ING ปรับลดเป้า GDP ของไทยเหลือแค่ 2.5% หลังตัวเลขการผลิตนั้นออกมาอ่อนแอกว่าคาด นอกจากนี้ ING คาดว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก กนง. ในวันพรุ่งนี้ด้วย
ING สถาบันการเงินจากประเทศเนเธอร์แลนด์ประกาศปรับลดเป้า GDP ของไทยปีนี้เหลือแค่ 2.5% จากเดิมอยู่ที่ 2.8% เป็นการปรับลด GDP ของไทยครั้งที่ 3 หลังจากตัวเลขดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) นั้นติดลบ 4.4% แย่กว่านักวิเคราะห์คาดไว้ นอกจากนี้ ING ยังมองว่าทางด้านการนำเข้าสินค้าของไทยถือว่าอ่อนแอไม่แพ้ภาคการส่งออกด้วย
- พิษสงครามการค้า ส่งออกไทยเดือนสิงหาคมติดลบ 4% ขณะที่ข้าวไทยส่งออกติดลบ 44.7%
- Standard Chartered ปรับเป้า GDP ไทยเหลือ 3% คาด กนง. ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอีกรอบ
- ING มองปัญหาการเมืองไทยยังกดดันเศรษฐกิจ คาด GDP โต 3.1% และ กนง. ลดดอก 2 ครั้งในปีนี้
- GDP ไทยไตรมาส 2 โต 2.3% ต่ำสุดในรอบ 5 ปี สภาพัฒน์คาดเศรษฐกิจไทยปีนี้โต 2.7-3.2%
ตัวเลขดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนสิงหาคม ที่สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมรายงานออกมานั้น ได้กล่าวถึงผลกระทบจากเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ชะลอตัวต่อเนื่อง รวมไปถึงคำสั่งซื้อจากตลาดต่างประเทศชะลอตัวลง โดยสินค้าที่ได้รับผลกระทบคือ รถยนต์และชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้อง ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์จากยาง เหล็กและเหล็กกล้าขั้นแรก รวมไปถึงน้ำตาล
มุมมองของ ING มองว่าตัวเลขของการผลิตที่อ่อนแอย่อมกระทบไปถึงภาคการส่งออกของไทย และส่งผลต่อเนื่องถึงตัวเลข GDP ของไทย จะเห็นได้จากตัวเลขทางเศรษฐกิจของไทยในไตรมาส 2 ที่ผ่านมาที่อ่อนแอเป็นอย่างมาก และคาดว่าตัวเลขการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 จะไม่ต่างกับไตรมาส 2 มากนัก
นอกจากนี้ ING ยังมองว่าคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมในวันพรุ่งนี้ โดยนักวิเคราะห์ของ ING มองว่ากนง. ไม่สามารถปฏิเสธตัวเลขทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอได้เลย และถ้าหากไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมในครั้งนี้แล้วไปปรับลดในการประชุมครั้งต่อไปก็อาจถือว่าสายเกินไป ซึ่งสิ่งที่กระทบตามมาคือค่าเงินบาทนับตั้งแต่ต้นปีที่แข็งค่าไปแล้วถึง 6.78%
ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมาสถาบันการเงินของต่างประเทศได้ทยอยปรับลดเป้า GDP ของไทยลงอย่างต่อเนื่อง โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากภาคการส่งออก และการท่องเที่ยวที่อ่อนแอ ขณะเดียวกันค่าเงินบาทของไทยที่แข็งค่ามากไปก็ยังสร้างปัญหาอีกด้วย
ที่มา – บทวิเคราะห์จาก ING
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา