู้บริหารอย่าง “ยอด ชินสุภัคกุล” เป็นหัวเรือใหญ่ที่ชัดเจนจะส่งผลอย่างไร

จุดเด่นของ Food Delivery ของ LINE MAN Wongnai

  • มีร้านอาหารให้เลือกกว่า 100,000 ร้าน โดยได้ข้อมูลร้านอาหารจากแอปพลิเคชัน Wongnai ที่มีจุดเด่นเรื่องการรวบรวมรีวิวร้านอาหารจากผู้ใช้งานในไทย รวมถึงสามารถกดสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชัน Wongnai ได้เลย
  • ค่าส่งถูก 3 กิโลเมตรแรกส่งฟรี (สำหรับร้านที่ร่วมเป็น Partner)
  • สั่งอาหารจากร้านที่อยู่ไกลๆ เกิน 10 กิโลเมตรได้ ไม่จำกัดระยะทาง
  • เชื่อมต่อกับ Rabbit LINE Pay ที่คนกรุงเทพฯ นิยมใช้งานกันอยู่แล้ว จ่ายเงินสะดวก
Grab ภาพจาก grab.com/sg

GrabFood

Grab เป็นหนึ่งในบริษัทสตาร์ทอัพที่มีขนาดใหญ่ที่สุดบริษัทหนึ่งในสิงคโปร์ เรียกได้ว่าเป็น ยูนิคอร์น ด้วยมูลค่ากว่า 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 4.4 แสนล้านบาท โดยเริ่มให้บริการในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2013 ปัจจุบันกล่าวได้ว่า Grab เป็นผู้นำในตลาด Food Delivery ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ซึ่งนอกจากบริการ Food Delivery ทาง Grab ก็ยังมีบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการขนส่งให้บริการอยู่ด้วย

เดิมในประเทศไทย Grab มีคู่แข่งสำคัญคือ Uber ก่อนที่ Grab จะควบรวม Uber (ซึ่งมีบริการ Ubereat) ทำให้ลดทอนการแข่งขันในตลาดลงไปอยู่ระยะเวลาหนึ่ง

จุดเด่น Food Delivery ของ GrabFood

  • มี Partner ที่เป็นผู้ขับ 100,000 คน ทั่วประเทศ
  • มีช่องทางการชำระเงินที่หลากหลาย ทุกร้านอาหารบน GrabFood ชำระเงินผ่าน บัตรเครดิต เดบิต และ GrabPay ได้
  • มีส่วนโปรโมชันเป็น Code ส่วนลด ร่วมกับบัตรเครดิต ธนาคาร หรือเครือข่ายโทรศัพท์ต่างๆ
  • ค่าบริการจัดส่ง 10 บาท ในระยะทาง 5 กิโลเมตรแรก
ภาพจาก foodpanda.co.th

Foodpanda

Foodpanda เป็นบริษัทในเครือของ Delivery Hero มีจุดเริ่มต้นจากประเทศเยอรมนี ให้บริการใน 50 ประเทศทั่วโลก ส่วนในประเทศไทย Foodpanda เริ่มให้บริการตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา ปัจจุบันในเขตกรุงเทพ จะเห็น Foodpanda อยู่บ้างทั่วไป แต่ถ้าไปตามหัวเมืองในต่างจังหวัด เช่น เชียงใหม่ Foodpanda คือผู้ให้บริการหลัก แสดงว่ากลยุทธ์ธุรกิจของ Foodpanda คือ ป่าล้อมเมือง เน้นตลาดต่างจังหวัดมากกว่า

จุดเด่น Food Delivery ของ Foodpanda

  • มีพื้นที่การให้บริการครอบคลุมพื้นที่ต่างจังหวัดมากที่สุด กว่า 62 จังหวัด ในทุกๆ ภูมิภาค
  • จัดโปรโมชันส่งฟรี หรือค่าส่ง 40 บาท ราคาเดียว
ภาพจาก gojek.com/th

Gojek

Gojek เป็นยูนิคอร์นจากประเทศอินโดนีเซีย เป็นซูเปอร์แอป ที่มีแทบทุกบริการอยู่ในนั้น ช่วงแรกที่เข้ามาไทยใช้แบรนด์ Get ตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2562 ก่อนจะรีแบรนด์ใหม่กลับมาเป็น Gojek ส่วนหนึ่งน่าจะทำให้การทำตลาดภายใต้แบรนด์ Gojek กับกลุ่มประเทศใกล้เคียง คือ อินโดนีเซีย, สิงคโปร์ และ เวียดนาม มีพลังและความชัดเจนมากขึ้น ไม่ต้องแยกแบรนด์ให้วุ่นวาย

น่าจับตามองว่า เมื่อใช้ชื่อ Gojek แล้ว จะมีการบุกตลาดที่รุนแรงและน่าสนใจขึ้นมากน้อยแค่ไหน

จุดเด่น Food Delivery ของ Gojek

  • Get เดิม ที่มีผู้ใช้งานสั่งอาหารกว่าหนึ่งล้านครั้ง ในระยะเวลาหลังเริ่มให้บริการเพียงปีกว่าๆ
  • ค่าบริการจัดส่ง 10 บาท ในระยะทาง 5 กิโลเมตรแรก
  • เป็นบริการ Food Delivery ที่เพิ่งเปิดตัวใหม่ ดังนั้นจึงมีโปรโมชันมาก
  • พัฒนาแอปพลิเคชันในคอนเซป Super Application แอปฯ เดียว ทำได้ทุกอย่าง ทำได้แม้แต่แชทคุยกับเพื่อนเรื่องสั่งอาหาร

Robinhood

Robinhood น้องใหม่แห่งวงการ Food Delivery ดำเนินการภายใต้บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด (Purple Ventures) บริษัทน้องใหม่ในเครือเอสซีบี เท็นเอกซ์ (SCB 10X) โดยมีเงินลงทุนกว่า 100 ล้านบาท

ความน่าสนใจของ Robinhood คือ การประกาศว่าไม่มีค่าธรรมเนียม GP ที่จะเก็บกับร้านอาหาร แปลว่าให้ใช้บริการฟรี และมีการเคลียร์เงินเข้าบัญชีภายใน 1 ชั่วโมง เพื่อให้ร้านอาหารมีเงินหมุนเวียนในธุรกิจ ส่วนการส่งอาหารใช้ความร่วมมือกับ Skootar บริการคนขับรถของคนไทย ส่วนรายได้ของ Robinhood คาดว่าจะมาจากบริการทางการเงินที่ร่วมกับ SCB ในอนาคต

จุดเด่น Food Delivery ของ Robinhood

  • เป็น Food Delivery ทางเลือก ของคนไทย 100%
  • ใช้กลุยุทธ์ที่ไม่มีการแข่งขันด้านราคา
  • ต้องการเป็นทางเลือกให้ร้านอาหาร โดยไม่เก็บค่าธรรมเนียม GP
  • เคลียร์เงินเข้าบัญชีของร้านอาหารภายในเวลาเพียง 1 ชั่วโมง

Food Delivery แข่งขันรุนแรง สู้กันที่ตรงไหน ถ้าไม่ใช่ “ราคา”

ถามใจตัวเอง เราใช้บริการ Food Delivery จากอะไรบ้าง?

ความสะดวกสบาย ไม่ต้องเดินทาง รออาหารมาส่งถึงที่ ถึงร้านจะอยู่ไกลก็ไม่ต้องไป ไม่ต้องเสียเวลา ไม่ต้องหาที่จอดรถ แต่ถ้าผู้ให้บริการทุกรายมีร้านอาหารเหมือนๆ กันไม่แตกต่าง ก็ต้องเลือกจากค่าส่ง หรือ โปรโมชั่น ที่มีการแข่งขันกันดุเดือด เม็ดเงินมหาศาลถูกอัดฉีดเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

เท่ากับว่าจะหา Loyalty จากผู้บริโภคได้ยาก เพราะถ้าเจ้าไหนค่าส่งถูกกว่า ผู้บริโภคก็พร้อมใช้บริการเจ้านั้น แต่อีกส่วนที่มีผลต่อการสั่งอาหารคือ จำนวนคนขับต้องมีปริมาณมากพอ หลายครั้งที่เมื่อมีโปรโมชั่นแรงๆ ผู้บริโภคกดสั่งอาหารแต่กลับไม่มีคนขับรับออเดอร์ กล่าวได้ว่าจำนวนคนขับมีผลไม่น้อย หากต้องรอนานๆ กว่าจะหาคนขับมาให้ได้ ก็ยากที่จะดึงดูดให้ผู้บริโภคใช้บริการซ้ำๆ

สร้างฐานลูกค้า ด้วยคอนเซป Super Application

นอกจากจะให้บริการ Food Delivery แล้ว จะเห็นว่าทั้ง LINE MAN Wongnai, Grab และ Gojek ล้วนมีบริการ เรียกรถยนต์ รถแท็กซี่ วินมอเตอร์ไซต์ และการรับส่งของ เพราะต้องการสร้างฐานผู้ใช้งานจำนวนมาก โดยยึดเอาชีวิตประจำวันผูกติดไว้กับตัวแอปพลิเคชัน และบริการของตัวเอง ตั้งแต่ตื่นนอน เรียกรถยนต์เพื่อโดยสารไปทำงาน กลางวันสั่งอาหารผ่านบริการ Food Delivery และยังมีบริการ Wallet ที่สามารถชำระเงินได้ผ่านทางแอปพลิเคชัน ไม่ต้องใช้เงินสด

ดังนั้นการมีบริการที่หลากหลาย ก็มีส่วนช่วยสร้างความเคยชินให้เกิดการใช้งานเป็นประจำ ท่ามกลางการแข่งขันรุนแรง ของผู้ให้บริการที่หลากหลายในเวลานี้ ผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์สูงสุด แต่ผู้ให้บริการรายไหนจะอยู่รอดในตลาดนี้ต่อไป ต้องติดตาม

ที่มา – ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา