โควิด-19 ยังไม่หาย วิกฤตแห่งมวลมนุษยชาติใหม่ก็มา วิกฤตอาหารขาดแคลนจาก “ตั๊กแตนระบาด”

ตั๊กแตนระบาดกำลังกลายเป็นเรื่องใหญ่ระดับโลกเพราะมันทำลายเทือกสวนไร่นาของชาวเกษตรกร ส่งผลให้เกิดวิกฤตอาหารต่อมวลมนุษย์โดยรวมได้ ตั๊กแตนระบาดทำลายไร่นาแอฟริกาฝั่งตะวันออกมาแล้ว ไม่พอยังลามไปอินเดีย ปากีสถาน จนองค์การสหประชาชาติต้องออกมาเตือนว่ามันคือวิกฤตแห่งมวลมนุษยชาติ (humanitarian crisis) เพราะมันจะทำให้โลกขาดแคลนอาหารได้ 

UN และ FAO รับมือกับวิกฤตระดับโลกนี้อย่างไร?

องค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) พูดถึงประเด็นฝูงตั๊กแตนว่ากำลังเป็นภัยคุกคามความมั่นคงด้านอาหารในแอฟริกาตะวันออกและกำลังจะลามไปยังภูมิภาคต่างๆ ด้วย กองทัพตั๊กแตนนี้มีจำนวนมากมายมหาศาลกำลังทำลายพืชพันธุ์นับแสนและเรียกร้องให้ทุกคนช่วยกันหาทางรับมือ

UN อธิบายว่า ตั๊กแตนถือเป็นสัตว์อพยพที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ชอบอยู่เป็นฝูง สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ เวลาอพยพเป็นฝูงจะสามารถใช้เวลาเดินทางเป็นระยะเวลานานๆ สายพันธุ์ที่มีความสามารถในการทำลายล้างสูงคือพันธ์ุ Desert Locust

ภาพจาก CSIRO

ด้าน FAO หรือองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization) ออกประกาศเตือนเมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา และยกระดับรับมือแบบฉุกเฉินแล้ว FAO รายงานว่า ประชาชนกว่า 12 ล้านรายในเอธิโอเปีย โซมาเลีย และเคนยากำลังวุ่นวายกับการรับมือวิกฤตอาหาร

FAO/Giampiero Diana

QU Dongyu ผู้อำนวยการ FAO ระบุว่า สถานการณ์ตั๊กแตนระบาดนี้กลายเป็นภัยคุกคามระดับสากลแล้ว เพราะมันส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารทั่วอนุภูมิภาค ทั้งเอธิโอเปีย เคนยา และโซมาเลียต่างเผชิญกับฝูงกองทัพตั๊กแตนแบบที่ไม่สามารถคาดการณ์มาก่อนได้

Katitika village, Kitui county, Kenya – A swarm of desert locusts feeding on crops. Photo by FAO/Sven Torfinn

ฝูงตั๊กแตนนี้มีจำนวนมากมายมหาศาลและมีระดับทำลายล้างสูง ตั๊กแตน 1 ฝูงมีจำนวนประมาณ 100 ล้านตัว มันสามารถเคลื่อนไหวได้ยาวไกลถึง 150 กิโลเมตรต่อวัน สามารถกินอาหารได้ชนิดที่เรียกว่ากินล้างกินผลาญ กินได้เท่าน้ำหนักตัวของตั๊กแตนเองอยู่ที่ 2 กรัม จากนั้นก็สืบพันธุ์ 

แอฟริกาตะวันออกถูกโจมตีหนัก ลุกลามมาอินเดีย ส่วนจีนกำลังเป็นพื้นที่เสี่ยง

เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลโซมาเลียและรัฐบาลปากีสถานประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อปกป้องพืชผลและชาวนา ฝูงกองทัพตั๊กแตนเพิ่งจะบุกไปยังชายแดนอินเดียและปากีสถานเมื่อสิงหาคมปีที่ผ่านมานี่เอง จำนวนของตั๊กแตนมีมากกว่า 1 หมื่นล้านตัว 

ในปากีสถาน ฝูงตั๊กแตนระบาดนี้ทำลายล้างไร่มะเขือเทศ ข้าวสาลี ฝ้าย ส่งผลให้ราคาอาหารดีดตัวสูงขึ้นทันที ขณะที่อินเดียฝั่งตะวันตกก็เผชิญกับความทุกข์ยากเช่นเดียวกัน ตั๊กแตนระบาดทำลายทุ่งเมล็ดยี่หร่าซึ่งเป็นเครื่องเทศจำนวนมากราว 10,700 เฮกตาร์ หรือประมาณ 66,875 ไร่

ล่าสุด จีนเพิ่งจะประกาศเตือนพื้นที่ที่มีพรมแดนติดต่อกับอินเดียและปากีสถานให้เฝ้าระวัง ซึ่งทางการจีนโดยหน่วยงานจัดการป่าและทุ่งหญ้าแห่งชาติ (National Forestry and Grassland Administrations) มองว่าตอนนี้ยังถือว่าจีนมีความเสี่ยงต่ำ แต่ก็น่าเป็นห่วงเพราะจีนมีความรู้ทางเทคนิคและการจัดการการเรื่องนี้น้อย ขณะเดียวกัน พื้นที่ประเทศที่เข้าข่ายเป็นกลุ่มเสี่ยงอีกหลายแห่ง เช่น ซาอุดิอาระเบีย อิหร่าน และ เยเมน 

อย่างไรก็ดี ประเทศที่มีพรมแดนเชื่อมต่อกันถือว่ามีความเสี่ยง ถ้าต้นทางที่ประสบเหตุไม่สามารถจัดการตั๊กแตนระบาดได้ก็เสี่ยงที่จะขยายลุกลามไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ล่าสุดเจ้าหน้าที่จีนก็เริ่มมีการตรวจสอบชายแดนปากีสถานเชื่อมจีนในบริเวณตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลซินเจียงแล้ว เนื่องจากต้องมีการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน เริ่มมีการตรวจสอบทั้งดินและพืชพันธุ์ที่อาจเป็นเหตุให้ตั๊กแตนฝังตัวหรือวางไข่ไว้ได้ 

เคนยาเป็นประเทศที่ถูกโจมตีหนักสุด จำนวนตั๊กแตนมากมายมหาศาลถึง 2 แสนล้านตัวทำลายล้างทุ่งเลี้ยงสัตว์และที่ดินเพาะปลูกราว 2,400 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 1.5 ล้านไร่ ทำให้ขาดแคลนอาหารที่จะเลี้ยงผู้คนกว่า 84 ล้านราย ซึ่งฝูงตั๊กแตนนี้ถือว่าทำลายล้างเอธิโอเปียและโซมาเลียหนักที่สุดในรอบ 25 ปี

Shakeel Khan ผู้เชี่ยวชาญด้าน FAO ปากีสถาน ระบุว่า ภาวะโลกร้อนทำให้ช่วงการผสมพันธุ์ของตั๊กแตนขยายเวลายาวนานยิ่งขึ้น จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การทำลายล้างของฝูงตั๊กแตนนี้ไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า ฝูงตั๊กแตนสามารถเคลื่อนไหวได้ยาวไกล 150 กิโลเมตรต่อวัน ทาง FAO ระบุว่ากำลังหางบประมาณ 138 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 4.3 พันล้านบาทเพื่อต่อสู้กับแมลงเหล่านี้ โดยเฉพาะในพื้นที่แอฟริกาตะวันออกที่มีตั๊กแตนระบาด

ที่มา – Nikkei Asian Review, UNUN Environment, FAO

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
สนใจความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การทูต การเมือง ประชาธิปไตย เสรีภาพ ความยุติธรรมและความเท่าเทียม ชอบอ่าน ชอบเขียน ชอบสืบค้นข้อมูล ชอบทำคอนเทนต์