Virtual Bank หรือ ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาแรงขึ้นมาในช่วงที่ผ่านมา หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เคาะเลือก 3 กลุ่มทุนใหญ่ “กรุงไทย–เอไอเอส–กัลฟ์–โออาร์”, “SCBX-KakaoBank-WeBank” และ “แอสเซนด์ มันนี่” กลุ่มซีพี นำร่องให้บริการ Virtual Bank โดยคาดกันว่าจะเป็นบริการทางเลือกใหม่ สร้างการเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้นโดยเฉพาะกับกลุ่มธุรกิจ SME
อย่างไรก็ตาม ยังมีคำถามอยู่ว่า Virtual Bank จะแจ้งเกิดในไทยได้หรือไม่ เพราะเมื่อดูจากบริบทต่างๆ แล้วถือว่า “ไม่ง่าย” ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงและสถานการณ์เศรษฐกิจที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะเรื่องการให้สินเชื่อ หรือ ปล่อยกู้
เงินฝากดอกเบี้ยสูง ไม่ง่ายอย่างที่คิด
ฐากร ปิยะพันธ์ ผู้จัดการใหญ่ ทีเอ็มบีธนชาต (ttb) ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับ Virtual Bank อย่างน่าสนใจว่า วันนี้เวลานี้ Virtual Bank ทั่วโลกที่ทำแล้วอยู่รอดได้มีจำนวนไม่มาก และยังไม่แน่ว่าในระยะยาวจะอยู่รอดหรือไม่ เพราะว่าตามหลักการ ธนาคารต้องมีเงินฝากจากลูกค้ามากพอเพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคง จากนั้นจึงนำเงินฝากนั้นไปสร้างผลกำไรเพื่อเป็นรายได้ ซึ่งรายได้หลักมาจากดอกเบี้ยเงินกู้
สำหรับ Virtual Bank จึงต้องมีกลยุทธ์คือ ให้ดอกเบี้ยเงินฝากมากกว่าธนาคารปกติ และปล่อยกู้โดยคิดดอกเบี้ยน้อยกว่าธนาคารปกติด้วย เพื่อดึงดูดใจให้คนทั่วไปมาเป็นลูกค้า ซึ่งสามารถทำได้เพราะต้นทุนของ Virtual Bank ต่ำกว่า จากการไม่มีสาขา ไม่มีการดำเนินการที่ยุ่งยาก และใช้เทคโนโลยีมาวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้าก่อนปล่อยสินเชื่อ
แต่สิ่งนี้กลายเป็นอุปสรรคสำหรับ Virtual Bank ในประเทศไทย เพราะคนไทยส่วนใหญ่เข้าถึงธนาคารอยู่แล้ว การที่ Virtual Bank จะดึงดูดให้คนไปฝากเงิน ต้องให้ดอกเบี้ยเงินฝากสูงที่สูงมากพอเพื่อทำให้คนยอมย้ายเงินฝาก ซึ่งเท่ากับต้องสร้างความเชื่อมั่น (Trust) ที่มีกับ Virtual Bank นั้นๆ ด้วย แปลว่า ถ้าคนไม่ย้ายเงินมาฝาก หรือย้ายมาน้อยเกินไป การสะสมทุน (Capital) ของ Virtual Bank ทำได้ไม่ง่ายนัก

เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ใครจะกู้?
ฐากร บอกว่า นอกจากเรื่องเงินฝากที่ไม่ง่ายแล้ว ประเด็นสำคัญคือเงินกู้ ซึ่งจะเป็นตัวสร้างแหล่งรายได้นั่นคือ ดอกเบี้ย ให้กับ Virtual Bank แต่คำถามคือ ใครจะกู้?
เวลานี้ตัวเลขหนี้ครัวเรือนไทยอยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท คิดเป็นประมาณ 88% ของ GDP แม้จะลดลงจากไตรมาสก่อนแต่ยังอยู่ในระดับที่สูงและน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะความสามารถในการชำระหนี้ของกลุ่มลูกหนี้เปราะบาง ยังไม่นับหนี้นอกระบบอื่นๆ อีก ทำให้ช่องว่างในการปล่อยสินเชื่อของ Virtual Bank มีความยากลำบากไม่น้อย ยิ่งต้องให้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเพื่อดึงดูดใจ และที่สำคัญคือไม่อนุญาตให้มีหนี้เสียเกิดขึ้นด้วย
“ลองนึกภาพว่า เรามีเงิน 1 ล้านบาท ถ้าเรา Trust ใน Virtual Bank ประมาณ 10% เราอาจจะย้ายเงิน 1 แสนมาฝากที่ Virtual Bank เพื่อทดลอง แต่สุดท้ายเราก็ไม่มีความจำเป็นต้องกู้หรือขอสินเชื่อจาก Virtual Bank แปลว่า Virtual Bank จะสำเร็จได้นอกจากระดมเงินฝากเป็นมาทุน ต้องปล่อยกู้ได้มากพอเพื่อสร้างผลตอบแทนด้วย”
โอกาสของ Virtual Bank ยังมีหรือไม่?
อีกบริบทที่น่าสนใจคือ ทุกวันนี้ธนาคารในไทยทำ Digital Banking/Mobile Banking มีเทคโนโลยีที่พร้อมมาก สามารถทำได้ทุกอย่าง ถือเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวมาก และยังมีกลุ่ม Non-Bank ที่ให้บริการสินเชื่อแบบถูกกฎหมายอีกหลายร้อยรายในตลาด พร้อมจะแข่งเรื่องดอกเบี้ยและการเข้าถึงกลุ่มลูกค้า ยิ่งเป็นความท้าทายของ Virtual Bank อย่างมากในการสร้างกลยุทธ์ขึ้นมาแข่งขัน
อย่างไรก็ตาม ฐากร มองว่าโอกาสสำหรับ Virtual Bank ในไทยที่น่าสนใจยังมีอยู่ คือ การเน้นในบริการด้าน Wealth Management ทั้งด้านประกัน และ การลงทุน ซึ่งในสถานการณ์เวลานี้มีโอกาสสร้างรายได้ให้กับ Virtual Bank แต่แน่นอนว่าก็ยังต้องเจอกับการแข่งขันจากสถาบันการเงินต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ และรวมถึงลูกค้าคนไทยกลุ่มนี้ ก็ไม่ได้มีจำนวนมากมายนัก
สำหรับ ttb ด้วยบริบทในปีนี้จึงไม่มีความต้องการใบอนุญาต และไม่กังวลกับการแข่งขันกับ Virtual Bank โดยมั่นใจว่าศักยภาพของ ttb สามารถแข่งขันได้ และพร้อมสร้างสรรค์บริการใหม่ๆ ที่ตอบความต้องการของลูกค้าได้ แต่ทั้งหมดเป็นมุมมองจาก ttb ซึ่ง 3 กลุ่มพันธมิตรที่ได้รับใบอนุญาต Virtual Bank ต่างก็มีจุดแข็ง เช่น ฐานลูกค้า, อีโคซิสเต็ม, ความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยี และประสบการณ์ โดยมีมุมมองที่แตกต่างออกไปในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ

ส่งท้าย ทำความเข้าใจ Virtual Bank ให้มากขึ้น
Virtual Bank ในต่างประเทศ ที่ประสบความสำเร็จในขั้นแรก มักจะเกิดในประเทศที่การเข้าถึงธนาคารมีข้อจำกัด หรือธนาคารที่ต้องการขยายธุรกิจเข้าไปในพื้นที่ที่ยังไม่เคยไปมาก่อน การไปแบบไม่มีสาขา ใช้การบริหารจัดการผ่านเทคโนโลยี แต่งตั้งตัวแทนรับฝาก/ถอนเงิน จะช่วยลดต้นทุนและทำให้การขยายธุรกิจทำได้รวดเร็วขึ้น แต่ที่ผ่านมาก็มี Virtual Bank จำนวนไม่น้อยปิดตัวลงไป
ธปท. คาดหวังไว้ว่า virtual bank จะเข้ามายกระดับการให้บริการกับกลุ่มลูกค้ารายย่อยและธุรกิจ SME เป็นหลัก โดยมองว่า
- การไม่มีสาขาจะช่วยลดต้นทุนการดำเนินงาน
- Virtual Bank ที่จะเปิดให้บริการจะต้องนำข้อมูลทางเลือกที่หลากหลายมาใช้วิเคราะห์พฤติกรรม เพื่อประกอบการนำเสนอบริการทางการเงิน
โดยสิ่งที่ ธปท. อยากเห็น คือการให้บริการทางการเงินที่ครบวงจรและเหมาะสมโดยเฉพาะกับกลุ่ม SME, สร้างประสบการณ์การใข้งานที่ดีให้กับลูกค้า สะดวก ปลอดภัย และกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันทั้งราคา คุณภาพ และการเข้าถึง และแน่นอนว่าต้องเป็นธุรกิจที่ยั่งยืน แข่งขันได้ ไม่เอื้อประโยชน์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
สำหรับ 3 กลุ่มทุนที่ได้รับใบอนุญาตนำร่อง Virtual Bank เห็นได้ว่าเป็นกลุ่มที่มีฐานลูกค้าขนาดใหญ่ มีเครือข่ายการให้บริการที่ครอบคลุม มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี บางกลุ่มมีการจับมือพันธมิตรกับต่างประเทศที่มีประสบการณ์
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา