มาถึงตอนที่ 3 และเป็นตอนสุดท้ายของซีรีส์ของ สำรวจตลาดแรงงานไทย ซึ่ง Brand Inside ได้สัมภาษณ์ ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข ผอ.หลักสูตรการบริหารงานบุคคล แห่งสถาบันศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย 2 ตอนก่อนหน้านี้ ได้พูดถึงเรื่อง เทรนด์การบริหารคนทั่วโลก และ ปัญหาที่องค์กรไทยกำลังเผชิญ
บทความนี้จะเน้นเจาะลึกถึงสิ่งที่องค์กรไทยยุคดิจิทัลต้องการจากแรงงาน รวมถึงความท้าทายของแรงงานไทยในวัฒนธรรมการทำงานแบบไทย รวมถึงแนวทางการแก้ปัญหาต่างๆ ซึ่งเชื่อว่าเป็นประโยชน์ต่อองค์กรและแรงงาน
6 องค์ประกอบที่องค์กรต้องการจากแรงงาน
1. มีความรู้พร้อมทำงาน – ปัจจุบันปัญหาใหญ่ประการหนึ่งคือ แรงงานที่เรียนจบจากสถาบันการศึกษาไม่พร้อมทำงาน ทำงานไม่ได้ สะท้อนว่ามีปัญหาหลักสูตรการเรียนการสอน ที่ผลิตแรงงานออกมาไม่สามารถทำงานได้จริง และองค์กรต้องเสียเวลาในการฝึกอย่างน้อย 6 เดือน เท่ากับเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นและไม่เกิดผลิตผล และ
2. ความสามารถในการปรับตัว – แรงงานรุ่นใหม่ต้องสามารถปรับตัวให้เข้ากับการทำงานที่แตกต่างกันได้ ล้มแล้วต้อลุกให้ไว ต้องมีความสามารถที่หลากหลาย ซึ่งแรงงานต้องพัฒนาตัวเองและปรับทัศนคติให้พร้อมรับ
3. ภาวะความเป็นผู้นำ – นี่เป็นเรื่องที่ไทยขาดการพัฒนาอย่างต่อนเนื่อง ทำให้แรงงานไทยขาดภาวะความเป็นผู้นำ และจะทำงานได้ยากขึ้นในยุคดิจิทัล ซึ่งอาจจะมีเจ้านายที่เด็กกว่า หรือลูกน้องที่แก่กว่า การทำงานร่วมกับคนหลากเพศ คนละเชื้อชาติ ศาสนา สีผิว หรือแม้แต่คนพิการ ที่ต่างประเทศมองว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ไทยยังขาดอยู่ในส่วนนี้
4. มีความคิดสร้างสรรค์ – แรงงานยุคใหม่ ไม่ทำงานตามคำสั่ง แต่ต้องกล้าคิดกล้าแสดงออก กล้าสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ออกนอกกรอบ
5. พร้อมใช้เทคโนโลยี – อาจมองว่าเทคโนโลยีเป็นเรื่องปกติของทุกวันนี้ แต่ยังมีแรงงานอีกไม่น้อยที่ไม่สามารถใช้เทคโนโลยีในการทำงานให้มีประสิทธิภาพ นี่คือสิ่งที่ต้องเตรียมพร้อมเช่นกัน
6. การทำงานข้ามวัฒนธรรม – เมื่อมีความหลากหลายของแรงงาน ต้องสามารถรองรับการทำงานข้ามวัฒนธรรมที่หลากหลาย ซึ่งถือเป็นสิ่งใหม่ในสังคมไทยเช่นเดียวกัน
ความท้าทายของแรงงานไทย ท่ามกลางวัฒนธรรมแบบเดิม
ดร.ศิริยุพา บอกวา่ วัฒนธรรมไทยแบบเดิมๆ เป็นอุปสรรคที่ท้าทายแรงงานไทยยุคใหม่อยู่พอสมควร เป็นเรื่องที่องค์กรต้องเรียนรู้และปรับปรุงโดยเร็ว
1. ระบบอาวุโส – เป็นอุปสรรคต่อการทำงานและความคิดสร้างสรรค์ ต้องเชื่อฟังผู้ที่อาวุโสกว่า ห้ามเถียงเจ้านาย ไม่งั้นไม่มีอนาคตในงาน พบมากในงานราชการ
2. ระบบอุปถัมภ์ – เป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมที่อยู่คู่กับสังคมไทย เป็นเรื่องของเส้นสายซึ่งส่งผลให้องค์กรได้คนที่ไม่มีคุณภาพเข้ามาทำงาน
3. ความขัดแย้ง – ในต่างประเทศ ความขัดแย้งนำไปสู่การพัฒนาสิ่งที่ดียิ่งขึ้น แต่ธรรมชาติของคนไทย ไม่ชอบความขัดแย้ง ชอบความประนีประนอมโอนอ่อนผ่อนตาม อย่างไรก็ตามความขัดแย้งต้องมาควบคู่กับความเคารพ รู้จักเสนอความแตกต่างอย่างมีมารยาทและมีเหตุผล
4. การทำตามกลุ่ม – จากที่คนไทยไม่ชอบความขัดแย้ง ดังนั้นจึงเกิดการทำตามกลุ่ม ถ้ากลุ่มทำก็จะทำตามกัน ไม่อยากแปลกแยก ทำให้ไม่เกิดการคิดนอกกรอบ และพอเห็นคนที่แปลกแยก นอกกรอบ ก็จะวิพากษ์วิจารณ์
5. ขาดการวางแผน ไม่มองอนาคต – นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับสังคมไทยทุกระดับ คือ ขาดการวางแผนระยะยาว ไม่มองอะไรในอีก 3ปี 5ปี 10ปีข้างหน้า ทุกอย่างทำเพื่อแก้ไขปัจจุบันเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่มีการลงทุนด้านการศึกษา แต่มองการศึกษาเป็นเพียงเครื่องมือสร้างสถานะ (status) ทางสังคมเท่านั้น
ทางออกเร่งด่วนที่ประเทศไทยต้องเร่งมือ เพื่อพัฒนางานบริหารคน
ดร.ศิริยุพา มองว่า เรื่องของเทคโนโลยีเป็นเรื่องที่ควรกังวลน้อยที่สุด เพราะเป็นเครื่องมือที่สามารถอบรมฝึกฝนได้ คนไทยใช้งานเทคโนโลยีเป็นอยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่ใช้เพื่อความบันเทิง ไม่ได้ใช้เพื่อหาความรู้ข้อมูล ดังนั้นสิ่งที่ต้องเร่งมือ เป็นเรื่องระดับโครงสร้างมากกว่า ดังนี้
1. ปรับวัฒนธรรมองค์กรใหม่ – ลักษณะของคนไทย เก่งเดี่ยว ไม่เก่งทีม เรื่องนี้ต้องฝึกฝน องค์กรต้องสร้างการทำงานแบบทีมเวิร์ค ลองผิดลองถูกไปด้วยกัน เพื่อสร้างทีมงานที่แข็งแกร่ง
2. พัฒนาภาวะผู้นำในทุกระดับงาน – ภาวะผู้นำเป็นสิ่งที่แรงงานไทยขาด ดังนั้นต้องสร้างภาวะผู้นำให้เกิดขึ้น ต้องมีการฝึกอบรมเพื่อให้รู้หน้าที่ของผู้นำ และมอบหมายให้เกิดการทำงาน มีประสบการณ์ร่วมกัน
3. งานด้านบริหารคน ต้องใช้ข้อมูล – เรียกว่า HR Analytics การหาคน พัฒนาคน และรักษาคนในองค์กร ต้องใช้ข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อวางแผน ต้องดูว่าองค์กรกำลังก้าวไปในทิศทางใด ต้องการแรงงานด้านใดในอีก 3 -5 ปีข้างหน้า จากนั้นต้องลงทุนสร้างคนกับสถาบันการศึกษา ไม่ใช่การจ้างงานเพื่อปัจจุบันเท่านั้น ไม่เช่นนั้นแรงงานขาดแคลนแน่นอน
4. ใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนา HR – เลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อสร้างแบรนด์ คัดเลือกคน พัฒนาและรักษาคนในองค์กร
5. พัฒนาแรงงาน – นี่คือสิ่งสามัญที่ต้องทำมาโดยตลอดและยังต้องทำต่อไป และต้องย้อนกลับไปทำตั้งแต่ในสถาบันการศึกษา เพื่อป้องกันแรงงานขาดแคลน หรือแรงงานไม่ตรงความต้องการตลาด หรือแรงงานไม่มีคุณภาพ สร้างองค์ความรู้ ความสามารถในการปรับตัว เทคโนโลยีและนวัตกรรมความคิดสร้างสรรค์ ให้แรงงานรู้ว่าตลาดต้องการอะไร และเมื่อจบการศึกษาออกมา จะเจอกับอะไร
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา