กระแส Job-Hopping วัยกลางคนในญี่ปุ่นมาแรง: คนวัย 41 ปีขึ้นไปได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น

ในญี่ปุ่น กระแสการเปลี่ยนงานเร็วหรือทำงานระยะสั้นที่มีอายุงานไม่ถึง 2 ปีหรือที่เรียกว่า Job-Hopping กำลังมาแรงโดยเฉพาะกลุ่มคนทำงานวัยกลางคนในช่วงหลังโควิดระบาด ทั้งนี้ ก็เพราะบริษัทต่างก็คาดหวังว่า คนมีประสบการณ์เหล่านี้จะสามารถช่วยฟื้นฟูบริษัทได้

Job hopping

จำนวนคนทำงานที่เปลี่ยนงานในรอบ 5 ปีจนถึงปีงบประมาณ 2020 นั้นเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวโดยเฉพาะคนที่อยู่ในกลุ่มคนอายุ 41 ปีขึ้นไป อัตราการเปลี่ยนงานก็เร็วขึ้น มากขึ้นกว่าคนที่อ่อนวัยกว่า โดยข้อมูลจาก Japan Executive Search and Recruitment Association เผยว่า มีคนทำงานราว 10,000 คนที่หาการจ้างงานใหม่ผ่านเอเยนซี่จัดหางาน 3 แห่งในปีงบประมาณ 2020 ซึ่งเพิ่มขึ้น 1.9 เท่าจาก 5 ปีก่อนหน้า เมื่อดูข้อมูลแล้วพบว่าคนในวัย 40  ปี- 50 ปีมีการเปลี่ยนงานในระยะที่เร็วที่สุดเมื่อเทียบกับคนวัยอื่นๆ

ตัวอย่างจากชายวัย 44 ปีในโตเกียวก็ลาออกจากงานเมื่อปีที่ผ่านมา หลังจากทำงานอยู่ที่เดิมยาวนาน 19 ปี เขารู้สึกไม่มีความสุขเพราะบริษัทปล่อยให้เขามีอิสระเพียงเล็กน้อย นี่คือสาเหตุที่ทำให้เขาตัดสินใจเปลี่ยนงาน ที่ทำงานแห่งใหม่คือสตาร์ทอัพที่ทำงานพัฒนาแอพพลิเคชั่นเสนอเงินเดือนให้เขายอดเดียวกับที่เขาเคยได้ก่อนหน้า บริษัทมุ่งหาคนที่มีประสบการณ์เพราะคาดหวังว่าจะมีส่วนช่วยในการขยายบริษัทได้ต่อไป ชายคนดังกล่าวระบุว่า เขามีความสุขเพราะว่าตอนนี้เขาสามารถทำในสิ่งที่เขาต้องการทำได้

จากกราฟที่ระบุตัวเลขการเปลี่ยนงานตามช่วงวัย พบว่า คนอายุ 41 ปีขึ้นไปมีอัตราการเปลี่ยนงานมากที่สุด รองลงมาคือคนที่อายุต่ำกว่า 25 ปีลงมา ตามด้วยคนวัย 36-40 ปี คนวัย 26-30 ปี และช่วงวัยสุดท้ายคือคนวัย 31-35 ปีที่มีระยะเปลี่ยนงานช้าที่สุดเมื่อเทียบกับคนวัยอื่น

Japanese
Photo by Alexander Schimmeck on Unsplash

จำนวนคนที่ลงทะเบียนใน Senior Job เอเยนซี่ผู้เชี่ยวชาญในการหางานให้คนสูงวัยพบว่ามีคนลงทะเบียนหางานมากถึง 61,500 คน โดยในช่วงปลายปี 2021 มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปี 2019 มากถึง 2.7 เท่า

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ภาพรวมการว่างงานของประเทศก็ยังไม่ได้อยู่ในอัตราที่สูงมาก เนื่องจากยังมีสตาร์ทอัพและบริษัทต้องการสร้างธุรกิจใหม่ๆ ยังคงมีจ้างงานอยู่ สิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้คนทำงานวัยกลางคนยังพัฒนาทักษะและจุดแข็งในการทำงานที่จะช่วยให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีชีวิตชีวามากขึ้น ด้าน Takayuki Iyou ผู้จัดการจาก En Japan ระบุว่า ความต้องการคนทำงานที่อาวุโสเพิ่มมากขึ้นท่ามกลางบริษัทที่กำลังเติบโตและเร่งยกเครื่องบริษัทใหม่ ขณะที่ Akisaburo Ikushima CEO และผู้ก่อตั้ง Globee กล่าวว่า สิ่งที่ทำให้คนทำงานวัยอาวุโสน่าดึงดูดก็คือ ประสบการณ์และทัศนคติในการทำงานของพวกเขา

เมื่อ 10 ปีที่แล้ว คนทำงานที่อายุ 45-49 ปีอาจจะเห็นว่าเงินเดือนตัวเองลดลงได้หากต้องเปลี่ยนงาน แต่ปัจจุบันไม่ใช่แล้ว พวกเขาคาดหวังว่าเงินเดือนจะเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การสำรวจจากกระทรวงแรงงานในปี 2020 ระบุว่า อัตราการทำงานของคนวัย 45-49 ปีมีัตราเงินเดือนที่เพิ่มขึ้นหลังจากเปลี่ยนงาน

ที่มา – Nikkei, HR Asia

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา