เปิดโลกคริปโต รู้จัก DeFi เทคโนโลยีเปิดโลกการเงิน ต้องเข้าใจก่อนลงทุนเงินดิจิทัล

  • DeFi เป็นระบบการเงินที่ตัดตัวกลางทางการเงิน ทำให้มีจุดแข็งในการเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้าถึงระบบดังกล่าวได้ ทำธุรกรรมได้เร็วขึ้น และในเงื่อนไขบริการที่ดีขึ้น 
  • จุดสนใจอยู่ที่ การพัฒนาต่อยอดไปสู่บริการทางการเงินใหม่ๆ ที่โลกจริงทำไม่ได้ หรือทำได้แต่มีต้นทุนสูง อาทิ การกู้ยืมแบบบุคคลต่อบุคคล, Steaming Payment รวมถึงประกันภัยระดับบุคคลต่อบุคคล หรือประกันภัยพืชผลทางการเกษตร ซึ่งทำให้คาดว่าจะเห็นทั้งทางการและเอกชน ทยอยนำนวัตกรรมนี้ไปพัฒนาเพื่อผลักดันให้เป็นบริการใหม่ๆ สู่ผู้ใช้ในวงกว้างขึ้นในอนาคต

KBank

ในรอบก่อนคุยกันไปในเรื่องของเงินดิจิทัล หรือ Cryptocurrency ไปแล้ว มาในครั้งนี้มาขยายเรื่องราวทำความเข้าใจ Decentralized Finance หรือ DeFi กัน

DeFi คืออะไร

DeFi เป็นระบบการเงินที่ไม่พึ่งพาตัวกลาง โดยถูกพัฒนาขึ้นบนความขัดใจกับระบบการเงินที่ถูกควบคุม หรือมีหน่วยงานใดหนึ่งเป็นเจ้าของภายใต้ระบบการเงินแบบดั้งเดิมที่มีลักษณะรวมศูนย์ (Centralized) ซึ่งผู้พัฒนา DeFi มองว่าระบบ Centralized ดังกล่าว ทำให้ธุรกรรมมีขั้นตอนการตรวจสอบที่ซับซ้อน มีการประมวลผลที่กระจุกตัวและอาจทำให้ธุรกรรมบางลักษณะต้องใช้เวลา (อาทิ ธุรกรรมข้ามประเทศ) มีโอกาสผิดพลาดจากการกระทำของมนุษย์ (Human Error)

อีกทั้งการกำหนดราคายังขึ้นกับอิทธิพลของตัวกลางนั้นๆ ด้วย ดังนั้น DeFi จึงเป็นระบบที่ขจัด Pain Point ดังกล่าว โดยอาศัยรากฐานเทคโนโลยีเดียวกันกับการพัฒนาเงินดิจิทัล นั่นคือ เทคโนโลยี Blockchain เพียงแต่มาเน้นที่ตัวระบบ ขณะที่ เงินดิจิทัลจะเน้นเรื่องการกระจายการลงทุน หรือนิยมใช้เก็งกำไรจากความผันผวนของราคา ซึ่งประโยชน์จากการพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ คือสิ่งที่อยากฉายภาพให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาในอนาคต

KBank

DeFi กับตัวอย่างการสร้างสรรค์นวัตกรรมการเงินใหม่ๆ 

การตัดตัวกลางออกไป ทำให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ ได้โดยตรง การทำธุรกรรมที่ต้องการการเชื่อมโยงระหว่างเครือข่ายที่แตกต่างกันมากๆ หรือระหว่างประเทศ…จึงทำได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ การใช้ Blockchain ทำให้เกิดความโปร่งใสในการทำธุรกรรมเพราะฝ่ายต่างๆ สามารถเห็นความเคลื่อนไหวของกิจกรรมได้ ขณะที่ จุดเด่นของสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) บน Blockchain ยังสามารถออกแบบให้รองรับลักษณะกิจกรรมได้หลากหลาย ตามลำดับขั้น/เงื่อนไขที่กำหนด ดังนั้น จึงทำให้เกิดการย่อโลกของตลาดการเงิน แบงก์ ตลาดทุน ประกัน ที่ไร้พรมแดน ขึ้นไปอยู่บนโลกดิจิทัล ทั้งนี้ หนึ่งในเครือข่าย DeFi ที่เป็นที่นิยมมากที่สุดคือ Ethereum ซึ่งถูกนำไปพัฒนาต่อยอดออกมาเป็นบริการทางการเงินที่น่าสนใจหลากหลายประเภท ตัวอย่างคือ 

  • การกู้ยืม – โดยเป็นการกู้ยืมในรูปแบบบุคคลต่อบุคคล (Peer-to-Peer Lending: P2P) หรือเป็นการที่แพล็ตฟอร์มระดมสภาพคล่องมาจากกลุ่มผู้ให้กู้ เพื่อมาปล่อยกู้ให้กับผู้ที่ต้องการเงินทุน นอกจากนี้ ยังมีการนำหลักทรัพย์ ซึ่งได้แก่ เงินดิจิทัลที่กำหนด (ส่วนใหญ่ต้องมีมูลค่าต้องค่อนข้างมีเสถียรภาพและมีสภาพคล่องสูง) มาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน เพื่อใช้ในการกู้เงินออกไป ซึ่งภายใต้ระบบนี้ จะไม่มีการตรวจสอบประวัติเครดิต หรือข้อมูลส่วนตัวก่อนการปล่อยกู้ ทำให้ผู้ปล่อยกู้เป็นผู้รับความเสี่ยงเอง
  • Flash Loans – เป็นการกู้ยืมโดยไม่มีหลักประกัน ที่มีการใช้คืนเงินหลังจากการกู้ไม่นาน ประโยชน์จากการกู้ลักษณะนี้ คือ การกู้เพื่อมาใช้รวบรวมสินทรัพย์จากตลาดแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล (Exchange) และขายทำกำไรทันที โดยหากเป็นฝั่งกำไร ผู้กู้ก็จะได้กำไรที่หักด้วยค่าธรรมเนียม คืนไป แต่หากไม่สามารถคืนเงินได้ตามเงื่อนไข ธุรกรรมก็จะตกไป
  • โอนเงินข้ามประเทศ – ความแปลกใหม่คือ การโอนเงินข้ามประเทศที่ง่ายเหมือนการส่งอีเมล์ ในระยะเวลาหลักนาที ด้วยค่าธรรมเนียมที่ถูกกว่าเดิม 
  • Streaming Payment – รองรับการชำระเงินตามระยะเวลาของกิจกรรม อาทิ การจ่ายเงินเดือนพนักงาน จ่ายค่าเช่าจักรยานไฟฟ้าตามระยะเวลาใช้งาน ซึ่งผู้ชำระเงิน สามารถกำหนดเวลาเริ่มจ่ายเงิน และเวลาหยุดจ่ายเงินได้
  • การแลกเปลี่ยน/ซื้อขายสินทรัพย์มีราคา เช่น ภาพวาด คอนเท้นท์ หรือการ์ตูนที่มีเพียงชิ้นเดียว ตลอดจนอุปกรณ์พิเศษที่หายากในเกมออนไลน์ โดยระบบและกลไกของเหรียญที่ถูกออกแบบมาเฉพาะ จะทำให้สามารถตรวจสอบความเป็นเจ้าของของสินทรัพย์นั้นๆ ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนมือบน Online Marketplace แค่ไหนก็ตาม 
  • ประกัน – การซื้อประกันจะถูกลง การจ่ายเงินคืนประกันเร็วขึ้น ความโปร่งใส รวมถึงช่วยให้ประชากรเข้าถึงประกันได้มากขึ้น ซึ่งมีกรณีที่น่าสนใจมาก คือ การทำประกันภัยพืชผลที่มักไม่ค่อยมีผลิตภัณฑ์ประกันออกมาเสนอขาย เพราะอัตราความเสี่ยงสูง หรือหากมีการทำประกัน ก็จะมีเบี้ยประกันที่ราคาแพงเกินว่าเกษตรกรทั่วไปจะเอื้อมถึง แต่ระบบ DeFi ภายใต้การพัฒนาของ Etherisc และ Chainlink มีการเชื่อมต่อกับข้อมูลพยากรณ์อากาศที่มีความแม่นยำ ทำให้การจ่ายเงินชดเชยให้กับเกษตรกร เป็นไปอย่างรวดเร็วและถูกต้อง โดยได้มีการทดลองประกันภัยจากภัยแล้งที่ศรีลังกาในปี 2562 ซึ่งพบว่าทำให้ต้นทุนประกันลดลงถึง 41% จึงแปลงมาเป็นเบี้ยประกันที่ราคาถูกและเกษตรกรเข้าถึงได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมมาก นอกจากนี้ยังสามารถจ่ายชดเชยได้เร็วขึ้นกว่าปกติมากที่จะใช้เวลาถึง 3 เดือน 
  • Exchange – เป็นตลาดแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งเปิดทำการ 24/7 ในทุกวันไม่มีวันหยุด โดยมักใช้ในการแลกเปลี่ยนเหรียญ เพื่อรองรับการทำธุรกรรม/กิจกรรมพิเศษที่เหรียญแต่ละอย่างทำได้ 

KBank

แล้วจะได้ใช้เมื่อไร และควรรู้อะไรบ้าง? 

นวัตกรรมการเงินดังกล่าว เป็นสิ่งที่ปรากฎขึ้นและมีการใช้งานแล้วในปัจจุบัน เพียงแต่ค่อนข้างจำกัดอยู่ในกลุ่มผู้ใช้ที่มีความคุ้นชินทางเทคโนโลยีและทางการเงินค่อนข้างดี ส่วนการใช้บริการใหม่ๆ บางด้านในไทยนั้น ยังต้องผ่านการอนุญาตจากทางการไทย เช่น กรณีการปล่อยกู้แบบ P2P Lending หรือตลาดแลกเปลี่ยนทรัพย์สินดิจิทัล เพื่อให้มั่นใจว่าบริการเหล่านั้น จะตอบโจทย์ด้านการคุ้มครองสิทธิ์ของผู้บริโภค ผู้ให้บริการมีตัวตนและมีความน่าเชื่อถือ รวมถึงไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบ

DeFi เป็นระบบการเงินที่ไร้พรมแดน ดังนั้น ผู้ที่สนใจใช้บริการย่อมหาวิธีทางตรงและทางอ้อมในการทดลองใช้ได้ โดยต้องเริ่มจากการนำพาตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของแพล็ตฟอร์ม หรือ Ecosystem ที่ต้องการก่อน โดยเฉพาะหากต้องการทดลองใช้หลายแพล็ตฟอร์ม โดย

  1. บางบริการอาจต้องใช้เหรียญทำธุรกรรม ทำให้ต้องเริ่มจากการสมัคร Wallet 
  2. หาซื้อเงินดิจิทัลประเภทที่กำหนดใน Wallet ที่เชื่อมกับแพล็ตฟอร์มนั้นๆ หรือหากมีเงินดิจิทัลอยู่ในมือ ก็นำไปแลกบน Exchange เป็นสกุลที่สามารถนำไปใช้กับแพล็ตฟอร์มที่สนใจ เพื่อมีสิทธิ์ในบริการของแพล็ตฟอร์มนั้นๆ เป็นต้น

ต้องเข้าใจว่าหลายบริการอยู่ในขั้นทดลอง การศึกษาผู้ให้บริการ กลไกการดำเนินงานของแต่ละแพล็ตฟอร์ม จึงมีความสำคัญจำเป็น เพื่อให้มั่นใจว่าเราจะได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเงินใหม่ๆ เหล่านี้ โดยที่รู้เท่าทันและสามารถป้องกันสิ่งที่ไม่คาดคิดไปได้พร้อมๆ กัน

ขณะที่เชื่อว่าทางการไทย และนานาชาติ รวมถึงผู้ให้บริการทางการเงินไทยและนอนแบงก์ต่างๆ คงเล็งเห็นประโยชน์และจุดแข็งที่น่าสนใจของ DeFi นี้ และนำมาพัฒนาบริการทางการเงินแห่งทศวรรษที่เอื้อประโยชน์มากขึ้นกับการใช้ชีวิตในยุคดิจิทัลของคนในวงกว้างในอนาคตเช่นกัน

ดังนั้น แม้ว่าการพัฒนาของโลก DeFi กระทบต่อการดำเนินธุรกิจโดยตรงของธนาคารพาณิชย์ แต่ก็ยังเป็นหนทางที่ต้องรอพิสูจน์กันว่า สุดท้ายแล้ว บทสรุปของการแข่งขันระหว่างผู้พัฒนา DeFi (ที่เร่งพัฒนาเพื่อฝ่าข้อจำกัดและสร้างการยอมรับในวงกว้างขึ้น) กับผู้ให้บริการทางการเงินดั้งเดิมอย่างเช่นธนาคารพาณิชย์ (ที่เดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีการเงินใหม่ๆ อย่างเข้มข้น) จะออกมาเช่นไร?

ภาพจาก shutterstock

เปรียบเทียบ DeFi  VS Cryptocurrency

Cryptocurrency DeFi
คืออะไร
  • สินทรัพย์ดิจิทัลรูปแบบหนึ่ง อยู่ในรูปหน่วยดิจิทัล 
  • เป็น ‘ระบบการเงิน’ ที่ไม่ต้องพึ่งพาตัวกลาง (Decentralized Finance) ทำให้ไม่มีใครเป็นเจ้าของ
ตัวอย่าง Bitcoin / Ethereum/ Litecoin/ Ripple
  • Ethereum เป็น Defi Platform ที่ได้รับความนิยมสูงสุด
  • การกู้ยืม: Aave, Compound, Oasis
  • Steaming Payment: Sablier
  • ประกัน: Nexus Mutual, Etherisc
  • Exchange: Kyber, Totle, MakerDAO
ประโยชน์
  • เป็นทางเลือกในการกระจายพอร์ตการลงทุน / แลกเปลี่ยนระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัล
  • เป็นทางเลือกในบริการทางการเงินต่างๆ เช่น การลงทุน/ระดมทุน รวมถึงโอนเงินไปต่างประเทศ
  • ทำธุรกรรมได้รวดเร็ว
  • ทุกคนเข้าถึงได้
  • มีบริการทางการเงินใหม่ๆ เกิดขึ้นหลายประเภทที่โลกจริง ยังทำไม่ได้ หรือทำได้แต่ต้นทุนสูงเกินไป
  • ทำธุรกรรมได้รวดเร็ว 
  • ลดปัญหาความผิดพลาดจากการตัดสินใจโดยมนุษย์
ข้อสังเกต
  • ไม่สามารถใช้ชำระเงินตามกฎหมาย
  • ความผันผวนของราคาและมูลค่า
  • ปัญหาความน่าเชื่อถือของผู้ออกและเสถียรของระบบ
  • ปัญหาการใช้ในการทำธุรกรรมที่ผิดกฎหมาย
  • ลูกค้าต้องเป็นผู้รับความเสี่ยงเอง
  • หลายระบบยังไม่เสถียร เพราะอยู่ในขั้นทดลอง
  • ปัญหา Scalability โดยเฉพาะกับการทำธุรกรรมรายย่อยจำนวนมาก จากปัญหาเฉพาะเชิงเทคนิคของ Blockchain และการเชื่อมต่อกันระหว่าง DeFi ที่พัฒนามาคนละค่าย
  • สภาพคล่องยังต่ำ/ธุรกรรมยังไม่สูงมากเมื่อเทียบกับธุรกรรมประเภทเดียวกันบนโลกจริง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก ธปท., Ethereum.org, medium.com, 101blockchain.com

Disclaimer

รายงานวิจัยนี้จัดทำโดยบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด (“KResearch”) เพื่อเผยแพร่เป็นการทั่วไป โดยอาศัยแหล่งข้อมูลสาธารณะหรือข้อมูลที่เชื่อว่ามีความน่าเชื่อถือที่ปรากฏขณะจัดทำ ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ในแต่ละขณะเวลา ทั้งนี้ KResearch มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ ความเหมาะสม ความครบถ้วนสมบูรณ์ หรือความเป็นปัจจุบันของข้อมูลดังกล่าว และไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อชี้ชวน เสนอแนะ ให้คำแนะนำ หรือจูงใจในการตัดสินใจเพื่อดำเนินการใดๆ แต่อย่างใด ดังนั้น ท่านควรศึกษาข้อมูลด้วยความระมัดระวังและใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจใดๆ KResearch จะไม่รับผิดในความเสียหายใดที่เกิดขึ้นจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว 

ข้อมูลใดๆ ที่ปรากฎในรายงานวิจัยนี้ถือเป็นทรัพย์สินของ KResearch และ/หรือบุคคลที่สาม (แล้วแต่กรณี) การนำข้อมูลดังกล่าว (ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน) ไปใช้ต้องแสดงข้อความถึงสิทธิความเป็นเจ้าของแก่ KResearch และ/หรือบุคคลที่สาม (แล้วแต่กรณี) หรือแหล่งที่มาของข้อมูลนั้นๆ ทั้งนี้ ท่านจะไม่ทำซ้ำ ปรับปรุง ดัดแปลง แก้ไข ส่งต่อ เผยแพร่ หรือกระทำในลักษณะใดๆ เพื่อวัตถุประสงค์ในทางการค้า โดยไม่ได้รับอนุญาตล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรจาก KResearch และ/หรือบุคคลที่สาม (แล้วแต่กรณี)

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา