รถไฟญี่ปุ่นออกไวไป 20 วินาที ขอโทษอย่างสุดซึ้ง รถไฟไทยช้าไป 30 นาที ขออภัยในความไม่สะดวก

อ่านไม่ผิด! รถไฟญี่ปุ่นสายสึกุบะเอ็กซ์เพรสของญี่ปุ่น เดินทางออกจากสถานีเร็วเกินไป 20 วินาที ยังไม่จบวัน ทางบริษัทก็ออกมาแสดงความขอโทษอย่างสุดซึ้ง ส่วนคนกรุงเทพฯ 5 เดือนที่แล้วเพิ่งเจอเหตุการณ์ระบบสัญญาณรถไฟฟ้าหลุดกะทันหัน ล่าช้าไป 30 นาที เราควรเรียนรู้อะไรบ้างจากเรื่องนี้?

รถไฟญี่ปุ่นออกเร็วไป รีบออกแถลงการณ์ขอโทษอย่างสุดซึ้ง

รถไฟสายสึกุบะ เอ็กซเพรส (Tsukuba Express line) ของญี่ปุ่นที่วิ่งเชื่อมกับอะกิฮะบะระในกรุงโตเกียวกับสถานีรถไฟสึกุบะในจังหวัดอิบะระกิ เดินทางออกจากสถานีมินามิ-นางาเรยามะก่อนเวลาที่กำหนด 20 วินาที จากแต่เดิมที่ 9.44.00 น. เป็น 9.43.40 น.

ภายในวันเดียวกันนั้น ทางบริษัทสึกุบะ เอ็กซ์เพรส ผู้ให้บริการได้ออกแถลงการณ์ขอโทษ ใจความว่า

“ทางบริษัทต้องขออภัยอย่างสุดซึ้ง

ต่อความไม่สะดวกในการเดินทางของลูกค้า”

อาจฟังดูเป็นเรื่องตลกขบขันในความสัตย์ซื่อต่อเวลาของชาวญี่ปุ่น แต่เอาเข้าจริงแล้ว การออกรถไวไปอาจส่งผลให้ผู้โดยสารที่คำนวณเวลามาอย่างพอดิบพอดีต้องพลาดรถไฟเที่ยวนั้นไปได้ การที่รถไฟออกไวไปเพียง 20 วินาทีอาจทำให้ผู้โดยสารบางคนไปถึงจุดนัดหมายช้ากว่าที่กำหนด 15 นาทีก็เป็นได้ เพราะต้องรอรถไฟขบวนถัดไป

รถไฟสายสึกุบะ เอ็กซเพรส (Tsukuba Express line) ของญี่ปุ่น

รถไฟไทยออกช้าครึ่งชั่วโมง ระบบจับสัญญาณหลุดกะทันหัน

ต้องออกตัวก่อนว่า ผู้เขียนไม่ได้มีความจงใจในการเปรียบเทียบเพื่อให้เกิดการมองประเทศไทยในแง่ร้าย แต่ต้องเอาข้อเท็จจริงมาวางให้เห็นด้วยความหวังดี เพราะเหตุการณ์ล่าสุด เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อกลางปี 2017 นี้เองที่ระบบรถไฟฟ้าไทยเกิดเหตุขัดข้อง

กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่า เมื่อวันที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมา “รถไฟฟ้าบีทีเอสล่าช้ากว่า 30 นาที หลังระบบจับสัญญาณหลุดกะทันหัน ทำระบบการเดินรถหยุดอัตโนมัติ”

ในวันเดียวกันนั้น ไทยรัฐ ได้มีรายงานเช่นกันว่า ในเวลา 17.42 น. รถไฟฟ้า ขัดข้องที่สถานีบางจาก ทำให้ขบวนล่าช้าไป 30 นาที จนเมื่อเวลา 18.02 น. รถไฟฟ้าจึงกลับมาใช้งานได้

จากข้อมูลที่มีในวันนั้น ทางรถไฟฟ้า BTS ได้ทำการประกาศ “ขออภัยในความไม่สะดวก” และขอให้ผู้โดยสารที่กำลังเดินทางสามารถคืนตั๋วได้หรือให้เลือกไปใช้ระบบขนส่งสาธารณะรูปแบบอื่น

ที่น่าสนใจคือ เหตุการณ์รถไฟฟ้าขัดข้องในปีนี้ดำเนินควบคู่ไปกับข่าวคราวเรื่องการประกาศจะปรับขึ้นค่าโดยสารเฉลี่ยเที่ยวละประมาณ 1-3 บาท อย่างไรก็ตาม โพสต์ทูเดย์ ระบุว่า ค่าโดยสารใหม่จะปรับขึ้นหลังวันที่ 31 มีนาคมปีหน้า

รถไฟฟ้าบีทีเอสของไทย

ทำไม “คำขอโทษ” จึงสำคัญ?

คำตอบที่ง่ายที่สุดคือ เพราะนอกจากคำขอโทษจะแสดงให้เห็นถึงความจริงใจต่อการปฏิบัติงานที่ผิดพลาดแล้ว ยังเป็นการย้ำเตือนให้กับผู้ปฏิบัติงานบริการ โดยเฉพาะในพื้นที่สาธารณะ จะต้องหันมาทบทวนอย่างน้อย 2 สิ่งคือ “ความสัตย์ซื่อ” และ “ความรับผิดชอบในการทำงาน” 

มากกว่านั้น การออกมาขอโทษเป็นการรับประกันในมาตรฐานขั้นต่ำว่า กรณีความผิดพลาดลักษณะนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก หรือถ้าเกิดขึ้นต้องเกิดภายใต้ความสุดวิสัย เกินความควบคุมอย่างแท้จริง เพราะต้องไม่ลืมว่า คำขอโทษ ถ้าใช้พร่ำเพรื่อในความผิดพลาดเดิมๆ ในท้ายที่สุดก็ย่อมหมดสิ้นซึ่งมนต์ขลัง แต่ในขณะเดียวกันหากคำขอโทษไม่เคยถูกนำไปใช้ในกรณีความผิดซ้ำซากเดิมๆ เลย ก็จะนำไปสู่ความไม่พึงพอใจได้ อย่างชนิดที่ไม่ยากจนเกินไปนัก

อ้างอิงข่าวรถไฟญี่ปุ่น – BloombergJapantoday

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา