ทำไม “ทำงานไม่เป็นเวลา” กลับเพิ่ม productivity? แต่ก็ต้องระวัง ทำโอฟรี-ทักคนอื่นนอกเวลา

ทำไม “ทำงานไม่เป็นเวลา” กลับช่วยเพิ่ม productivity มากกว่าทำงานแบบ 9-to-5 ตอบคำถามนี้ด้วยข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญ พร้อมบอกวิธีนำไปใช้และข้อต้องระวัง

2 ปีที่ผ่านมา การทำงาน 9 โมงเช้า เลิก 5 โมงเย็นตามตารางเวลา (หรือดึกกว่านั้น) ถูกท้าทายขนานใหญ่จากการทำงานจากบ้านและสิ่งที่มาพร้อมกันซึ่งก็คือ “การทำงานไม่เป็นเวลา” เพราะมันพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ต่อให้ไม่ตอกบัตรเข้าทำงาน ไม่ทำงานในช่วงที่กำหนดให้ หรือแม้แต่แวบไปทำธุระเวลางานปกติ (แล้วกลับมาทำในเวลาอื่น) งานก็เสร็จอยู่ดี ที่สำคัญอาจจะดีกว่าที่เคยเป็นเลยก็ได้

คำถามก็คือ ทำไมการทำงานไม่เป็นเวลา เดี๋ยวทำงาน เดี๋ยวแวบไปทำอย่างอื่น ถึงอาจเพิ่มผลิตภาพ (productivity) ได้มากกว่าการทำงานรวดเดียวในเวลาทำงานแบบปกติ?

Flexibility = Productivity?

แก่นหลักของคำตอบอาจอยู่ที่สมการที่ว่า flexibility = productivity เมื่อการทำงานมีความยืดหยุ่นคุณก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพ ซึ่ง Laura Giurge ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านพฤติกรรมศาสตร์จาก LSE อธิบายว่า “ประโยชน์หลัก ๆ ของการทำงานแบบนี้คือ คุณสามารถควบคุมได้ว่าจะใช้เวลาอย่างไร และสามารถเลือกที่จะทำงานให้เสร็จในเวลาที่คุณมีพลังที่สุด”

“คนทำงานสามารถแบ่งเวลาทำงานของตัวเองเป็นบล็อคย่อย ๆ และเอาไปจัดวางตามจังหวะการทำงานตามธรรมชาติของตัวเอง ตรงข้ามกับการทำงานยาว ๆ 8 ชั่วโมงตามตารางเวลาที่กำหนดลงมา” เธอขยายความเพิ่มเติม

Aaron De Smet หุ้นส่วนอาวุโสจาก McKinsey & Company เสนอตรงกันว่า การทำงานแบบไม่เป็นเวลานั้นสอดคล้องกับธรรมชาติของการทำงาน และจะทำให้คนทำงานมีโอกาสเลือกทำงานในช่วงเวลาที่ตัวเองความคิดสร้างสรรค์พลุ่งพล่านหรือเปี่ยมพลังที่สุด (และทำงานง่าย ๆ เช่น ตอบอีเมล ในช่วงพลังต่ำ)

ยกตัวอย่างง่าย ๆ หากคุณเป็นคุณพ่อของลูก 3 คน การทำงานแบบไม่เป็นเวลาเปิดโอกาสให้คุณสามารถเริ่มทำงานได้ตั้งแต่เช้ามืดโดยไม่ต้องสละมื้อเช้าที่ควรมีร่วมกับครอบครัวให้กับการทำงานแบบ 9-to-5 หรือหากคุณเป็นศิลปินผู้มีความคิดบรรเจิดในยามเย็น (ถึงดึกดื่น) คุณก็มีโอกาสได้พักผ่อนอีกหน่อยในช่วงเช้า เพื่อให้มีแรงมารังสรรค์ผลงานอีกครั้งในค่ำคืนถัดไป

De Smet อธิบายข้อดีของการทำงานแบบนี้ว่า “เอาเข้าจริง การทำงานแบบนี้เป็นเรื่องที่ต่างตอบแทน สำหรับพนักงาน แม้จะงานเยอะแต่พวกเขาก็จะไม่ต้องนั่งคาออฟฟิศจนดึกดื่น ไม่พลาดไปดูลูกแข่งกีฬาโรงเรียน พวกเขาสามารถใช้ชีวิตส่วนตัวได้มากขึ้นและสะสางงานจนแล้วเสร็จได้ สำหรับนายจ้าง งานจะออกมาอย่างสร้างสรรค์ มีแง่มุมใหม่ๆ และเปี่ยมด้วยอารมณ์ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็จะต้องทำงานกันแบบยืดหยุ่นและจัดวางทุกอย่างอย่างเหมาะสม”

แก่นหลักของการทำงานแบบยืดหยุ่นคือแบบแผน

แน่นอนอยู่แล้วว่า ในการทำงานซึ่งการเล่นเป็นทีมเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ การปล่อยให้พนักงานทำงานแบบยืดหยุ่นแบบไม่มีกรอบการทำงานมารองรับย่อมไม่ใช่เรื่องดี De Smet ชี้ว่า “ถ้าจะทำให้การทำงานไม่เป็นเวลาเกิดขึ้นและบรรลุผลได้จริงก็ต้องมีกรอบการทำงานกำกับชัดเจน” 

Slack Salesforce
ภาพจาก Shutterstock

ยกตัวอย่างเช่น ระบุเวลากลางที่ทุกคนต้องพร้อมตอบชัดเจนเพื่อให้การทำงานร่วมการไหลลื่น เปิดโอกาสให้มีการระดมสมองและทำงานร่วมกัน ไม่ใช่ปล่อยให้เกิดอาการตัวใครตัวมันแบบสุดขั้ว จนอาจเกิดเคสต่อกันไม่ติดหรือทักงานนอกช่วงการทำงานของคนอื่น

ทำงานไม่เป็นเวลา ระวังโอฟรี-รบกวนคนอื่นนอกเวลา

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องระวังของการทำงานไม่เป็นเวลาคือการทำงานเกินเวลา เพราะเมื่อไม่มีกรอบเวลากำหนดและทำงานสลับไปมากับการใช้ชีวิตด้านอื่น ก็จะเป็นการยากในการติดตามว่าทำงานไปมากแค่ไหนแล้ว (และจะยากขึ้นไปอีกสำหรับการคิดเรื่อง OT) นอกจากนี้ก็ยังต้องระวังเรื่องการทักงานไปนอกเวลางานของคนอื่นอีกด้วย

แต่อย่างน้อยที่สุด เราก็ได้รู้แล้วว่า การทำงานไม่เป็นเวลาหรือการทำงานแบบยืดหยุ่น กำลังกลายเป็นเรื่องที่คนทำงานให้ความสำคัญกันมากขึ้น เมื่อไม่นานมานี้ McKinsey เพิ่งจะออกรายงานซึ่งชี้ว่า คนทำงานกว่า 40% ลงความเห็นว่าการทำงานยืดหยุ่นคือสิ่งโน้มน้าวใจเบอร์ต้น ๆ ให้อยู่ในงานเดิมต่อ จากการศึกษากลุ่มตัวอย่างทั่วโลกกว่า 13,000 คน 

Giurge ให้ข้อคิดว่า “ทุกวันนี้คนทำงานมีวิธีการทำงานและความต้องการหลากหลาย บริษัทที่ไม่เข้าใจหรือยอมรับความแตกต่างเหล่านี้นับวันก็จะยิ่งสูญเสียพนักงานคนสำคัญไปเรื่อย ๆ”

ที่มา – BBC Worklife

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

บาส รชต สนิท - นักข่าว นักเขียน ที่ Brand Inside | สนใจด้าน Future of Work, สิทธิคนทำงาน, สิ่งแวดล้อม, การเมืองโลก, ปัญหาทุนนิยม และ สิทธิมนุษยชน