บริษัทญี่ปุ่นเร่งย้ายฐานการผลิตจากจีนเพื่อหลีกหนีปัญหาสงครามการค้ากับสหรัฐอเมริกา

สงครามการค้าระหว่างจีน กับสหรัฐอเมริกานั้นสร้างปัญหาให้ธุรกิจทั่วโลก หนึ่งในนั้นคือบริษัทญี่ปุ่นที่ตั้งโรงงานในจีนจำนวนมาก และเพื่อป้องกันการขี้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนของสหรัฐฯ บริษัทญี่ปุ่นจึงเร่งย้ายฐานการผลิตจากจีน

Nintendo Switch
Nintendo Switch // ภาพ maxpixel

เพื่อรักษาการเติบโตของธุรกิจเอาไว้

หลัง Donald Trump ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาตัดสินใจขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนมูลค่ารวมกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9.25 ล้านล้านบาท) อีก 10% โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. และมีแนวโน้มที่จะขึ้นมากกว่า 25% อีกด้วย ทำให้สินค้าทั้งโทรศัพท์มือถือ, เครื่องเกม และเสื้อผ้าโดนผลกระทบนี้ทั้งหมด

จากจุดนี้เองบริษัทญี่ปุ่นที่ตั้งโรงงานผลิตในประเทศจีนจำนวนมากก็ต้องดิ้นรนเพื่อรักษาการเติบโตของธุรกิจเอาไว้ เช่น Nintendo ผู้มีโรงงานผลิตเครื่องเกม Switch ในประเทศจีนก็ตัดสินใจย้ายโรงงานผลิตจากจีนไปที่เวียดนาม เช่นเดียวกับ Sony ที่อยู่ระหว่างศึกษาเรื่องนี้เช่นเดียวกัน

sony
Sony

“Sony อยู่ระหว่างศึกษาการย้ายฐานการผลิต และปรับราคาสินค้าขึ้น เพื่อรักษากำไรจากการดำเนินงานในปีปฏิทินนี้ไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านเยน (ราว 3.08 แสนล้านบาท) ซึ่งสินค้าเหล่านั้นมีทั้งเครื่องเกม Playstation 4, กล้องดิจิทัล และสินค้าอื่นๆ” Naomi Matsuoka ผู้อำนวยการอาวุโสของ Sony กล่าว

นอกจากบริษัทเทคโนโลยีแล้ว กลุ่มเครื่องถ่ายเอกสาร และเครื่องพิมพ์มัลติฟังก์ชั่นก็เตรียมย้ายฐานการผลิตออกจากจีนเช่นเดียวกัน อาทิ Sharp ที่อยู่ระหว่างตัดสินใจย้ายฐานการผลิตโน้ตบุ๊ก Dynabook จากจีนไปที่เวียดนาม หรือโรงานของ Foxconn เจ้าของบริษัทในปัจจุบัน

sharp
แบรนด์ Sharp // ภาพ Shutter Stock

รวมถึง Kyocera ที่จะสลับฐานการผลิตในจีนที่ใช้ผลิตเพื่อทำตลาดในสหรัฐอเมริกา ก็เปลี่ยนไปใช้ที่เวียดนามที่ปัจจุบันผลิตเพื่อทำตลาดในยุโรป และประเทศอื่นๆ ซึ่งการย้ายฐานการผลิตน่าจะมีมูลค่าหลายพันล้านเยน เช่นเดียวกับ Ricoh ที่จะสลับให้ที่จีนผลิตเพื่อทำตลาดในญี่ปุ่น และยุโรป ส่วนในไทยก็จะผลิตเพื่อทำตลาดในสหรัฐฯ แทน

สรุป

สงครามการค้านั้นส่งผลกระทบไปทั่วโลก และเหล่าธุรกิจต่างๆ ก็ต้องปรับตัวเพื่อรับกับเหตุการณ์นี้ให้ได้ จึงไม่แปลกที่ธุรกิจญี่ปุ่นมากมายต้องตัดสินใจย้ายฐานการผลิตเพื่อรอดพ้นจากการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนในสหรัฐอเมริกา และเชื่อว่าสงครามการค้านี้จะไม่จบลงง่ายๆ แน่นอน

อ้างอิง // Nikkei Asian Review

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา