ญี่ปุ่นอนุมัติแล้ว ยาสำหรับรักษาโรคอัลไซเมอร์ ช่วยชะลออาการของโรคในระยะแรกเริ่ม

กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่น อนุมัติให้ผลิตและจัดจำหน่ายยารักษาโรคอัลไซเมอร์ที่ผลิตโดยบริษัทยาของญี่ปุ่นร่วมกับสหรัฐอเมริกา บริษัท Eisai Co และ บริษัท Biogen Inc

โดย Lecanemab ภายใต้แบรนนด์ Leqembi จะเป็นยาตัวแรกของญี่ปุ่นที่ใช้รักษาสาเหตุของโรคอัลไซเมอร์และจะช่วยชะลอพัฒนาการของอาการจากโรคดังกล่าว โดยตัวยาจะช่วยรักษาโรคอัลไซเมอร์ในระยะแรกและผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการผิดปกติด้านการรับรู้เล็กน้อย  คาดว่ายาตัวนี้จะสามารถใช้งานได้ภายในปลายปีนี้

Elder
Photo by CDC on Unsplash

ความเคลื่อนไหวจากการพัฒนายาเพื่อรักษาโรคอัลไซเมอร์ล่าสุดนี้ เกิดขึ้นภายหลังจากหน่วยงานกำกับและดูแลยาของสหรัฐอเมริกาอนุมัติยา lecanemab เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา หลังจากที่มีการอนุมัติแบบ fast-track เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ด้านกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นก็เริ่มไฟเขียว ให้มีการอนุมัติอย่างเป็นทางการช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

บริษัท Eisai ระบุว่า ผลการทดลองทางคลินิกพบว่า ยาตัวใหม่นี้ สามารถลดการลุกลามของอาการจากโรคได้ เช่นกลุ่มคนที่มีความทรงจำที่แย่ลงและมีการตัดสินใจที่บกพร่อง สามารถลดอาการดังกล่าวได้ราว 27% เมื่อเทียบกับยาหลอก แต่สำหรับผู้ป่วยบางรายก็ได้รับผลข้างเคียงจากยา ก็คือ มีภาวะสมองบวมและมีเลือดออกในสมอง

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้าที่จะมีการอนุมัติยา Leqembi ให้รักษาโรคอัลไซเมอร์ในญี่ปุ่นได้นั้น บริษัท Eisai ได้แถลงการณ์เพื่อเผยแพร่คลิปวิดีโอที่สร้างความตระหนักรู้ถึงเรื่องโรคอัลไซเมอร์ในวันอัลไซเมอร์โลก ซึ่งก็คือวันที่ 21 กันยายนที่ผ่านมานี้เอง โดยคลิปนั้นชื่อว่า “Life Goes On 2023: Two Memories, One Story” พูดถึงความสำคัญของโรคความจำเสื่อมเพื่อสื่อให้ผู้คนเข้าใจโรคนี้มากขึ้น

ในแถลงการณ์ระบุว่า ด้วยอัตราประชากรสูงวัยที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงทำให้มีการคาดการณ์ว่าประชากรของญี่ปุ่นราว 1 ใน 5 จะมีอายุ 65 ปีขึ้นไป พวกเขาจะมีอาการสมองเสื่อม (Dementia) ซึ่งอาการนี้ผู้คนในปัจจุบันค่อนข้างคุ้นเคยกับโรคดีอยู่แล้ว แต่อาการของแต่ละคนย่อมมีความแตกต่าง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับชนิดของโรคที่ทำให้เกิดอาการ แต่ขั้นตอนแรกที่จะช่วยคลายความกังวลของผู้ป่วยก็คือ คนรอบข้างเข้าใจความคิดและเหตุผลของอาการและช่วยขจัดความเข้าใจผิดๆ หรือสมมติฐานผิดๆ ของโรคได้

คลิปวิดีโอดังกล่าว จัดทำขึ้นภายใต้แนวคิด “เรียนรู้ที่จะช่วยเหลือเราด้วยความเมตตา” โดยมีเป้าหมายเพื่อให้สังคมตระหนักว่า คนที่ป่วยด้วยโรคสมองเสื่อมและครอบครัวของพวกเขาสามารถที่จะใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข เพื่อให้สังคมเข้าใจโรคนี้ในแง่มุมที่ลึกซึ้งมากขึ้น เนื้อหาคลิปวิดีโอเล่าถึงหญิงชายคู่หนึ่งที่โตมาด้วยกัน รักกันและใช้ชีวิตเป็นครอบครัวเดียวกัน วันหนึ่งสามีเริ่มความจำเลอะเลือน ภรรยาก็สังเกตเห็นความสับสนนั้น เรื่องนี้ช่วยสะท้อนให้คนรู้จักยอมรับโรคความจำเสื่อมและใช้ชีวิตต่อไปให้ได้

ด้านองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา ก็เคยแถลงไว้เมื่อ 6 มกราคมที่ผ่านมาว่า ได้อนุมัติยา Leqembi ผ่านช่องทางอนุมัติพิเศษ (ช่องทางนี้มีไว้ก็เพื่อให้พิจารณายาแบบเร่งด่วน สำหรับกรณีที่เป็นการศึกษายาตัวใหม่และบางครั้งก็ใช้เวลาหลายปีในการศึกษาถึงผลกระทบต่อการรอดชีวิตของคนป่วย ไปจนถึงความรู้สึกในการใช้ยาและสรรพคุณของยานั้น เมื่อพบว่ามันส่งผลกระทบเชิงบวกต่อการรักษา ก็จะใช้ช่องทางนี้เมื่อมีความต้องการเร่งด่วน)

ด้านนายแพทย์ Billy Dunn ผู้อำนวยการด้านประสาทวิทยาศาสตร์จากองค์การอาหารและยาระบุว่า โรคอัลไซเมอร์นั้นทำให้ผู้ป่วยทุกข์ทรมานต่อการใช้ชีวิต ส่งผลร้ายแรงต่อคนที่พวกเขารัก ทางเลือกในการรักษาดังกล่าว เป็นการบำบัดแบบใหม่ล่าสุดที่จะส่งผลกระทบต่อกระบวนการของโรคอัลไซเมอร์ แทนที่จะรักษาตามอาการของโรคแบบเดิม ซึ่งโรคอัลไซเมอร์นี้ส่งผลกระทบต่อชีวิตชาวอเมริกันราว 6.5 ล้านคน มันค่อยๆ ทำลายความทรงจำ ทักษะในการคิด และจะทำให้ขาดความสามารถในการทำงานง่ายๆ ได้ในที่สุด

ที่มา – Japan Today, Eisai (1), (2), (3), Biogen, FDA (1), (2)

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา