ในทุกเช้าที่ตื่นมา ถ้าพอมีเวลาก็ขอหยิบโทรศัพท์มาเช็คเรื่องราวบนโซเชียลมีเดียสักหน่อย เผื่อว่าเมื่อคืนเรานอนเร็วเกินไปจนพลาดดราม่าสนุก ๆ พอถึงเวลาทำงานก็จ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์อยู่ทั้งวัน ตกเย็นมาก็ไถโทรศัพท์อีกเหมือนเดิมเพื่อผ่อนคลายจนถึงก่อนนอน
เล่นหนักเข้าก็เริ่มอารมณ์บูดจากเรื่องราวร้าย ๆ ในชีวิตคนอื่นที่เห็นตามโซเชียลทแล้วเก็บมาคิดเหมือนเป็นเรื่องของตัวเอง ทั้งอารมณ์ขุ่นจากเรื่องราวดี ๆ ที่เราก็อยากจะมีบ้าง ถึงเวลาต้องออกจากโซเชียลเพื่อพักสมองและไปใช้ชีวิตอย่างสงบ แต่จะให้ตัดขาดจากโลกอินเทอร์เน็ตเลยก็ไม่ได้เพราะเราอยู่ในยุคที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลายกลายเป็นอวัยวะส่วนที่ 33 ของร่างกายไปแล้ว
ในปี 2012 นักวิจัยได้ใช้คำว่า Digital Detox เป็นครั้งแรก โดยมีความหมายถึงการพักจากการอยู่หน้าจอโทรศัพท์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หยุดเข้าโซเชียลมีเดีย หรือแม้แต่พักการประชุมทางไกลเพื่อลดความเครียด ลดการใช้เวลาในโลกเสมือนเพื่อตั้งใจใช้ชีวิตในโลกจริง
คำว่า Digital Detox เกิดในช่วงเวลาที่โทรศัพท์มีความสำคัญจนตัดขาดได้ยาก แต่ถ้าเทียบกับการเลิกใช้โทรศัพท์ในตอนนี้ก็อาจเป็นเรื่องง่ายเหมือนปลอกกล้วย เพราะในยุคนี้ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็ล้วนต้องใช้โทรศัพท์ทั้งสิ้น ตั้งแต่จ่ายบิลในร้านอาหาร สานสันพันธ์กับคนรอบตัวผ่านแอป ทำงานด้วยคอมพิวเตอร์ทั้งวัน
ผู้เชี่ยวชาญมองว่าการหยุดใช้โทรศัพท์สัก 2-3 วันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้อีกต่อไปสำหรับคนส่วนใหญ่ Emily Cherkin ผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาด้านการจัดการเวลาดิจิทัลกล่าวว่า เทคโนโลยีฝังอยู่ในชีวิตคนเราไปแล้ว การพูดว่าจะไม่ใช้โทรศัพท์สักอาทิตย์นึงก็เหมือนการดึงตัวเองไปสู่สิ่งที่จะล้มเหลวแน่นอน
การตัดขาดจากสมาร์ทโฟนเป็นเรื่องยากขึ้นหลังจากช่วงโควิด-19 ที่ต้องใช้หน้าจอทั้งวันเพื่อเชื่อมต่อกับโลกภายนอก อย่างในสหราชอาณาจักร การศึกษาจาก University of Leeds เผยว่า คน 54% อยู่หน้าจอบ่อยกว่าช่วงก่อนโควิด และครึ่งหนึ่งอยู่หน้าจอ 11 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้น นอกจากนี้ 51% อยู่กับหน้าจอมากขึ้นเพื่อผ่อนคลายเทียบกับช่วงก่อนโควิด ขณะที่ 27% อยู่หน้าจอมากขึ้นจากการทำงาน
BBC ถึงกับเรียกว่าตั้งแต่ยุคโควิดจนถึงตอนนี้ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนไปสู่ Hybrid Work เท่านั้น แต่ยังเป็นยุคของ Hybrid Relationship ด้วย ทำให้จากเดิมที่ Digital Detox จะช่วยลดความเครียด อาจทำให้เครียดและว้าวุ่นกว่าเดิมอีกแทน
นอกจากนี้ Alex Soojung-Kim Pang ผู้เขียนหนังสือที่เกี่ยวการใช้เทคโนโลยีและการพักผ่อน ยังเคยให้ความเห็นกับข่าวที่ Marc Benioff ซีอีโอของ Salesforce ประกาศว่าจะไปพักผ่อน 10 วันแบบตัดขาดจากอุปกรณ์ทุกอย่างว่า การไปพักผ่อน 10 วันอาจจะไม่ได้เป็นวิธีที่ดีเท่าไรนักถ้าวันที่ 11 ก็ยังต้องกลับสู่ชีวิตแบบเดิมที่อยู่กับเทคโนโลยี
การนำการศึกษา 21 ชิ้นที่เกี่ยวข้องกับ Digital Detox มาศึกษาใหม่ในปี 2021 ยังพบว่า การออกห่างจากโลกดิจิทัลไม่ได้ส่งผลต่อระดับความเครียดและสุขภาพจิตของผู้เข้าร่วมการศึกษาส่วนใหญ่หรือไม่ก็ให้ผลที่หลากหลายแตกต่างกันไป ไม่ได้ให้ผลลบและบวกอย่างชัดเจน
ที่จริงแล้ว การทำ Digital Detox ไม่ได้เป็นเรื่องแย่ แค่ยังไม่เพียงพอ Adam Gazzaley ศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยาใน University of California บอกว่า เราต้องหาวิธีที่จะพักขณะที่ใช้ชีวิตประจำวันตามปกติไปด้วยให้ได้ โดยผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า ทางที่ดีคือการปิดการแจ้งเตือน จัดตารางเวลาเพื่อทำงานใดงานหนึ่งให้เสร็จ อยู่ห่างจากโทรศัพท์เมื่อไม่จำเป็นต้องใช้ เพราะว่าบริษัทเทคโนโลยีจะสร้างอุปกรณ์ที่ดึงดูดให้เราใช้งานตลอดเวลา แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องทำตามที่บริษัทเหล่านั้นต้องการ
Sina Joneidy อาจารย์ด้านดิจิทัลใน Teesside University กล่าวว่า เขาเปลี่ยนจากการเลิกเล่นและตัดขาดจากโทรศัพท์อย่างสิ้นเชิงไปเป็นการหยุดพักจาก “การติด (Desirious Attachment)” เทคโนโลยีแทน เขาอธิบายว่า คำว่า Desirious Attachment มาจากหลักศาสนาพุทธ ใช้อธิบายอาการที่เราต้องการอะไรบางอย่างเพราะเชื่อว่าสิ่งนั้นจะทำให้มีความสุข ซึ่งจริง ๆ แล้วตามหลักวิทยาศาสตร์ก็คือการหลั่งสารโพามีนที่ทำให้มีความสุขเวลาได้เล่นโซเชียลมีเดีย
Joneidy เปลี่ยนมาใช้วิธีการเข้าสู่โลกดิจิทัลอย่างมีจุดหมายแทนที่จะไถหน้าฟีดไปเรื่อย ๆ อย่างล่องลอยจนเกิดอาการติดโซเชียล Amber Case นักมานุษยวิทยาก็ใช้วิธีแบบเดียวกัน เธอบอกว่าตัวเองใช้เครื่องมือติดตามการใช้โซเชียลมีเดียที่หลากหลาย เพราะได้รู้วันหนึ่ง ๆ ตัวเองกดเข้าแอป Instagram ถึง 80 ครั้งต่อวัน เลยได้ดาวน์โหลด One Sec แอปปลั๊กอินบังคับให้ต้องหายในเข้าลึก ๆ ก่อนถึงจะเข้าแอปบนสมาร์ทโฟนได้ มีไว้ช่วยเรียกสติก่อนที่จะกดเข้าแอปต่าง ๆ และลดการเล่นโทรศัพท์แบบไถฟีดไปเรื่อย ๆ ไม่รู้ตัว
Case ยังแนะนำว่าให้หลีกเลี่ยงการไถหน้าจอโทรศัพท์ในช่วงที่ว่าง เพราะจะช่วยทำให้เราไม่ต้องมีโทรศัพท์ติดตัวตลอดเวลาเมื่อไม่ได้จำเป็นต้องใช้ ให้พักผ่อนด้วยการมองสิ่งรอบตัวและปล่อยให้ตัวเองรู้สึกเบื่อบ้างสักพักนึง
Chris Dancy นักเขียนที่ติดตามนิสัยการใช้สมาร์ทโฟนของตัวเองด้วยแอปและอุปกรณ์ต่าง ๆ เรียกการพยายามเลิกนิสัยไถหน้าจอตลอดเวลาแบบนี้ว่า “Grey Detoxing” ที่ไม่ได้มองการตัดขาดจากโลกโซเชียลเป็นสีขาว-ดำ แต่มองเป็นสีเทาเพราะทำได้มากกว่าแค่การหักดิบตัดขาดจากโทรศัพท์ไปเลย
ทั้งจ่ายบิล ทำงาน คุยกับเพื่อน แม้แต่เวลาไปเที่ยวพักผ่อนก็ยังต้องใช้ การตัดขาดจากโทรศัพท์ที่ติดตัวอยู่ตลอดเวลาเลยกลายเป็นความทรมานลำดับต้น ๆ ในยุคนี้ ถ้าจะหยุดเล่นโซเชียลไม่ได้เหมือนที่ตั้งใจไว้ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้และใคร ๆ ก็เป็น ถ้าอยู่หน้าจอแล้วเครียดก็ลองหาวิธีพักแบบไม่ต้องกดดันตัวเองเท่าที่ไหว จะได้ไม่ต้องเปลี่ยนจากการเครียดที่ติดโทรศัพท์มากเกินไปมาเครียดเรื่องที่อยากหักดิบให้ได้แต่ไม่สำเร็จสักที
ที่มา – BBC, New York Times
อ่านเพิ่มเติม
- รอยเตอร์เผย คนไทยอ่านข่าวจากโซเชียลมากกว่าแหล่งข่าว มีสัดส่วนคนใช้ TikTok มากที่สุด ขณะที่คนอ่านข่าวน้อยลงทั่วโลก
- รู้จัก Backfire Effect และ PC Bravery ที่ทำให้คนหลับหูหลับตามั่นใจ เถียงบนโลกโซเชียลแบบบ้งๆ
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา