ถ้าทำสำเร็จ ต้องได้รางวัลโนเบลแล้ว! ญี่ปุ่นเดินหน้าพัฒนายาที่ทำให้ “ฟัน” งอกได้

ยาที่ทำให้ฟันงอกได้ ก็มาาาา

โลกนี้มีอะไรใหม่ๆ ให้ศึกษาได้อีกเยอะ ล่าสุด สตาร์ทอัพด้านเภสัชกรรมสัญชาติญี่ปุ่นกำลังเร่งพัฒนายาที่กระตุ้นให้เกิดฟันซี่ใหม่ ถ้าทำได้สำเร็จก็จะเป็นประเทศแรกของโลกที่ทำได้ คาดว่าน่าจะออกสู่ตลาดได้ภายในปี 2030 หรือภายใน 6 ปีเศษๆ ต่อจากนี้

Children
Photo by Sane Sodbayar on Unsplash

Toregem Biopharma ได้รับทุนสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยเกียวโต กำลังเตรียมทดลองทางคลินิกเพื่อตรวจสอบความปลอดภัยในการใช้ยาดังกล่าวในผู้ใหญ่ภายในเดือนกรกฎาคม ปี 2024 หลังจากที่ก่อนหน้านี้บริษัทประสบความสำเร็จจากการเพาะฟันในหนูเมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา

ผู้คนส่วนใหญ่มักมีภาวะฟันหาย (tooth buds) รายงานการวิจัยทางทันตกรรมจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอธิบายเรื่องภาวะฟันหายไว้ว่า เป็นภาวะที่ไม่มีฟันตั้งแต่กำเนิด ไม่พบหน่อฟันแท้ ที่เป็นเนื้อเยื่อที่อยู่ในกระดูกขากรรไกร ซึ่งจะตรวจพบผ่านการเอกซเรย์ฟันเท่านั้น รายงานจากปี 2565 ระบุว่าในคนไทยจะมีภาวะฟันหายมากกว่าคนต่างชาติ ใน 100 คน จะมีภาวะฟันหาย 9 คน ส่วนใหญ่มาจากปัจจัยความผิดปกติของยีนในการถ่ายทอดทางพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม อาทิ แม่ตั้งครรภ์มีการติดเชื้อ ทานอาหารไม่ครบ 5 หมู่ ทานยาที่ส่งผลต่อการสร้างหน่อฟันของลูก ฯลฯ

ภาวะฟันหาย ไม่พบหน่อฟันแท้ แม้หายไปหนึ่งซี่ก็ถือว่าอยู่ในภาวะฟันหาย งานวิจัยส่วนใหญ่พบภาวะฟันหายบริเวณฟันกรามน้อยล่างซี่ที่สอง ทำให้ไม่มีฟันกรามเคี้ยวอาหาร ทำให้ผู้ป่วยเคี้ยวอาหารได้ไม่เต็มร้อย ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างใบหน้าผิดปกติ ส่งผลต่อจิตใจและการใช้ชีวิตด้วย

ทีมวิจัยจากญี่ปุ่นได้พยายามพัฒนายาต้านภูมิคุ้มกันที่ยับยั้งโปรตีนในการเจริญเติบโตของฟัน ยาดังกล่าวจะกระตุ้นให้เกิดการงอกของฟันได้ ซึ่งในปี 2018 ได้พยายามทดลองกับหนูมาแล้วพบว่ามีฟันงอกออกมากลายเป็นฟันซี่ใหม่เหมือนฟันแท้ของคน

ทีมวิจัยจะทำการทดลองยาทางคลินิกในปี 2025 สำหรับเด็กในช่วงวัย 2 ขวบถึง 6 ขวบ ที่เป็นโรค Anodontia หรือมีภาวะไร้ฟัน เกิดมาไม่มีฟันแท้หรือไร้ฟัน เด็กจะได้รับการฉีดยาเพื่อกระตุ้นให้ฟันงอกในปริมาณ 1 โดส การวิจัยดังกล่าวยังคาดหวังว่ายาตัวนี้จะสามารถช่วยเหลือผู้ใหญ่ที่สูญเสียฟันจากฟันผุได้ด้วย

Katsu Takahashi ผู้ร่วมก่อตั้ง Toregem Biopharma และหัวหน้าทันตแพทย์และการผ่าตัดในช่องปากจากมหาวิทยาลัย Kitano จากโอซาการะบุว่า การที่เด็กไม่มีฟันหรืออยู่ในภาวะไร้ฟันดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของขากรรไกรล่างของเด็กด้วย เราคาดหวังว่ายาตัวนี้จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้

ที่มา – Japan Times, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา