รู้จักธนาคารไทยเครดิต (CREDIT) หุ้นธนาคารที่เข้า IPO ในรอบ 10 ปี

ธนาคารธุรกิจที่หลายคนเห็นทั้งขาขึ้นและขาลงกันมาแล้ว แต่ยังคงเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่ส่วนร่วมในสถานการณ์เศรษฐกิจแต่ละช่วง และเป็นส่วนสำคัญของคนที่ต้องการสินเชื่อเสมอ 

เร็วๆนี้ มีธนาคารที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยคือ ธนาคารไทยเครดิต ซึ่งถือเป็นหุ้นธุรกิจธนาคารที่จะเข้าตลาดฯ ในรอบสิบปีนี้มีรายละเอียดอย่างไรบ้าง 

ธนาคารไทยเครดิตเข้าตลาดฯ วันไหน จองได้เมื่อไร?

ธนาคารไทยเครดิต ซึ่งจะใช้ชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ว่า “CREDIT” คาดว่าจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในหมวดธุรกิจ (Sector) กลุ่มธุรกิจการเงิน / ธนาคาร ในวันที่ 9 ก.พ. 2567 นี้ 

ทั้งนี้ ธนาคารไทยเครดิตจะเสนอขายจำนวนไม่เกิน 347,029,122 หุ้น และได้กำหนดช่วงราคาเสนอขายเบื้องต้น 28.00 – 29.00 บาท/หุ้น โดยเปิดให้นักลงทุนรายย่อยร่วมจอง ตั้งแต่วันที่ 23 – 26 ม.ค. 2567 นี้ และเตรียมเปิดให้นักลงทุนสถาบันจองซื้อในวันที่ 31 ม.ค. – 2 ก.พ. 2567 

โดยจำนวนหุ้น IPO  จำนวนไม่เกิน 347,029,122 หุ้น คิดเป็น ไม่เกิน 28.2% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมด ซึ่งประกอบด้วย

(1) หุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวนไม่เกิน 64,705,890 หุ้น 

(2) หุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย OCA Investment Holdings I Pte. Ltd. จำนวนไม่เกิน 282,323,232 หุ้น

ธนาคารไทยเครดิตมีรูปแบบธุรกิจ อย่างไร?

ก่อนหน้าที่ไทยเครดิจจะเดินหน้าเป็นธนาคารพาณิชย์ที่เตรียมเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ เคยใช้ชื่อว่า ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2550 จนกระทั่ง  17 ส.ค. 2566 ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังให้ดำเนินการธูรกิจเป็นธนาคารพาณิชย์

ทั้งนี้ในด้านการบริหารงานธนาคารไทยเครดิตมี “วิญญู ไชยวรรณ” เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โดยช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 63-65) กำไรสุทธิยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

ปี 2563 อยู่ที่ 1,373 ล้านบาท

ปี 2564 อยู่ที่ 1,935 ล้านบาท

ปี 2565 อยู่ที่ 2,353 ล้านบาท

ขณะที่ 9 เดือนแรกของปี 2566 ทางธนาคารฯ มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 2,817 ล้านบาท โดยมีอัตราผลตอบแทนจากส่วนผู้ถือหุ้นเฉลี่ย (ROE) อยู่ที่ 21.8% นอกจากนี้ยังมีเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ของธนาคารฯ จำนวน 138,435.1 ล้านบาท 

ที่มา ธนาคารไทยเครดิต

ในด้านธุรกิจ ธนาคารไทยเครดิต จะเน้นให้บริการสินเชื่อไมโครและนาโนไฟแนนซ์ และสินเชื่อ Micro SME ซึ่งเป็นสินเชื่อรายย่อยที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่า (ในขณะเดียวกันเป็นกลุ่มที่ถือว่ามีความเสี่ยงสูงกว่าด้วย) ตัวอย่างเช่น 

– สินเชื่อนาโนเครดิตเพื่อธุรกิจรายย่อย ที่ไม่ใช้หลักประกัน อัตราดอกเบี้ยอยู๋ที่ 33% ต่อปี

– สินเชื่อไมโครครดิตเพื่อธุรกิจรายย่อย ที่ไม่ใช้หลักประกัน อัตราดอกเบี้ยอยู๋ที่ 28% ต่อปี

ทั้งนี้ ณ 30 ก.ย. 2566 โครงสร้างพอร์ตสินเชื่อจำนวน 138,435 ล้านบาท แบ่งเป็ฯ 

  • สินเชื่อ Micro SME มีสัดส่วนที่ 67.7% ของสินเชื่อทั้งหมด
  • สินเชื่อไมโครและนาโนไฟแนนซ์ มีสัดส่วนที่ 15.3% ของสินเชื่อทั้งหมด
  • สินเชื่อบ้านแลกเงิน มีสัดส่วนที่ 15.2% ของสินเชื่อทั้งหมด
  • อื่นๆ มีสัดส่วนที่ 1.8% ของสินเชื่อทั้งหมด

ขณะที่โดยรวมแล้วมีจำนวนสัญญาสินเชื่อกว่า 371,699 สัญญษ ส่วนใหญ่กว่า 68.1% เป็นสินเชื่อไมโครและนาโนไฟแนนซ์ 

ซึ่งหากเราจะดูว่าธุรกิจธนาคารมีความน่าสนใจแค่ไหน ส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยหรือ NIM โดย ณ 30 ก.ย. 2566 (งวด 12 เดือน) มี NIM อยู่ที่ 8.2% แม้จะอยู่ในระดับสูงแต่ปรับลดลงต่อเนื่องจาก ปี 2563 ที่อยู่ 9.0% 

ที่มา ธนาคารไทยเครดิต

ปัจจุบันความท้าทายในธุรกิจธนาคารยังสูงขึ้นต่อเนื่อง เพราะความเสี่ยงจากหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงของไทย รวมถึงการดำเนินการธูรกิจธนาคารที่ต้องสอดคล้องกับหลักการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบซึ่งอาจทำให้ธนาคารต้องระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น และต้องรักษาตลาดจากสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารอีกด้วย 

สุดท้ายนี้ คงต้องติดตามกันว่าท่ามกลางตลาดทุนที่ยังมีความผันผวนสูง แต่หุ้น CREDIT ที่เข้า IPO วันที่ 9 ก.พ. 2567 นี้จะได้รับการตอบรับอย่างไร

ที่มา ธนาคารไทยเครดิต

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา