คุณจะรู้สึกอย่างไร หากต้องทนทุกข์อยู่ในที่ทำงานเดิมๆ ได้เงินก็น้อย แถมยังไปไหนไม่ได้ เพราะกฎหมายไม่อนุญาตให้คุณย้ายงานก่อนกำหนด?
เมื่อไม่นานมานี้ ญี่ปุ่น ประเทศที่มีแรงงานต่างชาติกว่า 2 ล้านคน ได้ประกาศมาตรการใหม่สำหรับโครงการแรงงานต่างชาติ โดยลดระยะเวลาการทำงานจาก 3 ปีเต็ม สู่ 1 – 2 ปี ถึงจะอนุญาตให้ลูกจ้างย้ายงานใหม่ได้ เรียกได้ว่าเป็นข่าวดีสำหรับผู้ร่วมโครงการเลยทีเดียว
นี่คือข่าวร้ายของธุรกิจในจังหวัดขนาดเล็ก เนื่องจากพวกเขาเกรงว่าแรงงานจะย้ายไปเมืองใหญ่กันหมด และจังหวัดโคชิคือหนึ่งในพื้นที่ที่กังวลเรื่องนี้
ยิ่งย้ายงานง่าย แรงงานยิ่งเปลี่ยนงานบ่อย
เมื่อเทียบค่าแรงขั้นต่ำของโคชิกับโตเกียวแล้ว ค่าแรงของโตเกียวนั้นสูงกว่าถึง 50 บาทต่อชั่วโมง และจากความเห็นโดยเจ้าที่หน้ากรมสวัสดิการและแรงงานประจำจังหวัด “ธุรกิจในพื้นที่กลัวว่ามาตรการใหม่นี้จะทำให้แรงงานที่พวกเขาพร่ำฝึกฝน ย้ายไปอยู่เมืองใหญ่กันเสียหมด”
หากจะปฏิเสธว่าธุรกิจเล็กๆ เหล่านี้คิดมากไปเอง ก็คงจะไม่ได้ ดูจากโครงการแรงงานทักษะสูงเป็นตัวอย่าง
ในปี 2019 โครงการนี้อนุญาตให้แรงงานสามารถย้ายงานได้แบบไม่มีเงื่อนไขจำกัด และจากสถิติโดยสำนักงานกำกับคนเข้าเมือง “39% ของ 95,000 คนที่เพิ่งเข้าโครงการนี้มา ตัดสินใจย้ายงานไปจังหวัดอื่นที่ตนต้องการ”
หลักๆ แล้วจังหวัดยอดฮิตในการทำงานคือ โอซาก้า และ ไซตามะ ซึ่งอยู่ใกล้เมืองหลวงอย่างโตเกียว ในทางกลับกัน ฮิโรชิม่า และ ฮอกไกโด กลายเป็นจังหวัดที่คนงานย้ายออกมากที่สุด
จังหวัดเล็กแก้ปัญหา แม้กังวลจะไม่มีคนทำงาน แต่ถ้าใครอยู่ต่อ ก็พร้อมปั้นให้เก่งขึ้น
เมื่อแรงงานมีอิสระในการย้ายงานมากขึ้น จังหวัดเล็กๆ จึงเริ่มหาวิถีทางในการรักษาคนงานไว้
ในปีนี้ จังหวัดโคชิได้ออกมาตรการมอบเงินเกือบ 70,000 บาทให้แรงงานต่างชาติได้ไปลงเรียนภาษาและวัฒนธรรมของโคชิ แลกกับการมาทำงานที่นี่เป็นระยะเวลา 3 ปี โดยเป้าหมายของนโยบายนี้คือเพื่อให้แรงงานมีความคุ้นเคยกับพื้นที่และสร้างแรงจูงใจให้พวกเขาอยากอยู่ต่อนานๆ
เช่นเดียวกันกับฮิโรชิม่า เพราะเมื่อปีที่แล้ว ทางจังหวัดออกมาตรการให้ความช่วยเหลือแรงงานต่างชาติในการพัฒนาทักษะ เพื่อที่จะเลื่อนขั้นจากแรงงานประเภท 1 ไปเป็นแรงงานประเภท 2 ซึ่งเป็นประเภทที่สามารถอาศัยอยู่ญี่ปุ่นได้ถาวร
นอกจากนี้ ฮิโรชิม่าได้มอบเงินอุดหนุนมูลค่าเกือบ 7 แสนบาทเป็นค่าใช้จ่ายให้บริษัทต่างๆ อบรมและฝึกพนักงานต่างชาติของตนเอง แถมยังส่งผู้เชี่ยวชาญมาคอยให้คำแนะนำอีกด้วย
จังหวะคานางาวะก็ไม่ยอมแพ้ จัดทีมให้คำปรึกษาแก่แรงงานต่างชาติที่ครอบคลุมหลากหลายประเด็น เช่น การเรียนภาษาญี่ปุ่น การย้ายครอบครัวมายังพื้นที่ หรือ สวัสดิการของบุตร เพื่อหวังจะแก้ไขปัญหาแรงงานขาดแคลน
แม้โปรแกรมนี้จะถูกสร้างขึ้นมาเมื่อสิงหาคม 2023 แต่จากข้อมูลในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีคนเข้ารับบริการเพียงแค่ 12 เคสเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ผู้ดูแลเชื่อว่าพวกเขาจะสามารถทำให้ระบบนี้กลายเป็นที่รู้จักและมีคนเข้ามารับคำปรึกษามากขึ้น
สุดท้ายนี้ ญี่ปุ่นยังคงต้องการแรงงานต่างชาติอีกจำนวนมาก โดยมีการคำนวณไว้ว่าในปี 2040 ประเทศจำเป็นต้องมีแรงงานต่างชาติอย่างน้อย 6.74 ล้านคน ดังนั้น แต่ละพื้นที่ รวมถึงรัฐบาล คงแข่งกันออกมาตรการเพื่อดึงดูดแรงงานไว้ และ เราคงต้องให้กำลังใจธุรกิจท้องถิ่นกันต่อไป เพราะงานนี้คงไม่ง่ายเท่าไหร่นัก
แหล่งที่มา: NIKKEI Asia / The Japan Times
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา