เงินบาทอ่อนค่า-หุ้นทั่วโลกติดลบ หลังสหรัฐฯ ชี้เป้าจีนปั่นค่าเงินหยวนให้ต่ำกว่ามูลค่าจริง

สหรัฐฯ ถือเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจของโลก ยิ่งมีนโยบายจาก Donald Trump ประธานาธิบดีสหรัฐว่า “American First” ทำให้สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ขยายผลกระทบเป็นวงกว้าง 

ล่าสุดสหรัฐฯ ประกาศว่าจีนกำลังปั่นค่าเงินให้อ่อนค่า เรื่องนี้กระทบกับทั่วโลกอย่างไร?

Presidnet Xi Jinping Meets Visiting Armenian President Serzh Sargsyan
Chinese President Xi Jinping (L) meets Armenian President Serzh Sargsyan (R) at the Great Hall of the People on March 25, 2015 in Beijing, China. (Photo by Feng Li – Pool/Getty Images)

แม้ช่วงกลางปีสงครามการค้า (Trade war) ระหว่างจีนและสหรัฐฯ มีทีท่าจะเจรจากันด้วยดี แต่ฝั่ง Donald Trump ประธานาธิบดีสหรัฐเห็นว่าการเจรจาไม่สำเร็จเร็วอย่างที่คิด จนวันที่ 2 ส.ค. 2019 กล่าวว่าอาจจะขึ้นภาษีการนำเข้าสินค้าจากจีน 10% ราว 300,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในวันที่ 1 ก.ย. 2019

ฝั่งจีนในวันที่ 5 ส.ค. 2019 ค่าเงินหยวนปรับตัวอ่อนค่าลงสูงสุดในรอบ 10 ปี มาอยู่ที่ระดับ 7 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นการอ่อนค่าอย่างมีนัยสำคัญต่อตลาด และทำให้สหรัฐฯ ออกมาประกาศว่าจีนกำลังแทรกแซงค่าเงินหยวนให้อ่อนค่ากว่ามูลค่าที่แท้จริง เหมือนจีนกำลังตอบโต้ที่สหรัฐขู่จะขึ้นภาษี

ทั้งนี้เมื่อเงินหยวนอ่อนค่าจะส่งผลกระทบต่อการค้าทั้งกับสหรัฐ และหลายประเทศทั่วโลก เช่น ไทยที่ค่าเงินยังคงแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินหยวนอาจทำให้การส่งออกของไทยจะติดลบต่อเนื่องในอนาคต

เงินบาทอ่อนค่า – ตลาดหุ้นทั่วโลกติดลบ-ราคาทองคำพุ่ง ผลพ่วงจากการตอบโต้ระหว่างจีน-สหรัฐฯ

จากการเคลื่อนไหวทั้งจีนและสหรัฐทำให้คืนที่ผ่านมา เช้าวันนี้ (6 ส.ค. 2019) ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 30.83 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากการปิดตลาดเมื่อวานนี้ (5 ส.ค. 2019)​ ที่อยู่ระดับ 30.79 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ธนาคารกรุงไทยมองว่าวันนี้ค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 30.75-30.90 บาทต่อดอลลาร์

ตลาดการเงินทั่วโลกปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) และเห็นได้ชัดว่าดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวลดลง ได้แก่ ดัชนี S&P500 ของสหรัฐที่ปิดลบ 3.0% ฝั่งยุโรปที่ดัชนี STOXX50 ปรับตัวลดลง 1.9% และดัชนี FTSE100 ของอังกฤษ ปรับตัวลดลง 2.5% 

ทั้งนี้การเทขายในตลาดหุ้น ทำใหเห็นเม็ดเงินไหลเข้าสู่ตลาดสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น ตลาดพันธบัตรสหรัฐ ทำให้ผลตอบแทนจากพันธบัตรสหรัฐ อายุ 10 ปี ลดลงมาอยู่ที่ 1.73% ถือว่าปรับตัวลดลง 11bps เป็นจุดต่ำสุดในรอบเกือบ 3ปี 

ส่วนราคาทองคำพุ่งขึ้น 1.9% มาอยู่ที่ระดับ 1,468.2 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สูงที่สุดในรอบ 6 ปี ส่วนเงินเยนที่หลายคนมองว่าเป็น 1 ใน Safe Haven จะปรับตัวแข็งค่าที่สุดในรอบ 7 เดือนมาอยู่ที่ 106.0 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ

Donald Trump ทรัมป์
ภาพจาก Shutterstock

ค่าเงินบาทและสกุลเงินเอเชีย จะเป็นอย่างไรหลังจากนี้

ช่วงนี้ตลาดเงินมีความเปราะบางมาก เนื่องจากมีแรงกดดันด้านขายจากฝั่งตลาดทุนเพราะนักลงทุนปิดรับความเสี่ยง ธนาคารกลางทยอยลดดอกเบี้ย ขณะเดียวกันเงินหยวนที่อ่อนค่าเร็ว ก็ดึงให้แทบทุกสกุลเงินเอเชียอ่อนค่าตามไปด้วย

ส่วนเงินเยนและทองคำปรับตัวขึ้น ยังเป็นสัญญาณว่าตลาดไม่ได้กังวลกับความเสี่ยงด้านเสถียรภาพของฝั่งเอเชียมากนัก ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจสวนกระแสนโยบายการเงินโลกด้วยการตรึงดอกเบี้ยที่ระดับ 1.75% ในการประชุมสัปดาห์นี้ ระยะกลาง จึงมีความเป็นไปได้สูง ที่นักลงทุนอาจกลับเข้าถือเงินบาทเพื่อหลบความเสี่ยงสงครามการค้าเช่นกัน

อย่างไรก็ตามตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐหลายตัวชี้ว่า ผู้ประกอบการทั่วโลกอาจชะลอการทำธุรกิจจากความเสี่ยงสงครามการค้าที่เกิดขึ้น เช่น

  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการของจีน (Caixin Services PMI) ที่ลดลง 0.6 จุด มาอยู่ที่สู่ระดับ 51.6จุด
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อนอกภาคอุตสาหกรรมการผลิตของสหรัฐฯ (ISM Non-Manufacturing PMI) ที่ลดลงสู่ระดับต่ำที่สุดในรอบ 3ปี

สรุป

ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อยหลังจากความไม่แน่นอนทั่วโลก แต่ปัจจุบันค่าเงินบาทยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับหลายสกุลเงินซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างดังนั้นไทยอาจใช้โอกาสนี้มาเร่งพัฒนาภายในประเทศเพื่อรับมือกับปัจจัยภายนอก

ที่มา ธนาคารกรุงไทย, Bloomberg

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา