เมื่อ JOOX หวังเป็นมากกว่าแอพฟังเพลง แต่ต้องครอบคลุม Ecosystem วงการเพลง

ความท้าทายของ JOOX ไม่ได้อยู่แค่ที่ดึงคนให้มาฟังเพลงอย่างเดียวแล้ว แต่ปั้นแพลตฟอร์มให้ครอบคลุมอีโคซิสเท็มของเพลง เติมคอนเทนต์ใหม่ๆ และเป็นตัวกลางระหว่างศิลปินกับแฟนเพลง

ต้องเป็นมากกว่าการฟังเพลง

ทำตลาดในประเทศไทยครบ 2 ปีแล้วสำหรับ JOOX แอพพลิเคชั่นมิวสิคสตรีมมิ่งในเครือของ “เทนเซ็นต์” ในประเทศไทยบริหารงานโดย บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่ง JOOX ได้เข้ามาในช่วงที่พฤติกรรมคนไทยกำลังตื่นตัวกับดิจิทัลกันอย่างมาก ทั้งเรื่องวิดีโอออนไลน์ วิดีโอสตรีมมิ่ง เพลงสตรีมมิ่ง หลายธุรกิจถูกเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่

แต่ JOOX ก็ไม่ได้เป็นแอพมิวสิคสตรีมมิ่งรายแรกที่เข้ามาทำตลาด ก่อนหน้านี้มีทั้งรายใหญ่ๆ อย่าง Apple Music, KKBox, Deezer แต่ก็มีล้มหายตายจากไป อย่าง LINE Music ที่ต้องโบกมือลาไปเช่นกัน แต่ JOOX ยังสามารถอยู่ได้เพราะทำการตลาดที่ถูกจริตคนไทย รู้พฤติกรรมคนไทยที่ชอบฟังเพลงฟรี เน้นหาสปอนเซอร์จากค่าโฆษณา

ในปี 2017 เป็นปีที่ JOOX ทำตลาดหนักขึ้น เน้นขยายฐานลูกค้า พร้อมกับมีอีเวนต์ในการสร้างการรับรู้ เริ่มทำกิจกรรมในรูปแบบ O2O (Online to Offline)

และในปีนี้ยิ่งทำการตลาดเข้มข้นขึ้น เพราะมีคู่แข่งรายใหม่เข้ามาคือ Spotify ยิ่งทำให้ JOOX ต้องรีบทำคะแนนอย่างหนัก โดยที่โจทย์ใหญ่ในปีนี้ “การทำให้ JOOX เป็นมากกว่าการฟังเพลง” นั่นคือจะไม่ใช่แค่แพลทฟอร์มในการสตรีมมิ่งเพลงอย่างเดียว แต่เป็นแพลมฟอร์มที่มีความโซเชียลมากขึ้น เหมือนสร้างคอมมูนิตี้ในวงการเพลง

กฤตธี มโนลีหกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า

“ตลาดมิวสิคสตรีมมิ่งยังมีโอกาสโตอีกมาก เพราะพฤติกรมผู้บริโภคตอบรับมากขึ้น แต่ JOOX ต้องการให้เป็นมากกว่าการฟังเพลงอย่างเดียว แต่เป็นช่องทางที่ให้ศิลปินเจอแฟนเพลงด้วยสร้างเอ็นเกจเมนต์ได้มากขึ้น และมีการพัฒนาคอนเทนต์ใหม่ๆ เพื่อจับกลุ่มเป้าหมายให้กว้างขึ้นด้วย”

ในปีนี้ JOOX ได้เน้นฟีเจอร์ JOOX Fan Space เป็นเหมือนช่องทางให้ศิลปินไลฟ์พูดคุยกับแฟนคลับ และแฟนคลับสามารถซื้อไอเท็มให้ได้ ไอเท็มยังเปลี่ยนเป็นเงินได้ด้วย เป็นโมเดลเดียวกันกับแอพพลิเคชั่นไลฟ์อื่นๆ ซึ่งฟีเจอร์นี้ทำให้ศิลปินและแฟนคลับใกล้ชิดมากขึ้น และช่วยทำให้ภาพของ JOOX ได้อยู่กับทั้งศิลปิน และผู้ใช้

รวมถึงฟีเจอร์คาราโอเกะที่ได้เปิดตัวเมื่อเดือนสิงหาคม 2017 มีการร้องคาราโอเกะแล้วกว่า 20 ล้านครั้ง กฤตธีบอกว่าความสำคัญของฟีเจอร์คาราโอเกะคือช่วยสร้างเอ็นเกจเมนต์ได้ดีขึ้น เพราะมีการแชร์เพลง การจัดอันดับเวลาร้องเพลง และทำให้ผู้ใช้อยู่ในแอพนานขึ้น จากปัจจุบันใช้เวลาเฉลี่ย 90 นาที/วัน

คู่แข่งมาไม่กระทบ มีข้อดีที่ช่วยสร้างตลาด

สำหรับคู่แข่งรายสำคัญอย่าง Spotify ที่เปิดตัวเมื่อปีที่แล้ว เรียกได้ว่ามาแรงอยู่พอสมควร เพราะสามารถสร้างอิมแพ็คให้คนไปทดลองใช้งานได้ ทำให้การแข่งชันในตลาดสนุกขึ้น ทาง Spotify เองก็พยายามบุกตลาดอย่างหนักเช่นกัน

“มองว่าการแข่งขันไม่ได้แข่งมากขึ้นกว่าเดิมมาก เพราะก่อนหน้าที่ JOOX มาก็มีผู้เล่นรายอื่นอยู่แล้ว ซึ่งการมีผู้เล่นใหม่เข้ามาก็เป็นผลดี ช่วย Educate ตลาดให้มีความเข้าใจเรื่องการ Subscription การจ่ายเงินในการฟังเพลง หลังจากที่ผู่เล่นใหม่เข้ามาตัวเลขเราก็ไม่ได้ลดลง เพราะเราก็ยังขยายตลาดต่อ”

หนึ่งในหัวใจสำคัญของ JOOX ในการทำตลาดในไทยอีกอย่างหนึ่งก็คือ Local Marketing เพราะ DNA ของบริษัทมาจาก Sanook.com ทำให้รู้พฤติกรมผู้บริโภค เป็นข้อได้เปรียบในการทำตลาดเหนือคู่แข่ง

ยอดดาวน์โหลด 50 ล้านยูสเซอร์ แต่แอคทีฟ 10 ล้าน

ปัจจุบัน JOOX มียอดดาวน์โหลด 50 ล้านยูสเซอร์ เป็นยอดแอคทีฟยูสเซอร์ 10 ล้าน เติบโตจากปี 2017 ที่มียอดดาวน์โหลด 25 ล้านยูสเซอร์ ยอดแอคทีฟ 3 ล้าน มีการสตรีมมิ่งเพลงกว่า 2,000 ล้านครั้ง

พฤติกรรมคนไทยกับการใช้ JOOX ยังคงสตรีมมิ่งมากกว่าอยู่ 65% ในขณะที่ฟังเพลงออฟไลน์ 35% มีการสร้างเพลย์ลิสต์กว่า 6 ล้านเพลย์ลิสต์ และมีการแชร์คอนทเนต์ทั้งเพลย์ลิสต์ เพลง บทความกว่า 92 ล้านครั้ง

กลุ่มผู้ฟัง JOOX ส่วนใหญ่เป็นวันหนุ่มสาว 25% อายุ 25-34 ปี 25% อายุ 28-24 ปี 20% อายุ35-44 ปี 20% ต่ำกว่า 18 ปี และ 10% มากกว่า 44 ปี อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ 43%

สรุป

โอกาสของตลาดมิวสิคสตรีมมิ่งยังมีอยู่มาก เพราะคนไทยเปิดรับมากขึ้น ซึ่งตลาดนี้แข่งขันกันที่บริการ และคอนเทนต์จริงๆ ถ้ามีเนื้อหาที่โดนใจ หรือมีดีลที่น่าสนใจก็ทำให้เขายอมเสียเงินเพื่อฟังเพลงได้ การรุกตลาดหนักของ JOOX เป็นการเร่งขยายฐานอย่างหนัก และสร้างเอ็นเกจเมนต์ให้มากขึ้นในระยะยาว

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา