จ๊อบไทย เผยตลาดแรงงานไทยปี 64 การแข่งขันยังสูง คนอยากเปลี่ยนงาน บริษัทยังไม่รับเด็กจบใหม่

จ๊อบไทย (JobThai) ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มหางานและสมัครงานออนไลน์ เผยผลสำรวจความคิดเห็นตลาดแรงงานไทยหลังยุคโควิด ชี้ หลายบริษัทเตรียมปรับขึ้นสวัสดิการให้เหมาะกับการทำงานระยะไกลมากขึ้น พนักงาน 80% ต้องการเปลี่ยนงาน เด็กจบใหม่ยังว่างงานสูง

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบกับตลาดแรงงานไทยในหลายด้าน ทั้งความต้องการแรงงาน รูปแบบการทำงาน และการสัมภาษณ์งานที่เปลี่ยนไป โดยในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนพฤศจิกายน 2563 จ๊อบไทย เผยว่า ความต้องการแรงงานในแพลตฟอร์มของจ๊อบไทยรวมกันอยู่ที่ 346,357 อัตรา และจากการสำรวจความคิดเห็นในเรื่องโลกการทำงานที่เปลี่ยนไปในยุค Post COVID-19 Pandamic จากคนทำงาน 7,548 คนและ 1,019 องค์กรทั่วประเทศ พบว่าในจำนวนนี้มีพนักงานที่สามารถเปลี่ยนรูปแบบการทำงานมาเป็นการทำงานแบบ work from home ได้เปลี่ยนเพียง 34.1% เท่านั้น ขณะที่ 65.9% ของผู้ตอบแบบสำรวจไม่สามารถเปลี่ยนมาทำงานที่บ้านได้

แนวโน้มตลาดแรงงานไทยปี 2564

ผลสำรวจขององค์กร

ผลสำรวจชี้ว่าว่าหลายองค์กรเตรียมปรับเพิ่มสวัสดิการให้สอดคล้องกับรูปแบบการ work from home ให้มากขึ้น ทั้งในเรื่องความยืดหยุ่นของเวลางานและสวัสดิการเงินกู้ยืมสำหรับพนักงานและจะทำการลดสวัสดิการส่วนอื่นๆ เช่น งานเลี้ยงสังสรรค์ การท่องเที่ยวประจำปี โบนัส หรือรางวัลพนักงานดีเด่นลงแทน

สำหรับค่าตอบแทนพนังงานในปี 64 นั้น ผลสำรวจชี้ว่า 48.2% ขององค์การที่ตอบแบบสำรวจมีแผนปรับขึ้นเงินเดินตามโรงสร้างปกติ ขณะที่ 28.9% ปรับขึ้นเงินเดินแต่ในสัดส่วนที่น้อยลง 18.1% จะไม่ปรับเงินเดิน 3.2% ยังไม่ได้ทำการสรุปนโยบาย และ 1.6% จะทำการปรับลงเงินเดือนพนักงานลง

ผลสำรวจของแรงงาน

ผลการสำรวจแรงงานในตลาดไทย พบว่า ในปี 2564 มีแรงงานที่ต้องการเปลี่ยนงานใหม่สูงถึง 81% โดย 26.4% ของผู้ตอบแบบสำรวจมองหางานใหม่อย่างจริงจัง ขณะที่ 55.4% เปิดโอกาสตัวเองสำหรับงานใหม่ และ 18.2% ไม่ต้องการหางานใหม่

สำหรับสาเหตุของการต้องการเปลี่ยนงาน

  • อันดับ 1 เรื่องเงินเดือน
  • อันดับ 2 เรื่องความก้าวหน้าในสายงาน
  • อันดับ 3 เรื่องสวัสดิการ
  • อันดับ 4 สภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมองค์กร
  • อันดับ 5 ตัวงานไม่มีความท้าทาย

ขณะที่พนักงานที่ไม่มีแผนการเปลี่ยนงานให้เหตุผลว่า ที่ทำงานเดิมมีเพื่อนร่วมงานที่ดี เดินทางสะดวก ระดับเงินเดือนอยู่ในเกณฑ์ที่พึงพอใจ มีสภาพแวดล้อมในที่ทำงานและสวัสดิการที่ดี ส่วนคนที่ยังลังเลอยู่ให้เหตุผลว่าการย้ายงานอาจทำให้เงินเดือนสูงขึ้น ได้รับสวัสดิการที่ดีขึ้น มีความก้าวหน้ามากขึ้น การเดินทางสะดวกขึ้น หรืออาจมีเวลาในการทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น

Note: ผู้ตอบแบบสอบถามนี้ 62.7% เป็นผู้มีงานทำ 23.7% เป็นผู้ว่างงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ขณะที่ 13.6% เป็นผู้ว่างงานจากเหตุผลอื่นที่ไม่ใช่โควิด โดยแรงงานที่ได้รับผลกระทบการว่างงานจากโควิดสูงที่สุดคือธุรกิจท่องเที่ยว

ผลสำรวจของเด็กจบใหม่

สำหรับเด็กจบใหม่ในปีนี้ยังมีปัญหาเรื่องการว่างงานสูงอย่างต่อเนื่องเนื่องจากภาวะการแข่งงานของแรงงานในตลาดเพิ่มสูงขึ้น จากการสำรวจนักศึกษาจบใหม่จำนวน 1,496 คนที่กำลังหางานและยังว่างงานอยู่ พบว่า 44% หางานมาเป็นเวลา 1-3 เดือนแล้ว ขณะที่ 31.9% หางานมาเป็นระยะเวลา 4-6 เดือน มีเพียง 9.8% ที่มีระยะเวลาการหางานน้อยกว่า 1 เดือนโดยในกลุ่มนี้ 36.2% ไม่เคยโดนเรียกสัมภาษณ์งาน ขณะที่ 35.4% เคยได้รับการสัมภาษณ์แล้วแต่ไม่ผ่านการคัดเลือก

สำหรับความกังวลของเด็กจบใหม่ในปีนี้

  • อันดับ 1 กังวลว่าจะหางานทำไม่ได้
  • อันดับ 2 กังวลเรื่องเศรษฐกิจตกต่ำ บริษัทไม่จ้างเด็กจบใหม่ไม่มีประสบการณ์
  • อันดับ 3 กังวลเรื่องรายได้ไม่เพียงพอ
  • อันดับ 4 กังวลว่าจะไม่ได้งานตรงความต้องการ
  • อันดับ 5 กังวลเรื่องหัวหน้าและเพื่อนร่วมงาน

โดยเด็กจบใหม่เชื่อว่าตนเองมีทักษะ คือ 1. ความสามารถในการเรียนรู้และเปิดรับสิ่งใหม่ 2.ทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่น 3.  ความสามารถในการเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น 4. ทักษะในการใช้งานเทคโนโลยี 5. การบริหารเวลา

สายงานที่เปิดรับเด็กจบใหม่มากที่สุด ได้แก่ งานขาย งานช่างเทคนิค งานบริการลูกค้า งานผลิต/ควบคุมคุณภาพ และงานวิศวกรรม

แสงเดือน ตั้งธรรมสถิตย์ ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าผู้บริหารด้านปฏิบัติการจ๊อบไทย

แสงเดือน ตั้งธรรมสถิตย์ ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าผู้บริหารด้านปฏิบัติการจ๊อบไทย ระบุว่า การระบาดของโควิด-19 ภาคธุรกิจต้องมีการปรับตัวส่งผลกระทบกับการจ้างงาน องค์กรต่างๆ ออกมาตรการลดค่าใช้จ่ายของบริษัท เช่น การปลดพนักงาน การลดสวัสดิการ อัตราการเปิดรับสมัครงานลดลงกว่าปีก่อน จำนวนผู้ว่างงานในตลาดแรงงานมากขึ้น ส่งผลให้การสรรหาบุคลากรมีความเข้มข้นมากขึ้น เว็บไซต์หางานเป็นช่องทางที่องค์กรและคนหางานนิยมใช้มากที่สุด

อย่างไรก็ตามผลสำรวจเผยว่าทักษะที่องค์กรมองหาจากคนทำงานในยุคหลังโควิด-19 อันดับหนึ่ง คือ ความสามารถในการเรียนรู้และเปิดรับสิ่งใหม่ (49.6%) อันดับสอง คือ ความสามารถในการทำงานเชิงรุก หรือ Proactive (49.1%) อันดับสาม คือ การจัดลำดับความสำคัญของงาน (47.6%)  อันดับสี่ คือ การสื่อสารและการถ่ายทอดข้อมูล (45.3%) และอันดับห้า คือ การบริหารเวลา (44.0%)

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา