NARO องค์กรวิจัยอาหารและการเกษตรแห่งชาติญี่ปุ่นกำลังพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถคาดการณ์เส้นทางการบินของแมลงได้และสามารถยิงให้แมลงตกลงมาได้ด้วยเลเซอร์ โดยคาดว่าจะร่วมมือกับหุ้นส่วนที่เป็นภาคเอกชนเพื่อที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการค้าได้ในปี 2025
ระบบดังกล่าวนี้ ญี่ปุ่นคาดว่าจะทำให้การเกษตรพัฒนาได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น เนื่องจากวิธีนี้จะเป็นทางออกที่จะช่วยลดการใช้ยาฆ่าแมลง ลดการใช้สารเคมีที่เป็นพิษที่เคยใช้ในการทำเกษตรกรรมแบบทันสมัย ด้านกระทรวงเกษตร ป่าไม้และการประมงเคยคาดการณ์ว่าความต้องการอาหารในโลกจะเติบโตถึง 70% ภายในปี 2050 เพราะอัตราประชากรเติบโต แต่การผลิตเมล็ดธัญพืชจะมีการเจริญเติบโตช้าลงเพราะภาวะโลกร้อนและความเสียหายจากแมลงรบกวนอย่างหนัก มีการประเมินว่าโลกแมลงทำลายอาหารโลกไปแล้วราว 16%
ยาฆ่าแมลงที่เป็นสารเคมีถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางเนื่องจากมีประสิทธิภาพในการกำจัดแมลงได้ แต่การใช้สารเคมีขนานใหญ่เช่นนี้ก็ทำลายสภาพแวดล้อมไปด้วย เรื่องนี้ Masaya Matsumura หัวหน้าฝ่ายวิจัยหน่วยงานควบคุมการรบกวนจากแมลงจึงพัฒนาระบบเลเซอร์เพื่อให้สามารถควบคุมแมลงได้อย่างเป็นมิตรกับระบบนิเวศน์ได้ ระบบนี้ยังไม่สามารถนำมาใช้ได้จริง แต่การใช้งานของมันก็คือ การใช้กล้องเพื่อจับภาพแมลงและสามารถกำหนดทิศทางเพื่อยิงแมลงดังกล่าวได้ ใช้เวลาเพียง 0.03 วินาทีเท่านั้น แต่สำหรับแมลงแล้ว ระยะเวลาดังกล่าวก็ยังถือว่านานมากสำหรับแมลงที่ยังมีชีวิตอยู่
นักวิจัยพยายามคิดค้นวิธีการคาดการณ์เส้นทางการบินของเหล่าแมลง โดยหนึ่งในเป้าหมายของนักวิจัยก็คือ Spodoptera litura หรือหนอนกระทู้ผัก หนอนรัง แมลงชนิดนี้ถือว่าเป็นแมลงที่ร้ายกาจมากในเอเชียเพราะสร้างความเสียหายกับพืชและกำจัดได้ยากมาก นอกจากนี้ยังมี cotton leafworm หรือหนอนกระทู้ฝ้าย เหล่านี้ทำลายพืชผักหลายชนิด อาทิ ถั่วเหลือง กะหล่ำปลี สตอร์วเบอร์รี่ และพืชผักผลไม้อีกหลายชนิด
นักวิจัยได้ทดลองยิงศัตรูพืชเหล่านี้โดยใช้ระบบคาดการณ์การบินของแมลง ใช้กล้องที่ต้องมี 2 เลนส์ขึ้นไปและใช้เซนเซอร์แยกภาพที่มีลักษณะเหมือนกล้องส่องทางไกล แมลงหรือหนอนเหล่านี้สามารถบินได้ 6-9 เซ็นติเมตรในระยะเวลา 0.03 วินาที หลังจากเซนเซอร์จับความเคลื่อนไหวได้แล้ว ระบบจะคาดการณ์เส้นทางการบินของแมลงขณะที่เคลื่อนไหวทันทีจากนั้นจึงใช้เลเซอร์ยิงไปที่เป้าหมาย การใช้ระบบดังกล่าวยังสามารถจัดการให้พวกตัวดักแด้ของพวกผีเสื้อกลางคืนที่มักเคลื่อนที่เป็นกลุ่มได้ด้วย สามารถจัดการพวกตัวอ่อนที่เข้ามาทำลายพืชผักเศรษฐกิจ เช่น ข้าวโพดในระยะกว้างได้ด้วย
ระบบนี้อาจใช้ได้ผลดีโดยเฉพาะกับพวกตั๊กแตนทะลทรายที่เข้ามาทำลายพืชผลที่กำลังเป็นภัยคุกคามความมั่นคงทางอาหารในแอฟริกา ตะวันออกกลางและอินเดียในปัจจุบันได้ แบบจำลองสำหรับระบบกำจัดแมลงด้วยการยิงเลเซอร์ดังกล่าวคาดว่า ภายในหนึ่งครั้งน่าจะกำจัดแมลงได้มากถึง 300 ตัวต่อนาที โดยนักวิจัยคาดว่าน่าจะเริ่มทดสอบระบบในทุ่งหญ้าช่วงปี 2022 คาดว่าถ้าใช้โดรนควบคู่กับระบบดังกล่าวน่าจะยิ่งกำจัดแมลงได้อย่างทรงประสิทธิภาพ
ที่มา – Nikkei Asia
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา