ถอดวิธีคิดทุนจีนยุคใหม่: ขนผลไม้ไทยขายจีน ขนผักจีนขายไทย ทำร้านของฝาก เอาหม่าล่าขึ้นห้าง

บทความโดยพิชญา แขวงสุคนธ์ทิพย์ และปาริชาติ โชคเกิด 

ย่านประชาราษฎร์บำเพ็ญ ห้วยขวาง กรุงเทพฯ สารพัดนิยามที่คนจะตั้งให้ ทั้งสวรรค์ของคนรักหม่าล่า ย่านคนรักอาหารจีนที่ไม่ใช่เยาวราช หรือดินแดนอาณานิคมใหม่ของชาวจีนที่ใครๆ ก็พูดกัน 

Brand Inside ชวนฟังความคิดเห็นในการทำธุรกิจในไทย จากปากทุนจีนรุ่นใหม่หรือชาวจีนที่เป็นนักธุรกิจจีน อดีตนักศึกษาต่างชาติที่เรียนจบจากไทยทั้งปริญญาตรีและโท ทำไมเขาเลือกทำธุรกิจในไทย? เหตุใดจึงทำธุรกิจเหล่านี้? ธุรกิจของเขามีอะไรบ้าง? เขาเห็นโอกาสอะไรจากการทำธุรกิจในไทย? มาดูกัน……..

new chinese capitalist

ต้องบอกว่า การหาข้อมูลหรือหาแหล่งข่าวที่เป็นคนจีนแท้ๆ ที่เข้ามาทำธุรกิจในไทยย่านห้วยขวางนั้น ไม่ง่าย มีทั้งคนที่ปฏิเสธจะแสดงความคิดเห็น มีทั้งคนที่พูดภาษาไทยไม่ได้เลย มีทั้งการบอกให้มาใหม่ในวันหลัง มีทั้งไม่อยากเปิดหน้า สารพัดรูปแบบ แต่ในที่สุดเราก็หาเจอ ร้านเปิดใหม่ ร้านฮุ่ย ฉิง เฉิง ร้านที่เพิ่งเปิดได้ไม่กี่วันบนถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ 

พนักงานภายในร้านเป็นคนไทยเชื้อสายจีน บ้านเกิดอยู่เชียงใหม่  พูดภาษาจีนได้คล่องแคล่วมาก เขาเล่าว่า เขาเพิ่งเปลี่ยนงานและเข้ามาทำงานที่นี่ได้ไม่กี่วัน กลุ่มลูกค้าหลักของร้านมักจะเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นส่วนใหญ่ ร้านนี้เพิ่งเปิดได้แค่ 2-3 วัน สินค้าที่ขายดีคือผลไม้อบแห้ง ยาอมตราตะขาบ ยาดมหรือผลิตภัณฑ์ที่ไทยผลิต 

ร้านเปิดให้บริการประมาณเที่ยงครึ่ง ปิดเที่ยงคืน พนักงานมีที่พักอยู่ที่ชั้นบนของตึก ชั้นล่างทำเป็นร้านค้า ส่วนเจ้าของร้านเป็นคนจีนที่พูดภาษาไทยได้แต่พักอาศัยที่อื่น พนักงานของร้านยังช่วยเป็นล่ามคุยกับเจ้าของร้านให้เราด้วยในช่วงแรก ขณะที่บางร้านก็พร้อมจะปฏิเสธและบอกเลยว่า ร้านเราไม่ให้สัมภาษณ์ แต่สำหรับร้านฮุ่ย ฉิง เฉิง นี้มีเจ้าของร้านชื่อจินและจู พร้อมให้สัมภาษณ์เต็มที่

new chinese capitalist
แค่ลงสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินห้วยขวาง ก็พบกับป้ายโฆษณาจีน ปลอดภาษาไทยแล้ว

ทำความรู้จักทุนจีนรุ่นใหม่ อาจู หยาง

ภาค (ชื่อไทย) หรืออาจู หยาง (ชื่อจีน) อายุ 34 ปี เป็นคนจีนมาทำธุรกิจด้วยการหุ้นกับเพื่อนเพื่อลงทุนในไทย เล่าให้ฟังถึงสาเหตุสำคัญว่าทำไมจึงมาทำธุรกิจด้วยการเปิดร้านแถวห้วยขวาง 

อาจูบอกว่า แถวห้วยขวางมีลูกค้าเป็นคนจีนเยอะ จึงเลือกมาลงทุนที่นี่ ตอนนี้เช่าตึกทำธุรกิจเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 70,000 บาทต่อเดือน ย่านนี้ บางตึกไม่ให้ใช้ชั้นบน ให้ใช้ชั้นล่างอย่างเดียวต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 3-4 หมื่นบาทต่อเดือน เขาจึงเลือกตึกที่สามารถใช้งานได้ทั้งตึก ราคาเช่า 70,000 บาทต่อเดือน

เขาเริ่มทำธุรกิจตั้งแต่อายุ 24 ปี ทำธุรกิจที่ไทยมานานเป็นเวลา 10 ปีแล้ว สาเหตุที่ทำธุรกิจที่ไทยเนื่องจากมาเรียนที่ไทย จบปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี จากนั้นก็ต่อปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต สาขาบริหารธุรกิจ จบปริญญาตรีเมื่ออายุ 24 ปีและจบปริญญาโทตอนอายุ 27 ปี 

หลังจากที่เรียนเสร็จ อาจูก็คิดว่า ไหนๆ ก็เรียนจนใช้ภาษาไทยได้แล้ว จึงคิดว่าถ้ายังอยู่ตรงนี้ภาษาไทยที่เรียนมาน่าจะพัฒนาขึ้นและน่าจะใช้ประโยชน์ได้ด้วย ถ้ากลับไปที่จีน คนที่พูดไทยในจีนมีจำนวนน้อย เรียนภาษาไทยแล้วกลับไปใช้ชีวิตที่จีนก็เหมือนไม่ได้อะไรเลย เรียนแล้วไม่ได้ใช้ก็จะลืมทักษะนี้ไป 

อาจูเป็นคนยูนนาน ก่อนมาไทย เขาเรียนภาษาไทยพื้นฐานเล็กน้อยจากจีน ตอนมาไทยก็พูดอะไรไม่ได้เลย พูดได้แค่ “สวัสดีครับ” คำเดียว ช่วงแรกๆ กินข้าวค่อนข้างลำบาก เขาต้องกินข้าวมันไก่ทั้ง 3 มื้อเพราะไม่รู้ภาษา เขาบอกว่าเรียนภาษาไทยนั้นไม่ยากเลย 

new chinese capitalist

เริ่มชีวิตการทำงานแห่งแรกที่ ตลาดสี่มุมเมือง

อาจูไม่ได้เริ่มต้นชีวิตการทำงานด้วยการทำธุรกิจขนส่งเป็นสิ่งแรก เขาเริ่มต้นด้วยการเป็นพนักงาน/ลูกจ้างมาก่อน เมื่อ 10 ปีที่แล้ว รุ่นพี่ที่เป็นคนจีน มาเรียนที่ไทยและจบปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยเดียวกันและยังเป็นครูสอนภาษาจีนแนะนำงานให้ อาจูเอง 

เขาบอกว่าตอนแรกเขาก็หางานตามบริษัท หลังเรียนจบก็รู้สึกว่าเรียนมาแล้ว ก็คิดว่าตัวเองเก่งแล้ว พอเจอเงินเดือนน้อยก็ไม่อยากทำงาน แต่เพราะเขาเป็นคนต่างชาติและต้องมีวีซ่าในการอยู่ประเทศไทย อาจูบอก เพราะประเด็นเรื่องวีซ่า ทำให้เขาไม่เรื่องมาก เขาเลือกทำงานที่บริษัทที่สามารถทำวีซ่าให้เขาได้ แม้ไม่ให้เงินเดือนก็ไม่เป็นไร ขอให้เข้าไปทำงานให้ได้ก่อน เพื่อที่จะได้เรียนรู้ จากนั้นจึงสมัครเข้าทำงานที่ตลาดสี่มุมเมืองซึ่งเป็นตลาดขายผัก ตลาดกระจายสินค้าเกษตรที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย บนพื้นที่ราว 453 ไร่ ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้เขาได้รู้จักผู้คนที่เป็นเจ้าของธุรกิจแนวนี้

จากนั้นเมื่อได้วีซ่าทำงาน (Work Permit) ทำงานได้ 1 ปี เขาก็เริ่มเปลี่ยนงาน ตอนนั้นทำงานเป็นวิศวกรวัดเสาสัญญาณโทรศัพท์ที่ DTAC ช่วงนั้นยังเป็น 2G อยู่ งานที่เขาทำ เขาทำให้บริษัท Huawei ที่เข้ามารับงานของไทยทั่วประเทศ และเขาต้องการหาคนจีนที่พูดภาษาไทยได้ ใช้คอมพิวเตอร์ได้ แม้ไม่มีประสบการณ์ บริษัทก็สามารถสอนได้ อาจูทำหน้าที่เป็นวิศวกรที่วัดเสาสัญญาณโทรศัพท์ ต้องหาคลื่นและเดินทางตลอดเวลา จากนั้นก็มาทำงานที่ DTAC แถวสามย่าน

ต่อมา ชีวิตก็เริ่มเปลี่ยนอีกครั้ง เมื่อเพื่อนที่ทำงานแถวตลาดสี่มุมเมืองติดต่อชวนให้เขาร่วมลงทุน จากนั้นก็ร่วมมือกันทำบริษัทขนส่ง เริ่มมีการจ้างพนักงานเข้ามาทำด้วย

หลากธุรกิจที่อาจูเลือกทำ ทั้งขนส่งผักและผลไม้ ทั้งทำร้านอาหาร ทั้งร้านขายของฝาก ดังนี้

หนึ่ง ธุรกิจขนส่งผัก-ผลไม้จากไทยไปจีน จากจีนมาไทย
สอง ทำร้านขายของฝาก ซุปเปอร์มาร์เก็ต
สาม ทำร้านอาหาร “ชาบู หม่าล่า” ขึ้นห้าง

Durian
Photo by Aiva Apsite on Unsplash

ธุรกิจขนส่งผลไม้ไทยไปขายจีน ขนส่งผลไม้และผักจากจีนกลับมาขายไทย

อาจูทำธุรกิจ Shipping ด้วยการขนส่งผลไม้สดจากไทยไปขายจีน บริษัทจะมีลูกค้าคนจีนที่เหมาที่ดินที่คนไทยปลูกทุเรียนอยู่ ลูกค้าจะเก็บทุเรียนไว้ในโรงงานและแพคของ 1 ชิ้นน้ำหนัก 18 กิโลกรัม ธุรกิจนี้ทำมานานนับ 10 ปีแล้ว ชื่อบริษัทยองบาง บริษัทนี้ตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ ทำหน้าที่ขนส่งทุเรียนจากจังหวัดจันทบุรีและส่งออกไปจีน 

ลูกค้าสวนทุเรียนจะให้บริษัทของอาจูไปรับทุเรียนที่จังหวัดจันทบุรีและส่งออกไปยังจีน 

เมื่อก่อนนี้ใช้รถยนต์บรรทุกสินค้าเพื่อขนส่งอย่างเดียว เดี๋ยวนี้มีเครื่องบินและรถไฟฟ้าความเร็วสูงด้วย ตอนใช้รถยนต์บรรทุกสินค้าค่อนข้างสะดวกเพราะเดินทางเมื่อไรก็ได้ แต่รถไฟความเร็วสูงมีเวลาเป็นตัวกำหนดในการเดินทาง แต่ข้อดีของการขนส่งด้วยรถไฟความเร็วสูง มันช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางได้ 1 วัน

อาจูเล่าว่าทำขนส่งช่วงแรกไม่จำเป็นต้องมีรถของตัวเอง เขาเช่าตู้คอนเทนเนอร์ไว้ขนส่งผลไม้จากจีนไปไทย พอได้กำไร ก็ค่อยๆ เก็บเงินซื้อตู้คอนเทนเนอร์ เก็บทีละตู้ สองตู้ เรื่อยมา ตอนนี้มี 40 กว่าตู้แล้ว ตู้คอนเทนเนอร์ใหม่ราคาอยู่ที่ตู้ละ 400,000 – 500,000 บาท เขาซื้อตู้ใหม่เท่านั้นเพราะต้องใช้บรรทุกผลไม้สด ถ้าแอร์เก่าจะทำให้อากาศภายในตู้ไม่เย็น รักษาความสดของผักผลไม้ไว้ไม่ได้ 

ผลไม้ที่เขาขนส่งจากไทยไปจีน คือทุเรียน มังคุด ลำไย มะพร้าว ส้มโอ มะม่วง และสับปะรด อาจูบอกว่าผลไม้ไทยรสชาติดี อร่อย เมื่อไปส่งถึงลาวแล้ว เขาก็จะรับผลไม้จากจีนกลับมาขายในไทย นั่นคือองุ่น ส้ม แอปเปิล และผัก มาลงที่ตลาดไทและตลาดสี่มุมเมือง

เขาเลือกบรรทุกผลไม้จากจีนกลับมาเพราะไม่อยากให้ตู้คอนเทนเนอร์ว่าง สำหรับรายได้นั้นเขาบอกว่าไม่แน่นอน ทำธุรกิจขนส่งมา 10 ปี ช่วงที่กำไรดีที่สุดคือช่วงโควิดระบาด ได้กำไรมากกว่าปกติ 2-3 เท่า โดยปกติภายใน 1 ปี จะขนส่งทุเรียนไปจีน 1,000 กว่าตู้ ถ้ารวมผลไม้ประเภทอื่นด้วยก็ประมาณ 2,000 กว่าตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งบางเที่ยวก็มีการตีตู้เปล่ากลับมาบ้าง 

การขับรถบรรทุกผลไม้จากจันทบุรี ประเทศไทย ไปถึงประเทศลาว จะมีรถจากประเทศจีนมารับผลไม้ของไทย และนำตู้คอนเทนเนอร์มาเปลี่ยนใส่ผักและผลไม้จากจีน จะทำให้ระยะเวลาในการใช้ตู้คอนเทนเนอร์สั้นลง แต่ช่วงที่โควิดระบาดทางการจะไม่ให้เปิดตู้เลยเพราะกลัวว่าจะติดเชื้อ จึงต้องเอาตู้คอนเทนเนอร์ขึ้นรถจากจันทบุรียิงยาวไปถึงจีนเลย ถ้าทำแบบนี้จะทำให้ตู้คอนเทนเนอร์ไม่พอใช้ เพราะต้องใช้ระยะเวลาในการรอตู้คอนเทนเนอร์นาน

ตอนนี้เพิ่งเริ่มเปิดประเทศ เศรษฐกิจก็ค่อยๆ เริ่มดีขึ้น หลังยุตินโยบาย Zero Covid ก็เริ่มกลับมาใช้วิธีขนส่งแบบเดิม คือมีตู้คอนเทนเนอร์จากจีนมาเปลี่ยนที่ลาวให้

new chinese capitalist

วิธีเดินทางทำได้ 2 รูปแบบ

1) ใช้รถยนต์ของฝั่งไทยขับไปที่จังหวัดจันทบุรี จากนั้นไปจังหวัดหนองคายและขึ้นรถไฟฟ้าความเร็วสูง โดยใช้พ่วงตู้คอนเทนเนอร์ไป 

2) ใช้รถยนต์จากฝั่งไทยวิ่งถึงลาว จากนั้นจึงเปลี่ยนรถจากลาวเข้าจีน เพราะพวงมาลัยฝั่งจีนและฝั่งไทยคนละฝั่งกัน จีนต้องขับรถชิดขวา ไทยต้องขับรถชิดซ้าย ตอนนี้ก็ถือว่ารถยนต์สะดวกกว่าเพราะสามารถเดินทางได้ตลอดเวลาที่ลูกค้าต้องการ แต่รถไฟความเร็วสูง ทำให้ลดระยะเวลาเดินทางได้มาก สามารถขนส่งได้เร็วขึ้น 1 วัน 

สำหรับตอนนี้เน้นผลไม้ทุเรียนจากจังหวัดจันทบุรี ความอร่อยของผลไม้จากที่อื่นยังไม่เท่าที่จังหวัดจันทบุรี ส่วนเรื่องสายพันธุ์นั้นขึ้นอยู่กับลูกค้าที่เหมาที่ดินปลูกทุเรียนได้ ช่วงนี้เน้นสายพันธุ์หมอนทอง ช่วงเมษายนถึงกรกฎาคมเป็นฤดูที่ทุเรียนออกเยอะที่สุด หลังจากเดือนกรกฎาคมก็จะลงภาคใต้คือจังหวัดชุมพร ซึ่งก็เป็นไปตามลูกค้าคนจีนที่เหมาที่ดินทุเรียนได้ 

สอง ทำร้านขายของฝาก ซุปเปอร์มาร์เก็ตของฝากจีน

ทำร้านขายของฝากจากจีนแท้ๆ ให้ทั้งคนจีนและคนไทย กำลังเริ่มเปิดร้านขายของฝากไทยให้คนจีน

หวังจงหวังซุปเปอร์มาร์เก็ต (มีแล้ว 20 สาขา)

อาจูร่วมหุ้นกับเพื่อน ทำร้านชื่อ “หวังจงหวังซุปเปอร์มาร์เก็ต” แนวคิดในการทำธุรกิจนี้ก็คือ การเน้นขายของฝากที่เป็นอาหาร เครื่องดื่ม น้ำบ๊วย น้ำชา น้ำผลไม้หลากชนิด เครื่องปรุงรส ขนมสารพัดแบรนด์จากจีน มาขายในไทย ภายใน 2 ปี ขยายสาขาไปแล้ว 20 แห่ง มีทั้งลูกค้าที่เป็นคนจีนและคนไทย มีทั้งในกรุงเทพฯ สาขาเทียนร่วมมิตร มีพัทยา และอีกหลายจังหวัด

ทำร้านฮุ่ย ฉิง เฉิง (เพิ่งเปิด) มีอยู่สาขาเดียวที่ย่านห้วยขวาง ยังไม่คิดเปิดหลายสาขา ร้านนี้ทำร้านขายของฝาก ขายสินค้าของคนไทยที่คนจีนนิยมซื้อ 

หวังจงหวัง ซุปเปอร์มาร์เก็ต
ภาพจาก หวังจงหวัง ซุปเปอร์มาร์เก็ต

สาม เดินหน้าทำร้านอาหาร “ชาบู หม่าล่า ซี ซ่วน ซ่วน” ขึ้นห้าง 12 สาขา


ตอนนี้ห้างที่มีพื้นที่ว่างในกรุงเทพฯ อยู่มาก เขาก็ติดต่อทางอาจูว่าสนใจไหม อยากทำธุรกิจไหม ห้างก็อยากได้สิ่งที่คนนิยมเข้ามาเปิดให้บริการในห้าง จะได้พาลูกค้ามาเข้าห้างได้

อาจูบอกว่าทำธุรกิจ เขาไม่เคยคิดเรื่องรายได้มาเป็นอันดับแรกเลย เพราะธุรกิจยังไม่ได้เริ่มต้น ยังไม่ได้ลงมือทำ ถ้าคิดเรื่องรายได้ก็เป็นเรื่องไกลตัวไป แค่คิดว่าทำให้ขายได้ขายเท่าไรให้ไม่ขาดทุนก็พอ 

สำหรับพื้นที่ในแต่ละห้างก็คิดราคาไม่เหมือนกัน อย่างเช่น อโศก ตารางเมตรละ 1,800 บาท แต่ละห้างเขาก็จะเปิดร้านชาบู หม่าล่า ราว 200 ตารางเมตรขึ้นไป เขามองว่าราคาอย่างแพงก็ประมาณตกเดือนละ 250,000 บาทบ้าง 300,000 บาทบ้าง ถ้านนทบุรีก็ตารางเมตรละ 300 กว่าบาท ตกเดือนละ 100,000 กว่าบาท 

ตอนนี้เริ่มทำธุรกิจชาบู หม่าล่า เข้าห้างสรรพสินค้าแล้ว แบรนด์ “ซี ซ่วน ซ่วน ชาบูหม่าล่า” เปิดสาขาแรกที่เมเจอร์ นนทบุรี เตรียมเดินหน้าเปิดอีก 11 สาขา ทั้งซีคอนบางแค ซีคอนศรีนครินทร์ แฟชั่นไอซ์แลนด์ วิลลามาร์เก็ต สุวรรณภูมิ วิลลามาร์เก็ต หัวหิน เทอร์มินัล 21 ของโคราช เทอร์มินัล 21 อโศก จามจุรีสแควร์ ฟอร์จูนทาวเวอร์ (สาขาที่ 2 เตรียมเปิดกลางเดือนกรกฎาคม) หัวหิน และพัทยา ตอนนี้อยู่ในช่วงเซ็นสัญญาและตกแต่งร้าน

สำหรับธุรกิจนี้ เพิ่งจะเริ่มต้นในปี 2566 หลังโควิดระบาดลดลง สาเหตุที่เลือกบุกตลาดห้าง เพราะมีลูกค้าไปเดินเที่ยวทุกวัน มีที่จอดรถฟรี สะดวก ถ้าเป็นย่านห้วยขวางนี้ หาที่จอดรถไม่ได้เลย ลูกค้าไม่สะดวก พอลูกค้าไม่สะดวก เขาก็ขี้เกียจมากิน สำหรับราคาหม่าล่า คิดราคาตามสีไม้ เริ่มต้นไม้ละ 5 บาท 

สาเหตุที่เลือกทำสุกี้ ชาบู หม่าล่าเพราะกำลังเป็นที่นิยมกัน คนไทยชอบและยอมรับ ก่อนโควิดระบาดยังไม่ได้รับความนิยมเท่านี้ ตอนนี้ประเทศไทยยอมรับแล้ว เขาก็รู้สึกว่าเป็นโอกาสที่ดี จึงลงมือทำ แต่ดีหรือไม่ ยังไม่มีใครรู้ เพิ่งเริ่มเปิดสาขาแรกได้สาขาเดียวเพียง 1 สัปดาห์ ยังไม่รู้รายได้ 

new Chinese Capitalist
สินค้าไทยที่ร้านจีน นิยมนำมาวางขาย
new Chinese Capitalist
สินค้าไทยที่ร้านจีน นิยมนำมาวางขาย
new Chinese Capitalist
สินค้าไทยที่ร้านจีน นิยมนำมาวางขาย

ความแตกต่างของแบรนด์ “ซี ซ่วน ซ่วน ชาบูหม่าล่า” กับแบรนด์อื่นตามท้องตลาด ?

อาจูบอกว่ามี 3 เรื่องสำคัญสำหรับแบรนด์ซี ซ่วน ซ่วน ก็คือรสชาติดี บริการดี และอาหารมีความหลากหลาย

“รสชาติดี เพราะเราใส่ใจ” 

อาจูมองว่า ที่จริงแล้วหม่าล่าเนี่ย เราจะทำให้มันรู้สึกว่ารสชาติพอๆ กันไม่ได้ รสชาติแค่ต่างกันนิดเดียวก็รู้สึกไม่ดีแล้ว อาจจะเกลือเยอะไป ผงชูรสเยอะไป ซีอิ๊วเยอะไปเค็มไป แต่แบรนด์ของเรา รสชาตินี้เรามั่นใจว่าเราทำมาดี เพราะเราใส่ใจ เรายอมเสียเวลาเพื่อพัฒนารสชาติให้อร่อย

“บริการดี มีอาหารพร้อมเสิร์ฟครบ”

เราบริการดี เข้ามาก็มีอาหารให้ครบทุกอย่าง ถ้าลูกค้ามากินหม่าล่า ก็สามารถกินของว่างได้ด้วย เรายังมีอาหารจากจีนด้วย ทั้งเครื่องดื่มยอดฮิต อย่าง “หวังเหล่าจี๋” ที่แก้ร้อนในได้ และยังมีเครื่องดื่มต่างๆ หลากชนิดด้วยกัน

“มีอาหารหลากหลาย เยอะกว่าร้านอื่น”

อาจูมั่นใจว่า อาหารแบรนด์ซี ซ่วน ซ่วน มีให้เลือกได้เยอะกว่าร้านอื่น เช่น ร้านอื่นอาจมีลูกชิ้นหมู ลูกชิ้นเนื้อ ลูกชิ้นปลา ทางร้านก็มีเหมือนกันแต่มีให้เลือกประมาณ 50 แบบ เช่น ลูกชิ้นหมูสอดใส้พร้อมน้ำซุป บางร้านจะผสมแป้งเยอะ ลูกค้าจะได้รับแค่ความอิ่มกลับไปแต่ไม่ได้รู้สึกอร่อย แต่ถ้ามาที่ร้านซี ซ่วน ซ่วน จะได้รับทั้งความอิ่ม ความอร่อยจากอาหารที่หลากหลายกลับไป 

คนไทยชอบกินเส้น เราก็มีเส้นให้หลากหลาย เช่น เส้นมาม่าทำจากผักโปยเล้ง ทำจากไข่ไก่ เรียกว่าสารพัดเส้นที่จะจินตนาการได้ ฯลฯ แค่นั้นยังไม่จบ ร้านยังเลือกใช้ถ้วยชามจานที่น่ารัก ทำให้ลูกค้าเห็นแล้วรู้สึกอยากกินมากขึ้นด้วย

อาจูบอกว่า ทุกวันนี้ที่เห็นคนมาต่อคิวกินหม่าล่าส่วนใหญ่ในย่านห้วยขวางเป็นคนไทยทั้งหมด เมื่อก่อนนี้ เขาคิดว่าทำธุรกิจเพราะอยากจะทำธุรกิจกับคนจีนอย่างเดียว ตอนนี้เขาเปลี่ยนวิธีคิดแล้ว คือความคิดที่ว่า ถ้าอยากขยายธุรกิจมากขึ้นก็ต้องทำธุรกิจที่ตอบโจทย์ตลาดคนไทยด้วย เพราะเราอยู่เมืองไทย ถ้าคนไทยไม่ชอบธุรกิจเราเลย ธุรกิจจะโตได้อย่างไร? 

new Chinese Capitalist

สาเหตุที่ไม่ทำธุรกิจที่จีน

อาจูบอกว่า ประเทศจีนก็ดี ตลาดใหญ่ แต่ตั้งแต่มาเรียนที่ไทย เขาก็เริ่มต้นทำธุรกิจที่ที่ไทยแล้ว จึงไม่อยากไปทำธุรกิจในตลาดที่ตัวเขาเองก็ไม่เข้าใจ 

อุปสรรคของอาจู ตอนนี้คืออะไร?

อาจูยังไม่ได้สัญชาติไทยแม้ทำธุรกิจมานานนับสิบปี แค่อยู่นานไม่สามารถทำให้ได้สัญชาติได้ ถ้าอยากเปลี่ยนสัญชาติ เขามองว่าต้องแต่งงานกับไทยมีลูกด้วยกัน ตอนนี้เขาใช้วีซ่า Work Permit และกำลังเตรียมแต่งงานกับคนไทย

ไม่คิดเรื่องประสบความสำเร็จในชีวิต คิดแต่จะเดินหน้าทำให้บรรลุเป้าหมายไปเรื่อยๆ 

อาจูบอกว่าทำธุรกิจมากมายขนาดนี้ เขายังไม่ประสบความสำเร็จ มันไม่มีทางที่จะบอกได้เลยว่าเราประสบความสำเร็จแล้ว ประสบความสำเร็จเมื่อไร เพราะเรายังมีเป้าหมายอยู่ ถ้าเป้าหมายนี้ทำได้แล้ว เราก็จะสร้างเป้าหมายต่อไป ถ้าเรายังมีชีวิตอยู่ เป้าหมายก็ไม่มีวันสิ้นสุด

new Chinese Capitalist

ร้านหวังจงหวังซุปเปอร์มาร์เก็ต สาขาเทียนร่วมมิตร
ร้านซี ซ่วน ซ่วน ชาบูหม่าล่า

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา