เงินดิจิทัล หรือ Cryptocurrency คนไทยสนใจเยอะ แต่ยังขาดความรู้-ลงทุนจริงยังน้อย

  • ผลสำรวจในอเมริกา คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจเงินดิจิทัลมากขึ้น และสนใจที่จะลงทุน
  • แต่คนที่ลงทุนจริงๆ กับเงินสกุลดิจิทัลกลับมีไม่มาก
  • คนไทยก็ให้ความสนใจเงินดิจิทัลมาก แต่ความรู้ความเข้าใจการเงินและดิจิทัลยังอยู่ในระดับต่ำ
  • รู้หรือไม่ว่า เงินดิจิทัลมีความเสี่ยงที่ผู้ลงทุน ผู้ซื้อ ผู้ชาย ต้องแบกรับด้วยตัวเอง
  • เงินดิจิทัลมีความผันผวนสูง เฉพาะ Bitcoin ผันผวนเฉลี่ย 74.7%
  • ยังมีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือของผู้ออก ปัญหาการถูกแฮ็ค และการทำธุรกรรมที่ผิดกฎหมาย

Cryptocurrency

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ผลสำรวจประชากรสหรัฐฯ จำนวนกว่า 2,000 คนในปี 2019 โดย Blockchain Capital Survey ชี้ว่าผู้ตอบแบบสอบถามในสหรัฐฯ มีการรับรู้และสนใจความเป็นไปของบิทคอยน์เพิ่มขึ้นจากการสำรวจในปี 2017 ทั้งในมิติของความตระหนักรู้ (Awareness) ที่วัดจากการเคยได้ยินข่าวสารเกี่ยวกับ Bitcoin ความรู้สึกคุ้นชิน (Familiarity) แนวโน้มที่จะลงทุนในบิทคอยน์ภายในอีก 5 ปีข้างหน้า (Propensity to Purchase)

กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีช่วงอายุประมาณ 18-34 มีความสนใจและลงทุนในบิทคอยน์มากกว่าช่วงอายุอื่นๆ โดยมี 18% ที่ลงทุนในบิทคอยน์ ขณะที่สัดส่วนดังกล่าว จะลดลงเมื่ออายุเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนการตีความในอีกด้านหนึ่งเช่นกัน นั่นคือ แม้จะมีคนเคยได้ยินและบริโภคข่าวสารเกี่ยวกับเงินสกุลดิจิทัลค่อนข้างมาก แต่การลงทุนจริง…กลับมีไม่มาก โดยผู้ถือครองหรือลงทุนจริง (Ownership Rate) มีประมาณ 9% ของผู้ตอบทั้งหมดเท่านั้น

Cryptocurrency
ภาพจาก Shutterstock

ประเทศไทย ความรู้ด้านการเงินยังต่ำ

สำหรับประเทศไทย แม้จะยังไม่ปรากฎข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือว่าความสนใจและการลงทุนจริงในสินทรัพย์ดิจิทัลมีมากน้อยเพียงใดในแต่ละช่วงอายุ แต่ทักษะความรู้ทางการเงินและด้านดิจิทัล (Financial and Digital Literacy) ของไทย ยังห่างจากชาติตะวันตกค่อนข้างมาก โดยผลการประเมินของ OCED ในปี 2020 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีคะแนนความรู้ด้านการเงินที่ 56/100 เทียบกับค่าเฉลี่ยของ 26 ประเทศที่ทำการสำรวจที่ 62.8/100 

ดังนั้น จึงมีคำถามถึงการลงทุนอย่าง ‘เข้าใจ’ และ ‘รู้ทัน’ ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องของสินทรัพย์ดิจิทัลใหม่ๆ ทั้งที่เกิดขึ้นแล้วและที่จะตามมาในอนาคต โดยแม้เงินดิจิทัลจะได้รับความสนใจมากขึ้นในกลุ่มคนรุ่นใหม่ของไทย และราคาของเงินดิจิทัลเอกชนสกุลดังๆ จะถีบตัวสูงขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง ซึ่งทำให้ได้รับการยอมรับมากขึ้นในแง่ของการเป็นทางเลือกของการกระจายการลงทุน 

Cryptocurrency
ภาพจาก Shutterstock

ทราบหรือไม่ว่า…ยังมีข้อสังเกตุในอีกด้านหนึ่งที่ควรตระหนักควบคู่กันไปด้วย

  • เงินดิจิทัล…มีหลายประเภทในปัจจุบัน ขณะที่ เงินดิจิทัลที่พัฒนาโดยเอกชน ยัง ‘ไม่’ สามารถใช้ชำระเงินได้ตามกฎหมายไม่ว่าจะในไทยหรือในต่างประเทศ นอกจากนี้ตามกฎหมายไทย ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้มีสิทธิในการออกเงินสกุลบาทแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น และการนำเงินดิจิทัลมาใช้ซื้อของกับร้านค้าที่เริ่มมีการยอมรับเงินสกุลดิจิทัลบางสกุลนั้น ผู้ซื้อและผู้ขายต้องรับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องเอง
  • เงินดิจิทัล…มีความผันผวนของราคาและมูลค่าสูง จึงทำให้ยังไม่ตอบโจทย์ในการรักษามูลค่า หรือแลกเปลี่ยนเป็นสินค้าและบริการในโลกแห่งความเป็นจริงได้อย่างแพร่หลาย โดยตั้งแต่ปี 2562 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ราคาทองคำผันผวนเฉลี่ย 15.3% หุ้น MSCI World ผันผวน 17% ขณะที่ เงินดิจิทัลอย่างเช่น Bitcoin ผันผวนเฉลี่ยถึง 74.7% จากผลตอบแทนเฉลี่ยของสินทรัพย์แต่ละประเภทในช่วงระยะเวลาดังกล่าว 
  • เงินดิจิทัล…ยังมีความเสี่ยงจากปัญหาความน่าเชื่อถือของผู้ออกและความเสถียรของระบบที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขาย รวมถึงโอกาสการถูก Hack 
  • เงินดิจิทัล…ถูกทางการมองว่านำไปใช้ในการทำธุรกรรมการเงินที่ผิดกฎหมาย จึงยังถูกเพ่งเล็งในหลายประเทศ
Cryptocurrency
ภาพจาก Shutterstock

การเงินยุคดิจิทัลไม่ได้น่ากลัว แต่ต้องศึกษาให้ดี

นั่นหมายความว่า หากสนใจกระจายการลงทุน ก็ควรศึกษาตั้งแต่ประเภทของสินทรัพย์ดิจิทัล ระบบนิเวศที่เกี่ยวข้อง อาทิ ความน่าเชื่อถือของแพลตฟอร์มซื้อขาย ผู้รับฝากหลักทรัพย์ (Custody) ผู้ที่ดูแลเรื่องการโอนเงิน/ชำระเงิน รวมถึงเทคโนโลยีที่ใช้ เป็นต้น เพื่อให้มั่นใจว่าเงินลงทุนในสินทรัพย์ใหม่ๆ เหล่านี้ จะสามารถสร้างผลตอบแทนที่คาดหวัง ภายใต้ความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนรับได้อย่างแท้จริง เพราะจะต้องเป็นผู้รับความเสี่ยงทั้งหมดเอง โดยเฉพาะหากซื้อขายหรือลงทุนในแพล็ตฟอร์มต่างประเทศที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของทางการไทย

อย่างไรก็ตาม นวัตกรรมทางการเงินยุคดิจิทัลไม่ได้น่าสะพรึงทั้งหมดเสมอไป และไม่ได้ดึงดูดเฉพาะแง่ของผลตอบแทนจากการเก็งกำไร เพราะความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ใช้รองรับการแลกเปลี่ยนเงินดิจิทัล อาทิ Blockchain และคุณสมบัติของการเป็น Smart Contract (ที่สามารถเรียงกิจกรรมตามลำดับก่อนหลัง ทดแทนกระบวนการการทำธุรกรรม การอนุมัติ การตรวจสอบต่างๆ ที่ยาวเหยียดในทางปฏิบัติบนโลกการเงินปกติ) ถูกนำมาต่อยอดของการพัฒนาไปอีกมากมาย กลายเป็นนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ อาทิ DeFi และ CeFi ที่มีประโยชน์ต่อผู้บริโภคผ่านรูปแบบบริการที่ระบบสถาบันการเงินเดิมไม่เคยทำได้มาก่อน หรือทำได้ แต่มีต้นทุนสูงกว่า หรือระยะเวลาตอบสนองช้ากว่า

ในกรณีของ DeFi นั้น การเชื่อมระหว่างผู้ต้องการปล่อยกู้และผู้ต้องการกู้ยืมได้โดยตรง การค้าหลักทรัพย์ระหว่างผู้ลงทุนโดยตรง การแปลงหลักทรัพย์มาเป็น Token การลงทุน บนโลกที่ไม่มีพรมแดนและไม่มีกติกามากมายมาเกี่ยวข้อง อีกทั้ง สามารถตรวจสอบได้จากการที่ทุกคนที่เกี่ยวข้องในระบบจะเห็นกิจกรรมในระบบ โดยราคาหรือต้นทุนของการทำธุรกรรมจะถูกปรับอัตโนมัติตามภาวะอุปสงค์และอุปทานในตลาด ซึ่งแปรผันตาม Parameters ที่ถูกโปรแกรมเข้าไป เป็นต้น …

โดยเราจะมาคุยกันถึงประโยชน์และข้อสังเกตของนวัตกรรมเหล่านี้กันในบทความถัดๆ ไป

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา