ทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ เป็นไปได้: เน้นทำน้อยได้มาก-ตัดเรื่องไม่สำคัญ-ใช้ความสุขดันผลิตภาพ

การทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ เป็นไปได้จริงๆ งานวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่าโมเดลนี้ไม่ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง กลับกันยังดีกว่าการทำงานแบบเดิมในหลายมิติ

4 day work week

ตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มต้นขึ้นในช่วงปลายปี 2019 และลากยาวมาจนถึงปัจจุบัน เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่างในวงการการทำงาน มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ถูกนำมาใช้ให้เข้ากับสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็น Work From Home การทำงานแบบไฮบริด ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้นได้ในเร็ววัน

และล่าสุด การทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ ก็เริ่มเป็นที่ถกเถียงในวงกว้างมากขึ้นในบริบทระดับโลก หลายๆ คนเสนอการทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ เอาไว้ในหลายรูปแบบ เช่น งดทำงานวันศุกร์ ลดชั่วโมงการทำงานแต่ละวัน งดทำงานช่วงบ่าย 2 วัน และอื่นๆ อีกมากมาย แต่ที่สำคัญจะต้องจ่ายเงินเดือนเท่าเดิม

แต่โมเดลทั้งหมดมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ การสร้างรูปแบบการทำงานที่ดีขึ้น ลดปัญหาด้านสุขภาพจิตที่เกิดกับคนทำงานไม่ว่าจะเป็นภาวะหมดไฟ โรคซึมเศร้า ความวิตกกังวล หรือความไม่สมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำงาน  

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนและการศึกษาหลายชิ้นชี้ว่าการทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ จะไม่กระทบประสิทธิภาพในการทำงานองค์รวมของบริษัท แถมยังบอกว่าการทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานด้วยซ้ำ

ลองมาดูกันว่า ทำไมการทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ ถึงจะเป็นรูปแบบการทำงานที่ตอบโจทย์ในอนาคต

1. ยิ่งทำงานติดต่อกันนานๆ ประสิทธิภาพยิ่งลดลง

มีงานวิจัยหลายชิ้นระบุเอาไว้ ยิ่งเราทำงานติดต่อกันเป็นเวลานานๆ มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำงานแย่ลง เช่น งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดชี้ว่าประสิทธิภาพในการทำงานลดลงอย่างมากหากทำงานเกิน 50 ชั่วโมง/สัปดาห์ ผู้เชี่ยวชาญบางท่านก็ระบุว่า 35 ชั่วโมง ในขณะที่การศึกษาของ Harvard ก็ระบุเอาไว้ว่าทำงาน 6 ชั่วโมง/วัน ดีที่สุด

แม้จำนวนชั่วโมงที่ควรทำงานจะแตกต่างออกไปในแต่ละสำนัก แต่สิ่งที่สะท้อนออกมาชัดเจนก็คือผู้เชี่ยวชาญเห็นพ้องต้องกันว่าการทำงานติดต่อกันเป็นเวลานานๆ ไม่ใช่เรื่องดี มีผลเชิงลบต่อประสิทธิภาพการทำงาน

John Trougakos รองศาสตราจารย์ด้านพฤติกรรมองค์กรจากมหาวิทยาลัยโทรอนโต กล่าวว่า “ชั่วโมงการทำงานพื้นฐาน 40 ชั่วโมง/สัปดาห์ ไม่ตอบโจทย์ด้านประสิทธิภาพเท่าไหร่นัก เราไม่สามารถทำงานแบบเปี่ยมพลังงานได้นาน 8 ชั่วโมงติดต่อกัน (ใน 1 วัน)”

สาเหตุเป็นเพราะผู้คนจะพยายามตัดแบ่งเวลา 8 ชั่วโมง ออกเป็นก้อนเล็กๆ ด้วยการเล่นโซเชียลมีเดียหรือช้อปปิ้งออนไลน์ ซึ่งงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสันชี้ว่า เราเสียเวลาได้ถึง 2.5 ชั่วโมง ไปกับการเตร็ดเตร่ในโลกไซเบอร์ระหว่างการทำงาน

Rachel Service ซีอีโอ Happiness Concierge บริษัทที่ปรึกษาและอบรมด้านวัฒนธรรมในใที่ทำงานกล่าวว่า “เราต้องเปลี่ยนจุดสนใจจากชั่วโมงการทำงานไปเป็นประสิทธิผลของงานแทน ซึ่งหมายถึงเลิกสนใจการทำงานที่ดูยุ่งวุ่นวายและสนใจการทำงานแบบตรงประเด็นแทน”

ประเด็นก็คือ มีการทดลองทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ ในประเทศไอซ์แลนด์จริงๆ โดยติดตามผลการทำงานของพนักงานใน​​หน่วยงาน​ปกครองเมืองเรกยาวิค 2,500 คน ที่ลดจำนวนชั่วโมงการทำงานลงจาก 40 เหลือ 35 ถึง 36 ชั่วโมง 

ผลการทดลองก็คือพนักงานมีประสิทธิผลของการทำงานไม่ลดลงและยังถึงกับเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ ยกตัวอย่างเช่นพนักงานฝ่ายบัญชีซึ่งสามารถออกบิลได้เพิ่มขึ้นถึง 6.5% หรือในสถานีตำรวจที่จำนวนการปิดคดีไม่ลดลงแม้จะทำงานน้อยลง

2. เวลาทำงานน้อยลง บีบให้ตัดเรื่องไม่สำคัญทิ้ง

การทำงานเป็นเวลานานๆ จริงๆ แล้วก็ไม่ใช่ว่าจะดีเพราะอย่างที่เราทราบกันมาก่อนหน้าแล้วว่าเราอาจเสียเวลาได้ถึง 2.5 ชั่วโมงไปกับกิจกรรมอื่นๆ ระหว่างการทำงาน แถมยังมีอาจเสียเวลาไปกับกิจกรรมอื่นๆ ที่ก่อนหน้านี้เรามองว่าจำเป็นเช่นการประชุมยิบย่อยเป็นต้น

เวลาทำงานที่น้อยลงจากเวลาทำงานต่อสัปดาห์ที่เหลือ 4 วัน จะบีบให้บริษัทต้องคิดใหม่อีกครั้งว่ากิจกรรมไหนสำคัญจริงๆ กิจกรรมไหนไม่สำคัญ และจัดตารางเวลาให้กระชับขึ้นไม่เสียเวลากับอะไรที่เปล่าประโยชน์

John Trougakos ยกตัวอย่างกิจกรรมที่ไม่สำคัญเช่น การประชุมที่มากล้นเกินเหตุหรือเวลาพักทานข้าวที่ยืดยาวเกินควร ในบางกรณี เขาระบุว่าบริษัทตัดสินใจแทนที่การประชุมจำนวนมากด้วยการส่งอีเมล และพยายามไม่ให้มีการประชุมเกิดขึ้นก่อนบ่าย 3 ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ตัวอย่างลอยๆ แต่เป็นกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นจริงในการศึกษาเรื่องการทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ในประเทศไอซ์แลนด์

ดังนั้น เวลาจากกิจกรรมที่ไม่จำเป็นจะถูกตัดทอนลง และถูกแบ่งไปให้ชีวิตส่วนตัวของคนทำงานมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำงานอดิเรก การดูแลครอบครัว การเข้าสังคม การพบปะเพื่อนฝูง ไปจนถึงการใช้เวลาอยู่กับตัวเอง

3. มีความสุข สุขภาพดี คือคีย์ของการทำงานที่มีประสิทธิภาพ

ผลลัพธ์เชิงบวกจากการทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ ที่นักวิจัยพยายามชี้อย่างหนึ่งคือ สุขภาพจิต เพราะชั่วโมงการทำงานที่ลดลงทำให้ลูกจ้างมีความสุขขึ้น มีสุขภาพดีขึ้น ทำให้โฟกัสกับงานได้ดีขึ้น

มีงานวิจัยจำนวนมากที่ชี้ให้เห็นว่าการลดชั่วโมงการทำงานจะช่วยให้พนักงานมีความเครียด ความเหนื่อยล้า และอารมณ์ด้านลบน้อยลง 

family
Photo by Nikola Saliba on Unsplash

งานวิจัยของ Karolinska Institutet สถาบันด้านการแพทย์และศัลยศาสตร์ในสวีเดนระบุว่าเมื่อลดเวลาทำงานลง 25% จะช่วยเสริมสุขภาวะในการนอนหลับและลดความตึงเครียดลงได้ หรืองานวิจัยในวารสารวิชาการ Community, Work, and Family ระบุว่าการลดเวลาการทำงานลงทำให้ชีวิตครอบครัวของพนักงานดีขึ้น

Jim Stanford นักเศรษฐศาสตร์และผู้อำนวยการ Centre for Future Work แห่ง Australia Institute กล่าวว่า “ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเมื่อผู้คนมีสมดุลในชีวิตการทำงานที่ดี มีเวลาพักผ่อน มีเวลากับครอบครัว และมีเวลาให้งานอดิเรกที่สนใจเพียงพอ พวกเขาจะทำงานได้มีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลมากขึ้น” 

เพราะแน่นอนว่าเมื่อผู้คนมีเวลาไปดูแลและจัดการปัญหาด้านอื่นในชีวิต เช่น ครอบครัว สังคม สุขภาพ และความสนใจของตัวเองมากขึ้น พวกเขาก็จะมีแนวโน้มที่จะนำปัญหาเหล่านี้มาฉุดรั้งประสิทธิภาพในการทำงานน้อยลง อย่างน้อยที่สุดพวกเขาก็จะวอกแวกในการทำงานน้อยลง

และเรื่องนี้ก็มีงานวิจัยมารองรับอย่างชัดเจน เพราะมีการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ที่ระบุเอาไว้ว่าเมื่อพนักงานมีความสุขจะช่วยให้ผลิตภาพในการทำงานเพิ่มขึ้นถึง 13%

สรุป

จริงๆ แล้ว การทำงาน 4 สัปดาห์ไม่ใช่สูตรสำเร็จที่ง่าย ครบ จบ ในการแก้ปัญหาชีวิตการทำงานของพนักงานภายในสูตรเดียว เพราะงานในบางสาขาอาจไม่เอื้อให้นำโมเดลการทำงานรูปแบบนี้ไปใช้งาน

Permata Bank เพอร์มาตาแบงก์
ภาพจาก Shutterstock

แถมเรายังเห็นได้ว่ามีการทดลองลดเวลาทำงานเหลือ 4 วัน/สัปดาห์ ในหลายๆ รูปแบบ ทั้งงดทำงาน 1 วัน งดทำงาน 2 บ่าย หรือ ลดเวลาทำงานต่อวันลงเป็นต้น ดังนั้นการสร้างเสริมสุขภาวะในการทำงานจึงอาจมีความเป็นไปได้หลายๆ รูปแบบที่แต่ละบริษัทสามารถหาจุดลงตัวของตัวเองได้

แต่หลักใหญ่ใจความของเรื่องนี้ก็คือ การทำอย่างไรก็ได้ให้พนักงานมีความสุขขึ้นในการทำงาน

ที่มา – BBC, Fast Company

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

บาส รชต สนิท - นักข่าว นักเขียน ที่ Brand Inside | สนใจด้าน Future of Work, สิทธิคนทำงาน, สิ่งแวดล้อม, การเมืองโลก, ปัญหาทุนนิยม และ สิทธิมนุษยชน