สายไอทีก็ไม่รอด โอกาสตกงานสูง ถ้าทำได้แค่เชิงเทคนิค-เขียนโปรแกรม-ซ่อมบำรุง

Brandinside เคยนำเสนอข่าวในวงการอุตสาหกรรมไอทีอินเดียที่ตกงานระนาวเพราะทักษะไม่ถึง แถมยังมี ปัญหาภัยพิบัติที่ควบคุมไม่ได้ เมื่อปลายปีที่แล้วทำให้วงการไอทีในอินเดียน่าจะประสบปัญหาไปอีกสักพัก แต่คราวนี้จะพาไปดูกันชัดๆ กับอาชีพสายไอทีแบบเจาะลึก ชนิดที่ว่าหากใครเดินสายไอทีแล้วยังทำได้เท่านี้ ก็ให้เตรียมตัวหางานใหม่ไว้รอได้เลย

Photo: Pixabay

สายไอทีที่ไม่รอด 1 : ช่วยเหลือด้านเทคนิค สนับสนุนลูกค้า

ในอดีตคนไอทีสายนี้ได้รับความสนใจไม่น้อย เพราะการแก้ปัญหาเชิงเทคนิคในโลกออนไลน์ บริษัทไหนๆ ก็ต้องมีติดไว้เพื่อช่วยเหลือหากเกิดปัญหา ลูกค้าจะได้มีที่พึ่งพาในยามวิกฤติ แต่ตอนนี้เชื่อว่าหลายคนคงเคยเห็นมาบ้างแล้ว นั่นคือ “Chatbot” ระบบ AI ที่จะเข้ามาแทนที่คนไอทีในสายนี้ในไม่ช้าอย่างแน่นอน

สายไอทีที่ไม่รอด 2 : ทดสอบโปรแกรม

แน่นอนว่า การเขียนโค้ดในบริษัทไอทีต้องมีคนทดสอบหรือตรวจสอบโปรแกรมเพื่อให้ออกมาไม่มีข้อผิดพลาดและดีที่สุด ก่อนหน้านี้บริษัทต่างๆ อาจต้องารวิศวรไอทีที่มีความเชี่ยวชาญมาช่วยจัดการปัญหานี้ แต่ต่อไปนี้ จริงๆ คือตอนนี้ก็มีแล้ว คือ “โปรแกรมตรวจสอบอัตโนมัติ” เพราะฉะนั้น ถ้าจะเลือกเดินสายนี้ มนุษย์ไอทีสู้หุ่นยนต์ที่ถูกโปรแกรมมาไม่ได้แน่ๆ

Photo: flickr

สายไอทีที่ไม่รอด 3 : เขียนโค้ดพื้นฐาน

สายนี้แทบไม่ต้องบอกก็รู้ว่า การเขียนเป็นแค่โค้ดพื้นฐานนั้นไม่จำเป็นอีกต่อไปแล้ว เพราะตอนนี้มี “โปรแกรมสำเร็จรูป” ที่ให้ใช้กันได้ฟรีๆ ชนิดที่ว่า แต่ก่อนอาจต้องใช้เวลาในการเขียนประมาณ 8 ชั่วโมง โปรแกรมนี้ช่วยย่นย่อเหลือเพียง 2 ชั่วโมงเท่านั้น คล้ายๆ กับว่าจะสร้างอะไรสักอย่าง แล้วโปรแกรมเหล่านี้เป็นเหมือนกับ “เฟอร์นิเจอร์” ที่ให้เราเข้าไปเลือกนำมาใช้กันได้แบบง่ายดาย เอาเป็นว่าใครจะเดินสายนี้ต้องคิดให้หนัก และต้องทำงานให้หนักขึ้น และพัฒนาให้กลายเป็น นักเขียนโค้ดที่ไม่ธรรมดา อย่าทำได้แค่ระดับพื้นฐานแบบที่ใครๆ (หรือโปรแกรม) ก็ทำได้

Photo: Pixabay

สายไอทีที่ไม่รอด 4 : ซ่อมบำรุง

น่าจะรู้กันอยู่ว่าคนไอทีสายซ่อมบำรุง เอากันเข้าจริงๆ ไม่ได้ทำอะไรมากเท่าไหร่อยู่แล้ว เพราะการตรวจสอบของหลังส่งมอบ (ในที่นี้คือซอฟต์แวร์) ดังนั้น หากไม่ได้เกิดปัญหาอะไรร้ายแรงหรือจนถึงขั้นต้องแก้ไข เรียกได้ว่าแทบจะไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะก่อนการส่งมอบของ ในบริษัทจะมีฝ่ายไอทีที่อยู่หลังบ้านตรวจสอบมาก่อนแล้ว เอาเป็นว่า สายนี้นับวันจะยิ่งไม่เป็นที่ต้องการไปทุกวันๆ อย่างแน่นอน

Photo: flickr

สายไอทีที่ไม่รอด 5 : ผู้จัดการโครงการ

สายนี้น่าเป็นห่วงที่สุด เพราะโดยตำแหน่งแล้วจะได้อยู่กับเทคโนโลยีน้อยที่สุด เพราะทักษะที่สำคัญคือการจัดการ และโดยส่วนใหญ่บริษัทมักจะจ้างงานคนที่ทำให้บริษัทคล่องตัว โดยไม่ได้สนใจทักษะด้านไอทีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ต่อไปถ้าเป็นไปได้ (ซึ่งมีแนวโน้มสูงมาก) อาชีพผู้จัดการโครงการสายไอทีจะถูกจ้างน้อยลงไปเรื่อยๆ

สรุป

แม้ว่าวงการไอทีจะเป็นอนาคตอันเรืองรองในยุคที่โลกต้องเดินหน้าไปสู่ “ยุคดิจิทัล” มากขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้าอยู่สายไอทีและทำได้แค่ทักษะพื้นๆ ไม่พัฒนาทักษะให้มากขึ้น/สูงขึ้น ก็ต้องเตรียมตัวออกจากวงการไปหาอะไรอื่นทำเหมือนกัน

เอาเข้าจริงแล้ว ไม่ใช่แค่วงการไอที แต่จะเป็นเหมือนกันแทบทุกวงการและทุกสาขาอาชีพที่ต้องพัฒนาและปรับปรุงตัวอยู่ตลอด และที่สำคัญคือ ต้องไม่ลืมว่าการปรับตัวนั้นสำคัญ เพราะในโลกที่หมุนไวขึ้นทุกวัน การยืนอยู่กับที่ก็เท่ากับถอยหลังลงไปเท่านั้นเอง

ที่มา – QUARTZ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา