ฝันที่ไปไม่ถึง อินโดนีเซียก้าวไม่พ้นกับดักรายได้ปานกลาง โควิดทำคนรายได้ลด-จนเพิ่มขึ้น 

โควิด-19 ระบาดถือเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตของใครหลายๆ คน ภาพสะท้อนที่ชัดเจนและใกล้ตัวที่สุดคืออาชีพการงาน สถานะทางการเงิน สถานภาพทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพทางการเมืองของประเทศล้วนได้รับผลกระทบหมด

Indonesia Flag อินโดนีเซีย
ภาพจาก Shutterstock

ล่าสุด Nikkei Asia เผยแพร่บทความที่พูดถึงอินโดนีเซียว่า ผลกระทบจากโควิด-19 ระบาดทำให้ประเทศติดหล่มกับดักรายได้ปานกลาง คนจน ยากจนมากยิ่งขึ้น คนจนเพิ่มจำนวนขึ้น ช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางรายได้ขยายกว้างขึ้น ตัวอย่างจาก Suryanti ซึ่งเป็นหนึ่งในพนักงานบริษัทท่องเที่ยวใน Bogor (โบโกร์ ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของอินโดนีเซีย ห่างจากจาการ์ตาราว 60 กิโลเมตร)

Suryanti เพิ่งจะจ่ายเงินชำระหนี้สำหรับรถจักรยานยนต์ หรือมอเตอร์ไซค์หมด และเธอวางแผนว่าจะไปเที่ยวพักผ่อนกับพ่อแม่ของเธอด้วยเงินโบนัสที่คาดว่าจะได้ แต่หลังจากที่โควิดระบาดไปทั่ว เธอต้องพักงานยาว โบนัสถูกยกเลิก เธอไม่ได้รับเงินเดือนเป็นเวลา 7 เดือน 

จากนั้นชีวิตแปรผัน เธอกลายเป็นแม่ค้าออนไลน์ ขายตั้งแต่หน้ากากไปจนถึงเจลล้างมือ มีรายได้ไม่เคยมากกว่า 2 แสนรูเปียห์ หรือประมาณ 14 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 422 บาทต่อสัปดาห์ เธอเล่าว่า เธอจำเป็นต้องใช้เงินมาก จึงต้องขายรถมอเตอร์ไซค์ทิ้ง คนซื้อรู้ว่าเธอต้องการเงิน จึงรับซื้อในราคาที่ต่ำมากเช่นกัน 

จากนั้น บริษัทติดต่อให้เธอกลับไปทำงานอีกครั้งในเดือนกันยายน แต่ต้องรับเงินค่าแรงครึ่งหนึ่งจากที่เธอได้ เธอบอกว่า เธอต้องการมีงานทำ ขณะเดียวกันเพื่อนของเธอหลายคนก็โดนปลดออกบ้าง พักงานบ้าง เธอจึงรับข้อเสนอนั้น 

Nikkei ยกตัวอย่างเรื่องเล่าของ Suryanti ขึ้นมาเพื่อเป็นเสียงสะท้อนชาวอินโดนีเซียอีกหลายล้านคนที่สูญเสียรายได้ ตกงานเพราะโควิด-19 ระบาดและทำลายล้างเศรษฐกิจประเทศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พังยับเยิน ผลกระทบดังกล่าวส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศทันที เป้าหมายที่จะลดอัตราความยากจนลง เพิ่มคนชั้นกลางให้มากขึ้นเนื่องจากท่องเที่ยวและสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีกำลังบูมก็ได้รับผลกระทบไปด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น โควิด-19 ยังเป็นเหตุให้แผนที่ต้องการจะยกเครื่องระบบการศึกษารวมถึงการย้ายเมืองหลวงจากจาการ์ตาไปยังเกาะบอร์เนียวที่ต้องใช้งบประมาณมากกว่า 3.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณกว่า 9.9 แสนล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน) ก็ต้องยืดเวลาออกไปอีก

แน่นอนว่า เป้าหมายในความพยายามจะก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางก็ต้องประสบภาวะชะงักงัน หลังจากที่ก่อนหน้านี้เศรษฐกิจเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ก็ไปไม่ถึงประเทศรายได้ระดับสูง และความต้องการจะเป็นหนึ่งในห้าของประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดภายในปี 2045 ก็ต้องใช้ความพยายามอย่างหนักหน่วงกว่าที่คาดการณ์ไว้

Ulun Danu Bratan Temple in Bali Indonesia
ภาพจาก Shutterstock

ข้อมูลจาก Central Statistics Agency หรือ BPS ระบุว่า โรคระบาดโควิด-19 ทำให้ชาวอินโดนีเซียนตกงานในเดือนสิงหาคมมากถึง 2.67 ล้านคน อัตราการว่างงานอยู่ที่ 7.07% หรือประมาณ 9.77 ล้านคนเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นกว่าปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่อัตรา 5.23% ถือเป็นครั้งแรกที่มีอัตราการว่างงานสูงถึง 7% นับตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา 

นอกจากนี้ กว่า 24 ล้านคนกลายเป็นคนทำงานพาร์ทไทม์ ซึ่งมีทั้งการถูกลดชั่วโมงทำงาน ลดการจ่ายเงิน ทำให้หลายคนกลายเป็นแรงงานนอกระบบ BPS ระบุว่า เศรษฐกิจนอกระบบเพิ่มขึ้นเป็น 60.5% ของแรงงานโดยรวม 138 ล้านคนในเดือนสิงหาคม จากที่ปีก่อนหน้าอยู่ที่ 55.9% 

รายได้ต่อเดือนลดลง 5.18% หรือประมาณ 2.76 ล้านรูเปียห์ในเดือนสิงหาคม เทียบกับปีเดียวกันกับปีก่อนหน้า การบริโภคของภาคครัวเรือนอ่อนแอลง เศรษฐกิจซบเซาลงอยู่ที่ 3.49% ในเดือนกรกฎาคม-กันยายน ลดลงจากไตรมาสก่อนอยู่ที่ 5.32% เข้าสู่ภาวะถดถอยครั้งแรกนับตั้งแต่วิกฤตการเงิน 1998 

Jokowi Indonesia President ประธานาธิบดี อินโดนีเซีย
ภาพจาก Shutterstock

โควิด-19 ระบาด ส่งผลกระทบหนักโดยเฉพาะครัวเรือนที่มีรายได้น้อย ผู้ที่ทำงานหาเลี้ยงครอบครัวจึงมีสถานะการงานที่ไม่มั่นคง งานนอกระบบก็ไม่คุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานแก่คนทำงานนั้น ๆ

Bogi คนขับรถแท็กซี่ในจาการ์ตาเล่าว่า บางครั้งเขาก็มีเงินกลับบ้านแค่เพียง 2 หมื่นรูเปียห์ หรือประมาณ 42.67 บาทต่อวัน บางครั้งเขาก็ต้องแบ่งกันกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหนึ่งถ้วยกับลูกชาย หรือไม่ก็ต้องยกให้ลูกกินทั้งหมดเลย บางครั้งลูกก็ต้องเล่นดนตรีอยู่ริมถนนเพื่อรับเงินบริจาคมาช่วยเหลือครอบครัว ภรรยาเขายังพูดเลยว่า บางทีลูกยังได้เงินมามากกว่าเขาที่ขับรถรับจ้างเสียอีก

ถ้าดูจากอัตราความยากจนในอินโดนีเซียจะพบว่ามีอัตราที่ลดลง จากเดิมในปี 1999 อยู่ที่ 23% ลดลงเป็น 9.66% ในปี 2018 เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์อินโดนีเซียที่สามารถลดความยากจนให้อยู่ในอัตราเลขตัวเดียวได้ จนกระทั่งเดือนกรกฎาคม ธนาคารโลกก็ยกระดับอินโดนีเซียให้กลายเป็นประเทศเศรษฐกิจรายได้ปานกลางระดับบน รายได้ต่อหัวของอินโดนีเซียอยู่ที่ 4,050 เหรียญสหรัฐต่อคนเมื่อปีที่ผ่านมา 

ล่าสุด ตุลาคมที่ผ่านมา ธนาคารโลกรายงานว่าเส้นความยากจนอยู่ในระดับที่คนดำรงชีวิตด้วยเงิน 1.9 เหรียญสหรัฐต่อวัน หรือประมาณ 57.16 บาท ตอนนี้อินโดนีเซียมีคนยากจนเพิ่มขึ้น 3% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2006 เพิ่มจากปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 2.7% อัตราความยากจนเพิ่มสูงขึ้น  

Photo by Fikri Rasyid on Unsplash

ล่าสุด รัฐบาลอินโดนีเซียประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเงิน 695 ล้านล้านรูเปียห์หรือประมาณ 1.48 ล้านล้านบาท คิดเป็น 4.2% ของ GDP เงินจำนวนนี้รวมเงินช่วยเหลือครัวเรือนที่มีรายได้น้อยราว 203 ล้านล้านรูเปียห์แล้ว แต่การกระจายเงินก็ยังเชื่องช้าตามระบบราชการที่ค่อนข้างไร้ประสิทธิภาพ ซึ่ง Moody เตือนว่า โรคระบาดจะทำให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศจีน อินเดีย และอินโดนีเซีย

ความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น คนจะตกงานมากขึ้น รายได้ผู้คนจะลดลง ผู้ที่ได้รับผลกระทบหนักสุดคือผู้ที่อยู่ในกลุ่มรายได้น้อย ประธานาธิบดีโจโค วิโดโดก็เพิ่งประกาศในวันกล่าวปฏิญญาณตนเมื่อครั้งขึ้นรับตำแหน่งช่วงเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา หลังได้รับเลือกเป็นผู้นำประเทศสมัยที่สอง เขากล่าวว่า อินโดนีเซียมีศักยภาพมากพอที่จะก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง 

ตอนนี้เขาคงยอมรับได้แล้วว่า ศักยภาพจากทรัพยากรมนุษย์ไม่อาจก้าวข้ามโรคระบาดอย่างโควิด-19 ที่หลายประเทศต่างรับมือไม่ทันเช่นกันได้ ก้าวต่อจากนี้จึงต้องเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ลดความยากจน และค่อยนับหนึ่งใหม่สำหรับการก้าวให้ข้ามกับดักรายได้ปานกลาง 

ที่มา – Nikkei Asia

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา