อินโดนีเซียห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มพฤหัสที่ 28 เมษา’ 65 นี้ แก้วิกฤตขาดแคลนในประเทศ

อินโดนีเซีย ประเทศส่งออกน้ำมันปาล์มอันดับ 1 ของโลก ประกาศเตรียมห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มซึ่งเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่จะมีผลภายในวันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน 2565 นี้ ส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มถีบตัวสูงขึ้น

palm oil

อินโดนีเซียถือเป็นประเทศที่ผลิตน้ำมันปาล์มได้เป็นสัดส่วนครึ่งหนึ่งของซัพพลายโลก น้ำมันปาล์มถูกนำมาใช้ในการทำอาหารและนำมาใช้เพื่อการผลิตสินค้าชนิดอื่น อาทิ เค้ก บิสกิต แป้งพิซซ่า ขนมปัง ชอคโกแลต นูเทลลา ครีมทาหน้า ลิปสติก สบู่ ส่วนผสมในการทำสารซักล้างอย่างผงซักฟอก ไปจนถึงเชื้อเพลิงอย่างไบโอดีเซลก็ต้องใช้น้ำมันปาล์มดิบเช่นกัน ด้านประธานาธิบดีโจโควี่ หรือโจโค วิโดโดแถลงผ่านวิดีโอเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมานี้เองว่า ท่าทีดังกล่าวก็เพื่อตรึงราคาน้ำมันปาล์มที่ใช้ในประเทศให้มีราคาถูกลง เขาบอกว่าเขาตรวจสอบและประเมินผลจากการใช้นโยบายนี้แล้ว

ก่อนที่จะมีการประกาศงดส่งออกน้ำมันปาล์มก็มีประชาชนออกมาเคลื่อนไหวประท้วงเนื่องจากน้ำมันสำหรับประกอบอาหารมีราคาสูงขึ้น โดยราคาขายปลีกแพงขึ้นกว่า 40% การแบนการส่งออกน้ำมันปาล์มนี้ คาดว่าจะดำเนินต่อไปจนกว่าจะมีการแจ้งการเปลี่ยนแปลง

ในปี 2021 อินโดนีเซียส่งออกน้ำมันปาล์มมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 1.02 ล้านล้านบาท ด้าน Sri Mulyani Indrawati รัฐมนตรีคลังของอินโดนีเซียระบุกับสำนักข่าวรอยเตอร์สเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า การแบนการส่งออกน้ำมันปาล์มนั้นอาจจะส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่มันเป็นความจำเป็น เพื่อจะยับยั้งไม่ให้ราคาน้ำมันสำหรับประกอบอาหารภายในประเทศไม่ได้มีราคาแพงรุนแรงมากไปกว่าเดิม

Palm Oil
Markets Insider

สัญญาซื้อขายน้ำมันปาล์มดิบล่วงหน้าที่ Bursa Malaysia exchange พุ่งไปที่ 7% ในช่วงเช้าวันจันทร์ที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาน้ำมันพืชชนิดอื่นมีราคาสูงขึ้นตามไปด้วย ด้านน้ำมันถั่วเหลืองซื้อขายล่วงหน้าที่ชิคาโกก็พุ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา ราคาน้ำมันพืชซึ่งรวมทั้งราคาน้ำมันปาล์ม กำลังถีบตัวสูงขึ้นขณะที่มีสงครามในยูเครน ซึ่งเป็นประเทศที่ส่งออกน้ำมันดอกทานตะวันรายใหญ่ของโลก

Indonesia Palm oil production
USDA: พื้นที่ที่ผลิตน้ำมันปาล์มในอินโดนีเซีย แบ่งเฉดสีตามปริมาณมาก-น้อย

อินโดนีเซียผลิตน้ำมันปาล์มมากที่สุดอันดับ 1 ของโลก ผลิตได้มากถึง 59%

USDA หรือกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกาคาดการณ์ไว้ว่า จะผลิตน้ำมันปาล์มได้ 77.047 ล้านตัน โดยจัดอันดับสำหรับประเทศ Top 10 ที่ผลิตน้ำมันปาล์มมากติดสิบอันดับแรกของโลก ดังนี้

  • อินโดนีเซีย ผลิตได้ 59% ราว 45,500 เมตริกตัน (1 เมตริกตัน = 1,000 กิโลกรัม) (45 ล้านตัน)
  • มาเลเซีย ผลิตได้ 25% ราว 19,000 เมตริกตัน (19 ล้านตัน)
  • ไทย ผลิตได้ 4% ราว 3,120 เมตริกตัน (3.1 ล้านตัน)
  • โคลัมเบีย ผลิตได้ 2% ราว 1,747 เมตริกตัน (1.7 ล้านตัน)
  • ไนจีเรีย ผลิตได้ 2% ราว 1,400 เมตริกตัน (1.4 ล้านตัน)
  • กัวเตมาลา ผลิตได้ 1% ราว 880 เมตริกตัน (8.8 แสนตัน)
  • ฮอนดูรัส ผลิตได้ 1% ราว 600 เมตริกตัน (6 แสนตัน)
  • ปาปัวนิวกินี ผลิตได้ 1% ราว 565 เมตริกตัน (5.65 แสนตัน)
  • เอกัวดอร์ ผลิตได้ 1% ราว 564 เมตริกตัน (5.64 แสนตัน)
  • บราซิล ผลิตได้ 1% ราว 550 เมตริกตัน (5.5 แสนตัน)
Palm Oil-Corp Calendar
USDA: ถ้าดูจากฤดูกาลในการผลิตของอินโดนีเซีย พบว่า ช่วงเดือนเมษายน เป็นช่วงที่ผลิตน้ำมันปาล์มได้น้อยกว่าค่าเฉลี่ย

การสั่งแบนส่งออกน้ำมันปาล์มของอินโดนีเซียที่เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของโลกนี้ จะส่งผลให้วันพฤหัสบดีที่จะถึงนี้ ราคาน้ำมันพืชทั้งหลายแพงขึ้นไปตามๆ กัน ทั้งน้ำมันปาล์ม น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอกทานตะวัน และน้ำมันคาโนลา ด้าน James Fry ประธานที่ปรึกษาด้านสินค้าโภคภัณฑ์แห่ง LMC International ระบุว่า การตัดสินใจของอินโดนีเซียไม่ได้ส่งผลกระทบต่อน้ำมันปาล์มอย่างเดียว แต่ส่งผลถึงน้ำมันพืชทั้งมวลทั่วโลกด้วย

ไม่ใช่แค่น้ำมันปาล์มที่ราคาจะแพงขึ้น แต่ราคาน้ำมันพืชชนิดอื่นจะแพงตามไปด้วย

ปัจจุบัน น้ำมันพืชเหล่านี้ราคาขึ้นไปแล้วกว่า 50% ในรอบหกเดือนที่ผ่านมา อันเนื่องมาจากแรงงานขาดแคลนในมาเลเซีย ภัยแล้งในอาร์เจนตินาและแคนาดา ซึ่งถือเป็นผู้ส่งออกน้ำมันถั่วเหลืองและน้ำมันคาโนลารายใหญ่ที่สุดของโลก รวมทั้งการบุกยูเครนของรัสเซีย ยูเครนเองก็เป็นผู้ส่งออกน้ำมันดอกทานตะวันรายใหญ่ที่สุดของโลก ก็ส่งผลกระทบต่ออาหารที่ต้องใช้น้ำมันดอกทานตะวันมีราคาแพงขึ้น ส่งผลให้ความต้องการน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้นด้วย

Joko Widodo

ข้อมูลจาก OEC ปี 2020 ระบุว่า 5 ประเทศแรกที่นำเข้าน้ำมันปาล์มจากอินโดนีเซียมากที่สุดคือ อันดับแรกอินเดีย 3.05 พันล้านเหรียญสหรัฐ จีน 2.47 พันล้านเหรียญสหรัฐ ปากีสถาน 1.62 พันล้านเหรียญสหรัฐ สเปน 854 ล้านเหรียญสหรัฐ และมาเลเซีย 729 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ Reuters รายงานว่า อินเดีย บังคลาเทศ ปากีสถานพยายามจะสั่งซื้อน้ำมันปาล์มจากมาเลเซียเพิ่มขึ้น แต่ผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มรายใหญ่อันดับสองของโลกอย่างมาเลย์ฯ ก็ไม่สามารถเติมเต็มความต้องการได้

อินโดนีเซียจัดหาน้ำมันปาล์มให้แก่อินเดียมากเกือบครึ่งหนึ่งของการนำเข้าน้ำมันปาล์มของอินเดีย ข้อมูลจาก Solvent Extractor Association of India ระบุว่า อินเดียนำเข้าน้ำมันพืชมากถึง 13-14 ล้านตันและนำเข้าน้ำมันปาล์ม 8.5-9 ล้านตัน

ขณะที่ปากีสถานและบังคลาเทศนำเข้าน้ำมันปาล์มเกือบ 80% จากอินโดฯ Rasheed JanMohd ประธานแห่ง Pakistan Edible oil Refiners Association ระบุว่า ไม่มีใครชดเชยการสูญเสียน้ำมันปาล์มจากอินโดนีเซียได้ ทุกประเทศได้รับผลกระทบถ้วนหน้า ขณะที่ Krishnarao Buddha จาก Parle Products Pvt.Ltd ระบุว่า ราคาสินค้าจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญถ้ามีการแบนการส่งออกเป็นระยะเวลานาน ผู้ผลิตบิสกิตและขนมจะเพิ่มราคาราว 10-15%

ที่มา – Business Insider, Markets Insider, USDA Foreign Agricultural Service, OEC, Bloomberg Quint, Reuters

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา