เข้าสู่ยุค ‘ปลาหมึก’ แพงกว่า ‘วากิว’ คนขายทาโกะญี่ปุ่นโอดครวญ เงินเฟ้อทำพิษ

จะเป็นอย่างไร ถ้าค่าครองชีพประเทศคุณสูงขึ้นจนไม่สามารถซื้อของราคาปกติได้?

Japan
Photo by Alex Knight on Unsplash

ญี่ปุ่นคือหนึ่งในประเทศที่ราคาอาหารสูงขึ้นเป็นอย่างมาก ข้อมูลจาก Teikoku Databank ระบุว่า ราคาอาหารที่คนซื้อบ่อยๆ กว่า 600 รายการ จาก 195 แบรนด์ กำลังแพงขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ผู้บริโภคต้องหันมาประหยัดค่าใช้จ่าย

คนญี่ปุ่นรายหนึ่งที่ให้สัมภาษณ์วัย 64 ปี เล่าว่า “ถ้าฉันไม่ซื้อของที่ลดราคา เงินที่เหลืออยู่ก็จะรัดตัวมากๆ”

ผลสำรวจของ Locoguide  พบว่า กว่า 60% ของผู้บริโภค รู้สึกว่าราคาผลิตภัณฑ์จากนมและไข่มีราคาสูงขึ้นมากๆ

ต้นตอของปัญหาทั้งหมดนี้คือภาวะเงินเฟ้อในญี่ปุ่น ซึ่งเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง ทั้งโลกต้องการธัญพืชมากขึ้น ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานสูงขึ้น และการขาดแคลนพนักงาน

ที่สำคัญ ค่าเงินเยนนั้นอ่อนลงอย่างมาก ส่งผลให้ประชาชนในประเทศมีกำลังซื้อน้อยลง

ปลาหมึก แพงกว่า เนื้อวากิว

วันนี้หากเราไปเดินตลาดปลาในโตเกียว จะพบว่าปลาหมึกแช่แข็งนั้นราคาสูงเกือบๆ 400 บาทต่อกิโลกรัม

แพงขึ้นจาก 10 ปีที่แล้วถึงสองเท่า ทั้งยังแพงกว่าราคาเนื้อวากิว A2 (เกรดที่ร้านอาหารมักใช้) ราวๆ 10 – 20 บาทต่อกิโลกรัม

ทางด้าน Aidsuya แบรนด์ทาโกะยากิที่ทำจากปลาหมึก ก็ไม่อาจสู้ราคาตลาดโลกได้ เนื่องจากตอนนี้ปลาหมึกกำลังกลายเป็นที่นิยมอย่างมากในยุโรปและจีน ส่งผลให้มีคู่แข่งมากขึ้น ราคาจึงสูงขึ้นตาม

ค่าใช้จ่ายในการซื้อปลาหมึกของ Aidsuya นับเป็น 70 – 80% ของวัตถุดิบทั้งหมด และในตอนนี้ทางบริษัทก็ต้องซื้อปลาหมึกในราคาที่แพงกว่าเดิมถึง 10% ทำให้ต้องขึ้นราคาสินค้าไปเมื่อกลางปีที่แล้ว 

อย่างไรก็ตาม Masaru Endo หัวหน้าแบรนด์ เผยว่า “เราอาจจะต้องขึ้นราคาอีกในไม่ช้า”

แน่นอนว่า ปัญหานี้กระทบไปถึงร้านทาโกะยากิทั่วญี่ปุ่น เนื่องจากพ่อค้าแม่ค้ายังอยากขายมันในราคาเพียง 500 เยน เพื่อที่ลูกค้าจะได้จ่ายด้วยเหรียญเดียวเท่านั้น แต่ถ้าจะคงราคานี้ไว้ ภาระทั้งหมดก็จะมาตกอยู่ที่ร้านเล็กๆ เพียงผู้เดียว

ถึงจะถูกกว่าปลาหมึก แต่เนื้อก็ยังแพง

ปัจจุบัน ราคาของเนื้อนำเข้าจากสหรัฐอเมริกานั้นแพงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งซ้ำเติมกับทางญี่ปุ่นเองที่เงินเยนก็อ่อนค่าลงถึง 12% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ด้วยเหตุนี้ ญี่ปุ่นจึงพยายามหลีกเลี่ยงการซื้อเนื้อเข้าประเทศ 

ในทางกลับกัน เงินวอนของเกาหลีใต้อ่อนลงเพียง 5% เท่านั้นเมื่อเทียบกับสกุลดอลลาร์ และภาษีการนำเข้าสินค้าก็ต่ำกว่าญี่ปุ่น จึงส่งผลให้ตอนนี้เกาหลีใต้กลายเป็นแหล่งส่งออกเนื้อที่ใหญ่ที่สุดของอเมริกา แทนที่อดีตอย่างญี่ปุ่นไปแล้ว

Yasutaka Kawamura ประธานบริษัท Yoshinoya เครือร้านข้าวหน้าเนื้อและหนึ่งในผู้ซื้อเนื้อรายใหญ่ เผยว่า “อุปทานเนื้อวัวในประเทศคงจะไม่เพิ่มขึ้นไปสักระยะ และพวกเราเองก็กำลังพิจารณาการขึ้นราคาสินค้า”

ราคาอาหารสวนทางกับค่าแรงขั้นต่ำ

จากสถิติโดยรัฐบาลญี่ปุ่น ในปี 2023 ครัวเรือนที่มีสมาชิกตั้งแต่สองคนขึ้นไปใช้เงิน 27.8% ไปกับค่าอาหาร ถือว่าเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดในรอบ 24 ปี 

อย่างไรก็ตาม ค่าแรงขั้นต่ำก็ไม่ได้มากขึ้นตามเงินเฟ้อ จนทางการเริ่มกังวลว่าผู้คนจะใช้จ่ายน้อยลง โดยเฉพาะกับสินค้าหรือบริการที่ไม่จำเป็น เช่น การท่องเที่ยว

คุณลุงท่านหนึ่งผู้ประกอบอาชีพปลูกผักอยู่ในโตเกียว เผยความในใจว่า “ราคาปุ๋ยและอุปกรณ์ต่างๆ แพงขึ้นมาก แต่ผมก็ไม่สามารถขึ้นราคาขายได้ จนตอนนี้แทบจะไม่มีกำไรเลย”

ในปีที่แล้ว ญี่ปุ่นเหลือเกษตรกรอยู่เพียง 929,400 คน น้อยกว่าปี 2007 ถึงสองเท่า และจากงานวิจัยโดย Tokyo Shoko Research เกษตรกร 82 รายต้องล้มละลายเพราะปัญหาหนี้สินรวมๆ แล้วเกิน 2 ล้านบาท 

จากกรณีดังกล่าว จะเห็นได้เลยว่าภาวะเงินเฟ้อสามารถทำร้ายชีวิตคนได้ขนาดไหน และหากรัฐบาลญี่ปุ่นยังไม่จัดการปัญหาเร็วๆ นี้ คนที่เดือดร้อนที่สุดก็คงไม่พ้นประชาชน

แหล่งอ้างอิง: NIKKEI Asia

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา