สิงคโปร์: ตกงานหนักสุดในรอบ 10 ปี นักเศรษฐศาสตร์คาดสิ้นปีจะตกงานราว 200,000 คน 

หลังโควิด-19 โจมตีหนักหน่วง ส่งผลให้สิงคโปร์มีอัตราการว่างงานสูงสุดในรอบ 10 ปี รวมทั้งการจ้างงานก็ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในไตรมาสแรกของปีนี้ กระทรวงแรงงานสิงคโปร์รายงานว่า อัตราการว่างงานค่อยๆ เพิ่มจำนวนขึ้นจาก 2.3% ในไตรมาสก่อนหน้า เพิ่มเป็น 2.4% โดยอัตราการว่างงานของพลเมืองชาวสิงคโปร์เพิ่มจาก 3.3% เป็น 3.5%

ไตรมาสแรกของปีนี้ มีพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากการปิดตัวของธุรกิจต่างๆ ราว 1,537 คน เพิ่มจากไตรมาสก่อนหน้าสองเท่าอยู่ที่ 628 คน

Singapore สิงคโปร์
ภาพจาก Unsplash

สิงคโปร์: อัตราการว่างงานสูงสุดในรอบ 10 ปี

พนักงานถูกโยกให้ไปทำงานในชั่วโมงที่น้อยลงหรืออาจจะถูกพักงานราว 4,190 คน สูงจากไตรมาสก่อนถึง 5 เท่าซึ่งอยู่ที่ 840 คน แต่ถือว่าน้อยกว่าช่วงที่เกิดวิกฤตการเงินโลกซึ่งมีจำนวนมากถึง 26,530 คน กระทรวงแรงงานระบุว่า นายจ้างต้องการที่จะลดกำลังคนเพียงชั่วคราวเพื่อจะลดต้นทุนบริษัทในช่วงวิกฤต อุตสาหกรรมด้านการค้าและการท่องเที่ยว รวมถึงก่อสร้างล้วนได้รับผลกระทบหมดจนต้องลดจำนวนพนักงาน

อัตราการว่างงานในเดือนมีนาคมปีนี้อยู่ที่ 46,300 คน เทียบกับเดือนธันวาคมปีที่แล้วอยู่ที่ 52,700 คน ซึ่งธุรกิจที่มีการได้รับผลกระทบหนักสุดมีตั้งแต่ประเภทอาหารและเครื่องดื่ม ศิลปะ บันเทิง สวนทางกับธุรกิจประเภทเทคโนโลยีและด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม Josephine Teo รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานระบุว่า ได้พยายามอย่างดีที่สุดสำหรับคนหางาน จากนั้นก็อ้างถึงยุทธศาสตร์งานโดยมีเป้าหมายว่าจะสร้างงานให้ได้มากถึง 100,000 ตำแหน่ง

Singapore สิงคโปร์
ภาพจาก Unsplash

ไม่ใช่แค่คนสิงคโปร์ แต่คนต่างชาติที่ไปทำงานสิงคโปร์ก็เสี่ยงตกงานสูง

โควิด-19 กระทบผู้คนอย่างหนักแท้จริง ทั้งคนสิงคโปร์ตลอดจนคนต่างชาติที่ทำงานในสิงคโปร์ล้วนเสี่ยงตกงานกันทั้งนั้น

ตัวอย่างของวิถีชีวิตคนที่ต้องเปลี่ยนแปลง เพื่อจะได้รับมือกับสถานการณ์ปัจจุบันได้ Martha Liv ชาวต่างชาติที่ไปทำงานในสิงคโปร์ ตั้งใจว่าจะทำงานและอาศัยอยู่ในสิงคโปร์เพื่อเก็บเงินซื้อบ้านเมื่อย้ายกลับยุโรปได้ แต่สถานการณ์ก็เปลี่ยนไปเมื่อโควิดเข้ามา สามีของเธอถูกลดเงินเดือนราว 20% แค่นั้นไม่พอ การที่เธอและสามีพยายามจะขอลดค่าเช่าบ้านในสิงคโปร์ที่ต้องจ่ายเป็นเงินราว 1,948 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 60,582 บาท) แต่เจ้าของที่พักก็ไม่ยอมลดให้

Liv เปลี่ยนพฤติกรรมจากที่เคยต้องจับจ่ายใช้สอยอยู่ในซุปเปอร์มาร์เก็ต ก็เปลี่ยนมาซื้อหาอาหารในตลาดสดแทน เธอต้องหันมาซื้ออาหารท้องถิ่นมากกว่าจะซื้ออาหารนำเข้าจากชาติตะวันตก เธอบอกว่า การใช้ชีวิตที่สิงคโปร์นั้นมีค่าครองชีพที่แพงเอาการอยู่ เธอบอกว่าเธอต้องเอาเงินออมออกมาใช้เพื่อรักษากำลังซื้อของเธอให้สามารถใช้จ่ายได้อย่างปกติ

Singapore
ภาพจาก Unsplash

เศรษฐกิจสิงคโปร์หดตัวอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนนับตั้งแต่ได้เอกราช (ปี 1965) หดตัวมากถึง 7% ซึ่ง Lee Ju Ye นักเศรษฐศาสตร์จาก Maybank Kim Eng คาดการณ์ว่าภายในสิ้นปีจะมีคนตกงานมากถึง 150,000-200,000 คน โดยชาวต่างชาติที่ทำงานในประเทศคาดว่าจะตกงานราว 60%

ทั้งนี้ รัฐบาลก็พยายามจะประคับประคองสถานการณ์จนอัดฉีดเงินไปแล้ว 4 ครั้งราว 1 แสนล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท) ซึ่งก็มีทั้งโครงการสนับสนุนเรื่องการสร้างงานราว 25-75% เช่น สนับสนุนเงินเดือนเดือนละ 4,600 เหรียญสหรัฐ เป็นเวลา 10 เดือน (ประมาณ 1 แสนบาท) แต่แผนการนี้ก็ส่งเสริมเฉพาะพลเมืองชาวสิงคโปร์หรือผู้คนที่พักอาศัยอยู่ในสิงคโปร์เป็นเวลายาวนานเท่านั้น

ที่มา – CNA, South China Morning Post

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
สนใจความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การทูต การเมือง ประชาธิปไตย เสรีภาพ ความยุติธรรมและความเท่าเทียม ชอบอ่าน ชอบเขียน ชอบสืบค้นข้อมูล ชอบทำคอนเทนต์