ญี่ปุ่นปรับแนวทางใหม่ ชาวต่างชาติสายไอทีขออยู่ยาวง่ายขึ้น ใช้เวลาอนุมัติเดือนเดียวจากเดิม 3 เดือน

ญี่ปุ่นเตรียมย่นระยะเวลาอนุมัติการขอพักอาศัยในญี่ปุ่นระยะยาวให้กับวิศวกร IT จากเดิมที่ใช้เวลาอย่างน้อย 3 เดือนเหลือเดือนเดียว เริ่มเร็ว ๆ นี้ เหตุต้องการแรงงานในเขตพิเศษยุทธศาสตร์ (National Strategic Special Zones) 

ตามกระบวนการขออาศัยในระยะยาวในญี่ปุ่นตามปกติ วิศวกรจากต่างประเทศจะต้องขออนุมัติก่อนด้วยการส่งข้อมูลบริษัทผู้จ้างงานในญี่ปุ่น ประสบการณ์ทำงาน และทักษะด้านอาชีพให้กับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของญี่ปุ่นก่อน และจะต้องรอการอนุมัตินานที่สุด 3 เดือน

สำหรับบริษัทขนาดเล็กและขนาดหลางที่ไม่เคยจ้างงานชาวต่างชาติมาก่อนจะต้องทำเรื่องขออนุมัติที่กินเวลาอย่างน้อย 3 เดือน ซึ่งรวมถึงการที่จะต้องมีการตรวจสอบบริษัทก่อนด้วยเพื่อป้องกันไม่ให้ชาวต่างชาติที่เข้ามาว่างงานจากการที่บริษัทนายจ้างล้มละลาย

กระบวนการที่ยาวนานกระทบต่อทั้งฝั่งแรงงานจากต่างประเทศและนายจ้างที่เป็นบริษัทในญี่ปุ่น เพราะฝ่ายลูกจ้างจะไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศได้ ส่วนบริษัทก็จะขาดแคลนบุคคลากรด้าน IT

จากปัญหานี้ ทำให้ญี่ปุ่นเตรียมเปลี่ยนมาใช้ระบบใหม่ที่ให้รัฐบาลท้องถิ่นเป็นผู้ตรวจสอบบริษัทนายจ้างไว้ล่วงหน้า โดยที่ปรึกษาที่ได้รับการว่าจ้างจากเทศบาลจะเข้าตรวจสอบสถานะทางการเงินและรายละเอียดของตำแหน่งงานในบริษัทก่อนเพื่อดูว่าบริษัทมีการจัดการทักษะและทรัพยากรบุคคลดีพอที่จะจ้างชาวต่างชาติหรือไม่ บริษัทที่ผ่านเกณฑ์จะได้รับอนุญาตให้จ้างงานได้

ระบบใหม่จะช่วยลดภาระของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองระดับภูมิภาคได้ เนื่องจากปัจจุบันมีชาวต่างชาติเข้ามาพักอาศัยในญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก จากข้อมูลของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของญี่ปุ่นเผยว่า ชาวต่างชาติที่เข้ามาอยู่ในญี่ปุ่นเป็นระยะยาวมีอยู่ราว 3,070,000 คนในช่วงสิ้นปีที่แล้ว นับว่าเป็นครั้งแรกที่มีจำนวนเกิน 3,000,000 คน

รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังจัดทำกรอบของระบบใหม่นี้ในเขตพิเศษทางยุทธศาสตร์ 13 แห่งทั่วประเทศ รัฐบาลท้องถิ่นที่มีแผนว่าจะรองรับกระบวนการนี้จะจัดทำแผนการที่รวมถึงการกำหนดคุณสมบัติของบริษัทที่จะได้รับอนุญาตให้จ้างงานชาวต่างชาติด้วย

ขณะนี้เมืองฟุกุโอกะที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของญี่ปุ่นกำลังวางแผนที่จะทำให้กระบวนการตรวจสอบวิศวกรต่างชาติที่จะเข้ามาทำงานในอุตสาหกรรม IT ใช้เวลาน้อยลงอีก และคาดว่าจะเป็นหนึ่งในเมืองแรก ๆ ที่จะนำระบบใหม่นี้มาใช้ 

ที่มา – Nikkei Asia

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา