ทำความรู้จัก “Monk Mode ช่วงเวลาแห่งการเป็นพระ” เทคนิคที่ซีอีโอนำมาใช้แล้ว ทำงานได้ดีขึ้น!

ทำความรู้จัก Monk Mode เป็นคนธรรมดาไม่ชอบ ขอเป็นพระกับเขาบ้างได้มั้ย?

พระสงฆ์, Monk
Photo by sippakorn yamkasikorn on Unsplash

ในยุคที่โลกเต็มไปด้วยเสียงแจ้งเตือน Notification จากหลากหลายแพลตฟอร์ม จะดีกว่ามั้ย ถ้าเราจะเข้าสู่โหมดการเป็นพระบ้าง พระผู้ซึ่งละกิเลสทั้งมวล ตัดตัวเองออกจากโลกที่มีแต่เสียงรอบทิศทางสู่ความสงบบ้าง

วันนี้ เราจะพาไปรู้จักกับ “Monk Mode” ช่วงเวลาแห่งการเป็นพระ..มันเป็นยังไง?

เอาจริงๆ monk mode เป็นกระแสไวรัลตั้งแต่กลางปีที่แล้วและยังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด Josh Wood ซีอีโอจากบริษัท Bloc เขียนบทความในเว็บไซต์ Bloc ที่เป็นเว็บไซต์ให้ผู้คนเข้ามาแชร์เรื่องราวที่อยากเขียน โดย Business Insider ได้นำเรื่องนี้มาถ่ายทอดต่อ ดังนี้

Josh พูดถึงกระแส monk mode ว่า มันช่วยทำให้เขาทำงานไม่ว่าจะเป็นโปรเจกต์เล็กหรือใหญ่ได้สำเร็จทุกเรื่อง จากนั้นก็ยกตัวอย่าง Iman Gadzhi นักธุรกิจหนุ่มที่ประสบความสำเร็จที่เผยแพร่แนวคิดดังกล่าวใน TikTok และทำให้เขาอยากลองทำบ้าง

Josh เอาวิธีเข้าสู่โหมดแห่งการเป็นพระมาใช้ในชีวิตจริงอย่างไร?

เขาบอกว่า วิธีนี้มันจำเป็นต้องโดดเดี่ยวตัวเองจากสังคมและมีวินัย พร้อมที่จะอยู่กับความเงียบสงบ ให้ตัวเองมุ่งเป้าไปที่ความคิดภายในของตัวเอง

สิ่งที่เขาทำก็คือ ปิดกั้นทุกช่องทางที่จะทำให้เขาเสียสมาธิได้ ไม่ว่าจะเป็นปิดโทรศัพท์ ปิดการแจ้งเตือนจากแอปพลิเคชันทั้งจาก Slack โซเชียลมีเดีย และอีเมล์ รวมถึงดาวน์โหลดแอปที่ชื่อ Monk Mode มาใช้ด้วย แอปนี้ก็มีลักษณะใช้งานเหมือนแอปปลูกต้นไม้สร้างสมาธิ ถ้ามีสิ่งกีดขวาง ทำให้เราต้องหยิบมือถือ ต้นไม้ก็จะตาย หรือแอปที่กำหนดเวลาเพื่อให้เราทำกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งได้อย่างต่อเนื่องตามระยะเวลาที่เรากำหนด ใช้แอปเหมือนเล่นเกม ถ้าเราทำได้สำเร็จ เราจะได้รางวัลจากเกม หลังเราทุ่มเทเวลาที่จะโฟกัส ไม่ว่อกแว่กทำสิ่งอื่น

Josh บอกว่า เขาเคยใช้เทคนิค Pomodoro หรือการกำหนดระยะเวลาในการทำงานช่วงสั้นๆ เช่น กำหนดเวลาไว้ที่ 25 นาทีแต่ก็พบว่ามันเป็นช่วงเวลาที่สั้นเกินไปและมันยากมากที่จะสร้างแรงจูงใจให้ตัวเองกลับมาทำงานหลังเบรคเพื่อพักผ่อนได้ ขณะที่ monk mode ทำให้เขามีสมาธิมากกว่าและไม่สะดุดง่ายๆ เพราะใช้เวลายาวนานกว่า

เขาใช้ monk mode ในเวลาที่ต้องการตอบอีเมล์ในทุกๆ เช้าและยังใช้เพื่อทำงานยากๆ เช่น การวางแผนเพื่อพัฒนาซอฟต์แวร์ ช่วงเวลาที่เขาเลือกใช้มักเป็นช่วงที่เขารู้สึก Productive มากที่สุดซึ่งก็คือช่วงเช้าของวัน เขาบอกว่ามันทำให้เขาวางแผนในการใช้ชีวิตได้ดีขึ้น สื่อสารกับพนักงานในองค์กร กับหุ้นส่วน กับสมาชิกครอบครัวได้ดีขึ้น มันดีมากที่จะทำให้ผู้คนได้รู้ว่าเขาเมื่อไรที่เขายุ่ง เมื่อไรที่สามารถติดต่อเขาได้ ซึ่งเวลาที่เขาอยู่ในโหมดแห่งความสงบนี้ เขาก็ขอแค่เพียง 2 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น

สิ่งที่ยากสำหรับการเข้าสู่โหมดแห่งความสงบ

สิ่งที่ยากสำหรับ monk mode เมื่อเราตัดสิ่งรบกวนจากภายนอกได้แล้ว สิ่งที่ยากกว่านั้นก็คือ ความคิดของตัวเอง แต่เขาก็เรียนรู้ที่จะฝึกฝนและทำมันบ่อยๆ โดยกำหนดเป้าหมายและทำให้สำเร็จด้วยการแข่งกับตัวเอง เขาบอกว่า เทคนิคนี้ช่วยให้เขาทำงานได้ดีขึ้นกว่าช่วงเวลาปกติถึง 5 เท่า

สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการใช้เทคนิคนี้ของเขาก็คือ เขาจะไม่ทำงานอย่างเป็นบ้าเป็นหลังยาวนาน 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์หรือมากกว่านั้น แต่ทำงานเท่าเดิมในระยะเวลาที่สั้นลง เพื่อจะเอาเวลาไปทำสิ่งสำคัญอื่นๆ ได้ ทั้งการพบปะสังสรรค์เพื่อนฝูงญาติมิตร หรือให้เวลากับครอบครัว

ทุกวันนี้ Josh ให้เวลากับงานราว 30-40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ สำหรับคนที่อยากเริ่มต้นทำ ลองเริ่มฝึกที่ 30 นาทีก่อน จากนั้นค่อยเพิ่มเป็นรายชั่วโมง ถ้ารู้สึกเหนื่อยล้าก็ควรแบ่งเวลาพักเบรคสั้นๆ สัก 10 นาที แต่กรณีที่ทำงานระยะไกล ทำงานจากบ้าน ควรบอกสมาชิกครอบครัว เพื่อนร่วมงาน เพื่อให้พวกเขาได้ปรับตัวไม่กวนใจคุณเวลาที่คุณต้องการสมาธิจดจ่อ และในที่สุดภารกิจ monk mode ที่คุณตั้งใจทำก็จะประสบความสำเร็จได้

ที่มา – Business Insider, TikTok, Monk Mode

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
สนใจความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การทูต การเมือง ประชาธิปไตย เสรีภาพ ความยุติธรรมและความเท่าเทียม ชอบอ่าน ชอบเขียน ชอบสืบค้นข้อมูล ชอบทำคอนเทนต์