ถ่านหินไม่ใช่อนาคต ผู้ถือหุ้น HSBC กว่า 99% โหวตระงับให้เงินทุนสนับสนุนภายในปี 2040

การต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมเริ่มเข้มข้นขึ้น ไม่เว้นแต่ในบริษัทการเงินใหญ่ๆ

กว่า 99% ของผู้ถือหุ้น HSBC ธนาคารระดับโลก โหวตระงับการให้เงินทุนแก่บริษัทในอุตสาหกรรมถ่านหินภายใน ปี 2040 ในการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ได้คะแนนโหวตเกินจำนวนเสียงขั้นต่ำที่ 75%

การผ่านมติในครั้งนี้มีหัวหอกสำคัญคือ ShareAction องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่สนใจเรื่องการลงทุนที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ร่วมกับกลุ่มสถาบันการลงทุนอื่นๆ อีก 15 บริษัท เช่น Amundi และ Man Group 

มีรายงานว่าก่อนหน้านี้ ShareAction เสนอมติที่ทะเยอทะยานมากกว่านี้ แต่ก็ถอนมติหลังจากได้เจรจากับทาง HSBC โดยกลุ่มนักลงทุนได้เน้นย้ำว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างเข้มข้นในปีหน้าหากทาง HSBC ไม่ได้ปฎิบัติตามแผนที่ทางกลุ่มนักลงทุนยอมประนีประนอมลงมาแล้ว

ระงับเงินสนับสนุนในพลังงานสกปรก เพิ่มเงินทุนในพลังงานสะอาด 

จากมติในที่ประชุมล่าสุด HSBC จะดำเนินมาตรการต่างๆ ดังนี้

  • ระงับการให้เงินทุนอุตสาหกรรมถ่านหินในสหภาพยุโรปและประเทศ OECD ภายในปี 2030
  • ระงับการให้เงินทุนอุตสาหกรรมถ่านหินทั่วโลกภายในปี 2040
  • จัดทำรายงานความคืบหน้าประจำปีเกี่ยวกับกลยุทธ์การปล่อยมลพิษเป็นศูนย์
  • ให้เงินทุนเพิ่มสำหรับการลงทุนเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่การดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  • กำหนดแผนระยะสั้นและกลางเพื่อลดภาวะโลกร้อนให้สอดคล้องกับเป้าหมายและกรอบเวลาของข้อตกลงปารีส เริ่มจากอุตสาหกรรมน้ำมัน ก๊าซ พลังงาน และสาธารณูปโภค

รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมคือสิ่งที่ต้องทำ ไม่ใช่แค่เทรนด์ทางการตลาดอีกต่อไป

ปีนี้เป็นปีที่เห็นได้ชัดว่าสาธารณชนกำลังจับตามองเรื่องความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมของบริษัทอย่างหนัก เห็นได้ชัดจากการที่ นักลงทุนสถาบันและบริษัทการเงินที่เข้าไปลงทุนในบริษัทต่างๆ เริ่มเคารพต่อแรงกดดันของสาธารณชนที่เรียกร้องให้บริษัทยักษ์ใหญ่แสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม 

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาก็เกิดแรงกดดันให้บริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมน้ำมันเปลี่ยนแปลงถึง 2 บริษัท 

[opinion] แน่นอน สิ่งแวดล้อมหมายถึงคุณภาพชีวิตของผู้คนโดยรวม มันคือทรัพยากรส่วนรวมที่เป็นของทุกคน เมื่อทรัพยากรร่อยหรอลงไม่ว่าจะในแง่คุณภาพ (เช่น pm 2.5) หรือปริมาณ (เช่น ป่าไม้ลดลง) นั่นคือคุณภาพชีวิตที่ร่อยหรอลงเช่นกัน ว่ากันง่ายๆ สิ่งแวดล้อมก็คือเรื่องการเมืองอีกเรื่องหนึ่งเพราะสัมพันธ์กับชีวิตผู้คนในสังคม จึงไม่แปลกที่นับวันคนยิ่งกดดันบริษัทใหญ่ที่ทำลายสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

อ่านบทความเกี่ยวกับการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมของบริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมพลังงานแบบดั้งเดิม ได้ที่

ที่มา – Nikkei Asia

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

บาส รชต สนิท - นักข่าว นักเขียน ที่ Brand Inside | สนใจด้าน Future of Work, สิทธิคนทำงาน, สิ่งแวดล้อม, การเมืองโลก, ปัญหาทุนนิยม และ สิทธิมนุษยชน