บริษัทญี่ปุ่นเดินหน้าแบนการทำงานดึกเกิน 2 ทุ่ม: Itochu พิสูจน์แล้ว ไม่เพิ่มผลิตภาพ แถมลดอัตราการเกิด

พอแล้ว!! เลิกทำงานดึก!!

Bloomberg รายงาน หลังจากที่ Masahiro Okafuji ขึ้นเป็น CEO ของบริษัท Itochu เมื่อปี 2010 ที่ผ่านมา เขาก็เริ่มพัฒนาระบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเป็นอันดับแรกๆ เพื่อให้บริษัทมีความสามารถในการแข่งขันกับบรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ที่เป็นคู่แข่งในญี่ปุ่น

Working

สิ่งที่เขาเลือกทำ คือการใช้นโยบายสวนทางวิถีการทำงานแบบเดิมๆ ของคนญี่ปุ่น ที่เน้นการทำงานอย่างหนัก ทำงานอย่างบ้าคลั่ง จนเป็นเหตุให้เสียชีวิตจากการทำงานครั้งแล้ว ครั้งเล่า วิถีใหม่สำหรับการทำงานยุคใหม่ของญี่ปุ่นก็คือ การแบน การห้ามไม่ให้มีการทำงานหลัง 2 ทุ่ม ต่อจากนี้จะไม่มีการทำงานล่วงเวลา หรือไม่มี OT อีกต่อไป

โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความปลอดภัยและเจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรจะผนึกกำลังคอยสอดแนมผู้คนในตึก ด้วยการบอกให้พวกเขากลับบ้านซะ เลิกทำงานดึกได้แล้ว!

ด้านรองประธาน Itochu ระบุว่า บริษัทต้องการเพิ่ม Productivity ในการทำงานเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่คิดว่ามันอาจจะส่งผลกระทบต่ออัตราการเกิด ซึ่งทางรัฐบาลญี่ปุ่นก็พยายามที่จะเพิ่มอัตราการเกิดของประชากรอย่างหนัก แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ ขณะที่บริษัท Itochu เอง กลับเห็นอัตราการเกิดในหมู่ของพนักงานประจำเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว นับตั้งแต่ Okafuji ขึ้นเป็น CEO สัดส่วนการเกิดของเด็กเพิ่มขึ้น คิดเป็นเกือบ 2 คนต่อพนักงานหญิง 1 รายในช่วงปลายเดือนมีนาคม ปีงบประมาณ 2022 ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราการเกิดทั่วประเทศของญี่ปุ่นที่อยู่ที่ 1.3

อย่างที่เรารู้กันดีว่า วัฒนธรรมการทำงานของญี่ปุ่นนั้น มีห้วงเวลาทำงานที่แสนโหด มีชั่วโมงยาวนาน  พอเลิกงานก็พาไปกันไปสังสรรค์ต่อ ทั้งกิน ทั้งดื่มกับเพื่อนร่วมงาน แต่ผลกระทบที่มักเกิดกับผู้หญิงวัยทำงานส่วนใหญ่ก็คือ พวกเธอยังมีลูกน้อยที่ต้องดูแลอีก ไหนจะต้องรักษาความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน ไหนจะงานหนักที่ต้องรับผิดชอบ เรียกว่าภาระมากมายเต็มบ่า

ดังนั้น การสั่งแบนการทำงานดึกเกิน 2 ทุ่มของ Itochu จึงช่วยลดแรงกดดันได้บ้าง นอกจากนี้ หลังช่วงโควิดระบาด พนักงานก็มีทางเลือกในการทำงานจากบ้านเพิ่มมากขึ้นเป็น 2 วันต่อสัปดาห์ แถมบริษัทยังลดชั่วโมงทำงานเมื่อปีที่ผานมา จาก 8 ชั่วโมงเป็น 6 ชั่วโมง ก็ทำให้พนักงานกลับบ้านได้เร็วขึ้น

อัตราการเกิดที่เพิ่มขึ้นของพนักงาน Itochu จึงเป็นไปได้ว่าอาจได้ผลพลอยได้จากนโยบายในการทำงานขององค์กรที่ผ่อนคลายมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าไม่เพียงพนักงานหญิงเท่านั้นที่ได้รับผลประโยชน์จากนโยบายเช่นนี้ พนักงานชายใน Itochu ก็บอกเช่นกันว่า เขามีความสุขจากการทำงานมากขึ้น เพราะไม่ต้องรู้สึกผิดอีกต่อไป เมื่อออกจากออฟฟิศเร็วขึ้น เพราะมันเป็นนโยบายที่ทุกคนได้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานชายหรือหญิงก็ตาม

ที่มา – Bloomberg 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา