ค่าเงินหยวนอ่อนค่าทำสถิติในรอบ 10 ปี 7 หยวนต่อดอลลาร์ คาดจีนตอบโต้สหรัฐหลังขึ้นภาษีสินค้านำเข้า

ค่าเงินหยวนอ่อนค่าทำสถิติใหม่ในรอบ 10 ปี ล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 7 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ คาดกันว่าจีนอาจใช้ค่าเงินหยวนเป็นเครื่องมือต่อรองกับสหรัฐในการเจรจาการค้า

CNY Yuan Renminbi US dollar
ภาพจาก Shutterstock

ค่าเงินหยวนอ่อนค่าทำสถิติใหม่ในรอบ 10 ปี ล่าสุดอยู่ที่ 7.084 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ ทำให้คาดว่ารัฐบาลจีนอาจปล่อยให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงเพื่อตอบโต้รัฐบาลสหรัฐอเมริกา หลังจากที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐได้ประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้า 10% มูลค่าทั้งสิ้นกว่า 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

โดยธนาคารกลางจีนได้ออกมาประกาศอัตราค่าเงินหยวนในประเทศจีนไว้เกิน 6.9 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐในวันนี้ เป็นครั้งแรกในการประกาศอัตราแลกเปลี่ยนนับตั้งแต่เดือนธันวาคมที่ผ่านมา สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนที่ 7 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐนั้นถือว่าเป็นจุดวัดใจสำคัญว่ารัฐบาลจีนจะปล่อยให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าหรือไม่อีกด้วย

ในเดือนกรกฎาคมของปีที่ผ่านมาประธานาธิบดีสหรัฐเคยกล่าวว่าจีน สหภาพยุโรป และประเทศอื่นๆ พยายามที่จะควบคุมค่าเงินของประเทศตัวเอง รวมไปถึงอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลง เพื่อที่จะได้สามารถส่งออกได้มากขึ้น

ในช่วงของการเจรจาการค้าระหว่าง 2 ประเทศนั้น สหรัฐขอให้ทางจีนทำให้ค่าเงินหยวนมีเสถียรภาพ เพราะว่าถ้าหากรัฐบาลจีนสามารถกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนได้ก็จะทำให้เกิดความได้เปรียบการค้ากับประเทศอื่นๆ และนี่คือหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ 2 มหาอำนาจไม่สามารถที่จะเจรจาได้เพราะเรื่องนี้

Robert Carnell นักวิเคราะห์จาก ING กล่าวว่า ต้องจับตามองอัตราแลกเปลี่ยนที่ 7 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐในวันนี้ว่าทางการจีนจะเข้าแทรกแซงค่าเงินหรือไม่ ถ้าเข้ามาจัดการคือรัฐบาลไม่ต้องการที่จะให้อ่อนค่าเกิน 7 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่ถ้าวันนี้ค่าเงินหยวนยังมีอัตราแลกเปลี่ยนเช่นนี้แปลว่าจีนเตรียมที่จะใช้ค่าเงินหยวนเป็นอาวุธสำคัญในการต่อรองทางด้านการค้ากับสหรัฐ

ขณะที่ Julian Evans-Pritchard นักวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจจาก Capital Economics ให้มุมมองกับ Reuters ว่า ว่าการที่จีนใช้เครื่องมืออื่นๆ เช่น การขายพันธบัตรสหรัฐออกมา หรือการห้ามจำหน่ายแร่หายาก สิ่งเหล่านี้ถือว่าไม่ทรงอานุภาพเท่ากับการที่จีนใช้ค่าเงินหยวนเป็นเครื่องมือ

สำหรับค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับหยวน ล่าสุดอยู่ที่ 4.388 บาทต่อหยวน ส่วนค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ล่าสุดอยู่ที่ 30.855 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ที่มาReuters,  บทวิเคราะห์จาก ING

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา