คุยกับ พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา CEO LINE ประเทศไทย กับการบริหารธุรกิจที่มีผู้ใช้บริการ 47 ล้านราย

เมื่อพูดถึงแอปพลิเคชันที่นับว่ากลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของคนไทย ตั้งแต่ตื่นนอน ทำงาน ไปจนถึงเข้านอน ไม่พูดถึงแอปพลิเคชัน LINE คงไม่ได้

พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บริษัท LINE ประเทศไทย จำกัด

Brand Inside ได้มีโอกาสคุยกับ พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บริษัท LINE ประเทศไทย จำกัด ถึงเรื่องภายในองค์กร วิธีการบริหารธุรกิจที่มีผู้ใช้งานกว่า 47 ล้านรายทั่วไทย รวมถึงเป้าหมายที่ต้องการพา LINE ประเทศไทยเดินต่อไปข้างหน้า

เมื่อ LINE ประเทศไทย ไม่ได้มีแค่แอปพลิเคชัน “แชท”

ปัจจุบัน LINE ประเทศไทย ทำธุรกิจอยู่ด้วยกันหลายด้าน พิเชษฐ ได้เล่าถึงภาพรวมของธุรกิจ LINE ประเทศไทย ว่าในปัจจุบันมีผู้ใช้งานแอปพลิเคชัน LINE กว่า 47 ล้านราย โดยมีบริการแชท เป็นผลิตภัณฑ์แรกที่คนไทยรู้จัก นอกจากแชทแล้ว ยังมีสติ๊กเกอร์ และ LINE Official Account ที่ปัจจุบันได้รับการพัฒนาให้เป็น Solution เพื่อธุรกิจอยู่อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีธุรกิจคอนเทนต์ ทั้ง LINE TV, LINE Today และ LINE Webtoon อีกด้วย

ส่วนบริการล่าสุดของ LINE ที่เพิ่งเปิดตัวไป นั่นคือ LINE BK ที่ร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทย โดยพิเชษฐ เล่าจุดเริ่มต้นของ LINE BK บริการด้านธนาคารจาก LINE ว่า “ต้องการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ง่าย แก้ไขปัญหาของผู้ใช้งาน และทำให้ชีวิตของลูกค้าง่ายขึ้น”

“แต่ก่อนเราต้องไปสาขา ไปที่ตู้เอทีเอ็ม ต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน แต่ตอนนี้ไม่ต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชันอีกแล้ว ทุกอย่างอยู่ภายใต้แอปพลิเคชัน LINE ทำได้ทั้งทวงเงิน รับเงิน และโอนเงิน ได้ง่ายกว่าเดิม”

นอกจากนี้คนไทยจำนวนมากยังคงเข้าไม่ถึงระบบธนาคาร คนที่มีอาชีพค้าขาย ไม่มี Statement LINE BK ก็จะนำข้อมูลมาวิเคราะห์ความเสี่ยง เสนอสินเชื่อ เหมือนมีเครดิต และอนุมัติโดยเงินจะเข้าบัญชีภายในเวลาเพียง 5 นาที

หน้าที่บริหารของ CEO ดูแลผู้ใช้งาน 47 ล้านราย

เมื่อ LINE ประเทศไทยเติบโตขึ้น มีบริการที่หลากหลาย ครอบคลุมการใช้ชีวิตประจำวันของคนไทย คำถามที่เกิดขึ้นคือ พิเชษฐ มีวิธีในการบริหารองค์กรอย่างไร

พิเชษฐ เล่าถึงหน้าที่หลักของตัวเองในฐานะ CEO ว่า เขามีหน้าที่สร้างองค์กร และหาคนเก่งๆ เข้ามาทำงาน มีทีมที่แข็งแกร่ง โดยรูปแบบการบริหารองค์กรจะต้องมีการทำเป็นยูนิตให้ชัดเจน มีการตั้งยุทธศาสตร์ให้กัน แล้วคอยมอนิเตอร์ผ่านการประชุม และช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงาน

ด้านการบริหาร “คน” พิเชษฐ มีความเห็นว่า “จะบอกแค่จะเอาแบบนั้นๆ อย่างเดียวไม่ได้ ไม่ใช่แค่การรับคำสั่ง แต่ต้องทำยังไงก็ได้ให้พนักงานกลายเป็นคนเก่ง และทำให้มีประสิทธิภาพการทำงานอย่างเต็มที่”

ความกดดันเมื่อต้องบริหารองค์กร ที่มีผู้ใช้บริการ 47 ล้านราย

แน่นอนว่าในปัจจุบันมีผู้ใช้งานมากถึง 47 ล้านคนย่อมสร้างความกดดันให้กับคนทำงานในฐานะ CEO อย่างพิเชษฐ แต่ความกดดันในที่นี้ไม่ได้มาจากคู่แข่งทางธุรกิจ แต่พิเชษฐ อธิบายว่าความกดดันมาจาก การทำให้แพลตฟอร์มของ LINE ตอบโจทย์ผู้ใช้งาน

แม้ CEO ก็ต้องเคยทำเรื่องผิดพลาด แต่ผิดแล้วต้องยอมรับ

ความผิดพลาดนับว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ของทุกคน ไม่เว้นแม้แต่ตัว CEO เอง ซึ่งพิเชษฐ เล่าว่า ตัวเขาเองเคยทำสิ่งผิดพลาดมาเยอะ แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องรู้จักยอมรับความผิดพลาด เพราะการปิดบังคือสิ่งที่เสียเวลา แต่ควรคิดว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร ถ้าไม่ยอมรับความผิดพลาด ก็จะมีปัญหายุ่งยากไปเรื่อยๆ

นอกจากนี้ความผิดพลาดในมุมมองของพิเชษฐ ยังหมายถึงความผิดพลาดที่เกิดจากการตัดสินใจช้า ที่จะทำให้เสียโอกาสในการทำธุรกิจไป

แต่อย่างไรก็ตามความผิดพลาดก็ดูจะไม่ใช่เรื่องใหญ่ไปเสียทั้งหมด เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เมื่อทำผิดพลาด ก็ต้องรู้จักเรียนรู้ให้เร็ว ด้วยความที่ LINE ยังคงมีความเป็นบริษัท Startup อยู่สูง “สิ่งที่เคยคิดว่าใช่ แต่เมื่อพัฒนาไปคนกลับไม่ชอบ อาจจะเลิก หรือหาทางแก้ไขให้ดีขึ้น ผู้ใช้บริการจะเป็นคนบอกเองว่าทางออกสุดท้ายคืออะไร”

ผู้ใช้บริการ ในมุมมองของ CEO LINE

การดูแลลูกค้านับว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญกับทุกๆ องค์กร ไม่เว้นแม่แต่ LINE ที่มีลูกค้า 47 ล้านรายใช้งานอยู่ตลอดเวลา

ซีรีส์วาย ใน LINE TV ภาพจาก tv.line.me

เมื่อถามถึงแนวโน้มการให้บริการแก่ลูกค้า พิเชษฐ เล่าว่า “ต้องพยายามมอนิเตอร์ สร้างเทรนด์ให้ลูกค้าตาม โดยดูจากข้อมูล พฤติกรรม และกระแสต่างๆ” อย่างเรื่องที่กำลังเป็นกระแสในช่วงนี้ที่พิเชษฐ ยกตัวอย่างคือ ซีรีส์วาย กลายเป็น Y Economy คนดูกลุ่มผู้หญิง มีกำลังการใช้จ่ายค่อนข้างสูง

ซีรีส์วาย ที่กำลังกลายเป็นกระแสใหม่ จึงนำไปสู่การรวมคอนเทนต์ซีรีส์วาย ไว้ใน LINE TV แล้วต่อยอดไปเป็นสติ๊กเกอร์ เสียงเพลงรอสาย และเสียงเรียกเข้าของ LINE สิ่งการต่อยอดนี้เกิดขึ้นได้จากการใช้คน และข้อมูล ที่นำมาวิเคราะห์ “เป็นการสร้างเทรนด์ หลังจากนั้นทำอย่างไรเทรนด์จึงจะอยู่รอดได้”

บริหารคนทำงานในยุคใหม่ ที่ไม่ได้ต้องการแค่รายได้อย่างเดียว

การดูแลผู้ใช้บริการกว่า 47 ล้านราย จำเป็นที่จะต้องมีพนักงาน ที่เป็นเหมือนฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้า การบริหารคนจึงเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน โดยออฟฟิศของ LINE ประเทศไทย จะมีบรรยากาศที่น่าทำงาน นอกจากส่วนที่นั่งทำงานแล้ว ยังมีบาร์ สำหรับทานอาหาร ทานขนม สร้างวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เหมือนการนั่งคุยในบาร์

“พนักงานบางคนเข้าออฟฟิศ แต่ไม่ได้มานั่งทำงาน แต่เข้ามาแฮงเอาท์ มาคุย มาเล่นเกม”

ในยุคปัจจุบันพิเชษฐ เล่าว่า รายได้ ไม่ได้เป็นความต้องการเพียงอย่างเดียวของพนักงานในยุคใหม่อีกต่อไปแล้ว องค์กรต้องดึงดูดคนเก่งๆ ให้เข้ามาทำงาน โดยใช้ความหยืดหยุ่น และเส้นทางอาชีพที่ชัดเจน

นอกจากนี้พนักงานยังต้องการความภาคภูมิใจที่ได้ทำผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์คนทั่วไป ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชีวิตของคนผู้ใช้งานง่ายขึ้น โดยองค์กรจะให้อิสระทางความคิด การมีพนักงานเก่งๆ เข้ามาทำงาน แต่จะชี้นิ้วสั่งคงไม่ได้อีกต่อไป

ชีวิตส่วนตัวของ CEO นอกเหนือจากชีวิตการทำงาน

ในชีวิตของคนคงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีแต่เรื่องงานตลอด 24 ชั่วโมง CEO อย่างพิเชษฐ ก็เช่นเดียวกัน ชีวิตในแต่ละวันของพิเชษฐ เริ่มขึ้นตอน 6 โมงเช้า ด้วยการเช็คอีเมล จากนั้นจึงวิดีโอคอลจากที่บ้านตอนเช้า แล้วไปถึงที่ทำงานประมาณ 9-10 โมง เพราะที่ LINE ไม่ได้กำหนดเวลาการเข้างานแบบตายตัว ส่วนชีวิตในวันเสาร์-อาทิตย์ พิเชษฐจะพยายามอยู่กับครอบครัว และลูกๆ อยู่กับต้นไม้ พาครอบครัวไปเที่ยว

เมื่อถามถึงงานอดิเรก พิเชษฐ ตอบว่าตัวเขาชอบตกปลา แต่ไม่ใช่การตกปลาแบบออกทะเล เพราะเมาคลื่น นอกจากนี้ตัวเขายังชอบการอ่านหนังสือ ดูทีวี และใช้เวลาอยู่ร่วมกับลูกๆ และครอบครัว

จินตนาการถึงชีวิต หากไม่ได้เป็น CEO

หากไม่ได้เป็น CEO พิเชษฐ จินตนาการถึงชีวิตของตัวเองว่า อยากไปอยู่ต่างจังหวัด อยากไปทำฟาร์ม ไปใช้ชีวิตนอกเมืองหลวง เป็นเรื่องที่น่าสัมผัสว่าชีวิตที่ไม่ต้องการความเป็นสมัยใหม่จะเป็นอย่างไร

สรุป

ชีวิตของคนที่เป็นผู้บริหารระดับสูงขององค์กร โดยเฉพาะ CEO อย่างพิเชษฐ ต้องทำหน้าที่เป็นผู้นำขององค์กรไปสู่เป้าหมาย สำหรับ LINE ต้องการจะเป็นแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิต Life on LINE ตลอด 24 ชั่วโมง

หน้าที่สำคัญของ CEO จึงต้องเป็นผู้นำที่พาองค์กรไปสู่เป้าหมาย ผ่านการสร้างคน ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนองค์กร รวมถึงเรียนรู้ ทำความเข้าใจความต้องการของผู้ใช้งานให้ได้มากที่สุด

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา