บ้านมือสองในญี่ปุ่นซื้อขายไม่คล่อง เพราะประเมินกันไม่ได้ เลยส่ง AI มาช่วยจัดการด้วย Big Data

ในวงการอสังหาฯ ญี่ปุ่น ประสบปัญหากับ “บ้านมือสอง” มาสักพัก เนื่องจากคนขายไม่กล้าขาย คนซื้อก็ไม่กล้าซื้อ เพราะไม่รู้ราคาจริง ประเมินกันไม่ถูก ช่วงหลังมานี้เลยเกิดบริษัท Retech กันมากขึ้น เป็นการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์

Photo: Pixabay

AI ช่วยประเมินราคาบ้านมือสองในญี่ปุ่น

คล้ายๆ กับในหลายวงการที่ต้องเอาเทคโนโลยีเข้าไปช่วย ในวงการอสังหาริมทรัพย์ญี่ปุ่น มีหนึ่งปัญหาหนึ่งที่ค้างคามานาน นั่นคือ “การประเมินราคาบ้านมือสอง” นับเป็นตัวเลขก็ประมาณ 8.2 ล้านยูนิต หรือสูงกว่า 10% ของที่อยู่อาศัยทั้งหมดในญี่ปุ่น และยังคาดว่าในปี 2030 ตัวเลขบ้านมือสองจะสูงขึ้นไปถึง 30% เลยด้วยซ้ำ

ประเด็นคือ บ้านมือสองเพิ่มขึ้นทุกวัน แต่คนไม่กล้าซื้อ ไม่กล้าขายกันอย่างเต็มที่ เพราะประเมินราคากันไม่ได้

ในวงการที่เรียกกันว่า Retech หรือ real estate technology คือการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในญี่ปุ่นจึงเกิดบริษัทขึ้นมากว่า 50 – 60 แห่งในช่วงนี้ หลักๆ ก็เพื่อมาแก้ปัญหาในจุดนี้ ด้วยการใช้ AI เก็บ Big Data เพื่อช่วยประเมินราคาบ้านมือสองทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้แม่นยำมากขึ้น

Photo: Pixabay

Collabit เป็นหนึ่งใน Retech ที่นำโดย Tsuyoshi Asami ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง ที่เริ่มต้นสร้างแพลตฟอร์มประเมินราคาบ้านมือสองจากความหงุดหงิดส่วนตัว

เรื่องมีอยู่ว่า 5 ปีที่แล้ว Asami ต้องการขายบ้านในย่านชานเมืองของ Yokohama เพื่อย้ายตามบริษัทไปทำงานในโตเกียว แต่เขาไม่กล้าขาย เพราะไม่รู้ว่าจะคุ้มค่าหรือไม่ ตั้งแต่วันนั้นมาเขาเลยเริ่มศึกษาและสร้างวิธีประเมินราคาบ้านมือสอง โดยเริ่มจากใช้ AI เก็บข้อมูลการทำธุรกรรม ซื้อขายบ้านในบริเวณใกล้เคียง ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ เพราะจากการประเมินราคาบ้านด้วย AI ตัวนี้แล้ว ราคาบ้านที่เขาจะขายจริงสูงกว่าที่เขาคาดไว้อยู่เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม เขาเรียกโปรแกรมที่สร้างขึ้นมาใช้งานในตอนแรกว่า Chome

นอกจากนั้นยังมี Retech อีกหลายราย เช่น Renoveru ที่มุ่งเน้นในการช่วยผู้บริโภคติดต่อซื้อขายห้องว่างมือสองเก่าๆ เช่น สร้างมาได้ 20 ปีแล้ว ตามคอนโดต่างๆ ในญี่ปุ่น ธุรกิจถือว่าไปได้ดี เพราะการแพร่กระจายข้อมูลข่าวสารทำผ่านสื่อออนไลน์ในแพลตฟอร์ต่างๆ อย่างหลากหลาย

Tomohiro Yamashita ประธานของ Renoveru พูดถึงธุรกิจของตัวเองว่า “เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับของมือสอง” แล้วเอาเข้าจริง ต้องนับว่าเป็นการเพิ่มความโปร่งใสในวงการอสังหาริมทรัพย์อีกด้วย เพราะการเปิดราคาที่ผ่านการประเมินอย่างหลากหลาย นอกจากจะเป็นผลดีต่อการซื้อขายแล้ว ยังจะทำให้การผูกขาดราคาในวงการนี้เกิดขึ้นได้ยากขึ้นตามไปด้วย

ถือเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม เพราะทั้ง Collabit และ Renoveru ต่างก็ใช้เทคโนโลยีเข้ามาในช่วยทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของญี่ปุ่นดูมีความหวังขึ้น หลังจากมีแนวโน้มลดลงมาตลอด 15 ปีที่ผ่านมา

สำหรับในไทยเองก็มีบริษัทสตาร์ทอัพแนวนี้ที่เพิ่งเปิดตัวไปไม่นานชื่อว่า Baania ลองเข้าไปอ่านเพิ่มเติมกันได้

ที่มา – Nikkei Asian Review

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา