โจ ไบเดน สั่งคณะกรรมการการค้าของสหรัฐฯ ออกกฎหมาย Right to Repair เปิดทางผู้บริโภคซ่อมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ด้วยตัวเอง ไม่จำเป็นต้องส่งเข้าศูนย์บริการเพียงอย่างเดียว
ตามปกติแล้วเมื่อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต หรือเครื่องเล่นเกมคอนโซลเกิดการชำรุดเสียหาย ผู้บริโภคต้องนำอุปกรณ์เหล่านี้ไปซ่อมที่ศูนย์บริการเท่านั้น เพราะอะไหล่หลายๆ ชิ้น ถูกผูกขาดไม่สามารถซ่อมนอกศูนย์บริการได้ ผลคือผู้บริโภคต้องยอมจ่ายค่าซ่อมแพงกว่าที่ควรจะเป็น
โจ ไบเดน สั่งลุยกฎหมาย Right to Repair
อย่างไรก็ตามปัญหานี้กำลังจะหมดไป เพราะสำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า โจ ไบเดน ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา กำลังสั่งให้คณะกรรมการการค้าของสหรัฐฯ (Federal Trade Commission หรือ FTC) ร่างกฎหมาย Right to Repair เพื่อแก้ปัญหาไม่ให้บริษัทผู้ผลิตผูกขาดการซ่อมแต่เพียงฝ่ายเดียว
สำหรับกฎหมาย Right to Repair ของสหรัฐฯ นี้ พุ่งเป้าไปที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะ เพราะผู้ผลิตอย่าง Apple และ Microsoft เอง มีการผูกขาดการซ่อมชิ้นส่วนบางอย่างของโทรศัพท์มือถือ และเครื่องเล่นเกมคอนโซล ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วภาระไปตกอยู่ที่ผู้บริโภคที่ต้องจ่ายเงินค่าซ่อมแพงกว่าเดิม
นอกจากคนใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ได้ประโยชน์จากกฎหมาย Right to Repair และ เกษตรกรก็ได้รับประโยชน์เช่นเดียวกัน เพราะที่ผ่านมารถแทรกเตอร์ เป็นหนึ่งในสินค้าที่มีการผูกขาดการซ่อมจากผู้ผลิต ทั้งการเปลี่ยนอุปกรณ์ ระบบซอฟต์แวร์ และระบบตรวจวิเคราะห์อาการเสีย ไม่สามารถทำได้โดยผู้ซ่อมอิสระ
ด้าน Brian Deese ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของทำเนียบขาว ให้ความเห็นว่ากฎหมาย Right to Repair นี้ จะสร้างการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจ ช่วยลดค่าซ่อม และเพิ่มค่าแรงให้กับชาวอเมริกัน
สหภาพยุโรป-อังกฤษ เริ่มกฎหมาย Right to Repair แล้วเช่นกัน
สำหรับกฎหมาย Right to Repair นี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เพราะในสหภาพยุโรปเองก็วางแผนที่จะบังคับใช้กฎหมายในลักษณะนี้เช่นเดียวกัน โดยพุ่งเป้าไปที่ โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์ รวมถึงประเทศอังกฤษ ก็เพิ่งจะบังคับใช้กฎหมาย Right to Repair ไป โดยบังคับให้ผู้ผลิตสำรองอะไหล่ให้กับผู้บริโภคนาน 10 ปี เพื่อการันตีว่าหากเครื่องใช้ไฟฟ้าเสียต้องมีอะไหล่ซ่อมได้
ซ่อมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เอง อันตรายหรือไม่?
อย่างไรก็ตามในอีกมุมหนึ่ง บริษัทเทคโนโลยีซึ่งเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้ความเห็นว่า การเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคสามารถนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิสก์อย่างโทรศัพท์มือถือไปซ่อมที่ไหนก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องซ่อมที่ศูนย์บริการ จะทำให้เกิดอันตรายจากการซ่อมชิ้นส่วนบางอย่าง เช่น การติดตั้งแบตเตอรี่ที่ไม่ถูกต้อง การดัดแปลงรถรถแทรกเตอร์ รวมถึงการดัดแปลงอุปกรณ์โดยมองข้ามเหตุผลด้านความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม
ที่มา – Bloomberg
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา