“เมืองนอกใช้ AI เมืองไทยใช้ยศขู่” ถอดบทเรียน การปราบมิจฉาชีพไซเบอร์ ในระดับโลก

สรุปประเด็น แก้ปัญหาเบอร์โทรมิจฉาชีพ “เมืองนอกใช้ AI เมืองไทยใช้ยศขู่” 

(1) หลายคนคงเคยเจอกับการที่เบอร์แปลกโทรเข้าหรือส่ง SMS มาหลอกลวง บ้างก็เข้ามาเสนอเงินกู้ บ้างก็ชวนเล่นพนัน ไปจนถึงหลอกมอบสิทธิประโยชน์ต่างๆ โดยในปลายปีที่ผ่านมาพบว่ามีเบอร์โทรมิจฉาชีพกว่า 6.4 ล้านหมายเลข ถ้าเทียบกับช่วงต้นปี 2564 ถือว่าเติบโตกว่า 2.5 เท่า จากข้อมูลของมูลนิธิผู้บริโภค

(2) ปัญหาคือ ผู้เสียหายจำนวนมากถูกโทรเข้ามาหลอกลวงหรือข่มขู่ จนยอมกรอกประวัติส่วนตัว อนุญาตให้เข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์ หรือโอนค่าธรรมเนียมก่อนจะได้รับเงินกู้ โดยในปีที่ผ่านมามีผู้เสียหายเข้ามาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกว่า 1,800 คน และอย่าลืมว่ายังมีผู้เสียหายอีกมหาศาลที่ยังไม่ได้เข้าร้องเรียน

(3) เอาเข้าจริง ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์เป็นปัญหาที่หลายประเทศกำลังเจอ เช่น มาเลเซีย เกาหลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ออสเตรเลีย หลักการแก้ปัญหานี้คร่าวๆ ก็คือการที่ผู้ให้บริการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้อง ‘ตรวจสอบ’ และ ‘บล็อกเบอร์’ เหล่านี้ทิ้งไปตั้งแต่ต้นทาง

(4) หลักการที่พูดถึงจะว่าง่ายแต่เอาจริงก็ยาก เพราะทุกวันนี้มิจฉาชีพมีเทคโนโลยีในมือ เบอร์แปลกจึงมีพฤติกรรมเหมือนเบอร์จริงๆ มากขึ้น เป็นเลขที่ลักษณะเหมือนเบอร์โทรศัพท์เคลื่อนที่ทั่วไป มิหนำซ้ำยังมีจำนวนมากจนบล็อกกันไม่หวั่นไม่ไหว หลายๆ ประเทศเลยต้องงัดท่า ‘เทคโนโลยีชนเทคโนโลยี’ มาใช้

(5) เคสที่น่าสนใจในเมืองนอกเกี่ยวกับการจัดการปัญหาเบอร์โทรมิจฉาชีพคือออสเตรเลียที่ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือในประเทศใช้ AI จำแนกพฤติกรรมการส่งข้อความแปลกๆ และบล็อกเบอร์ทิ้งแบบเรียลไทม์ โดยทางบริษัทออกมาบอกว่านี่คือความร่วมมือความร่วมมือกับรัฐภายใต้ข้อบังคับใหม่ๆ ซึ่งช่วยให้สามารถบล็อกสายโทรเข้าจากมิจฉาชีพได้กว่า 15 ล้านครั้ง/เดือน

(6) ในสิงคโปร์ ตำรวจมีการร่วมมือกับ คณะกรรมการความมั่นคงทางไซเบอร์ หน่วยงานพัฒนาสื่อสารสนเทศ (IMDA) และหน่วยงานรัฐอื่นๆ ในการนำ AI มาใช้เพื่อตรวจสอบและจัดการเว็บไซต์หลอกลวง (ซึ่งรวดเร็วและรุนแรงกว่าการหลอกลวงผ่านโทรศัพท์) โดยกระทรวงมหาดไทยของสิงคโปร์ชี้ว่าภายในเวลาแค่ปีเดียว ก็สามารถจัดการเว็บไซต์ที่เข้าข่ายหลอกลวงได้เพิ่มเป็น 12,000 เว็บไซต์ จากในปี 2020 ที่บล็อกไปได้แค่ 500 เว็บไซต์เท่านั้น

(7) กลับมายังประเทศไทย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคระบุว่าเคยร้องไปยังกสทช. เพื่อให้ผู้ให้บริการเครือข่ายบล็อกเบอร์มิจฉาชีพแต่ดูเหมือนปัญหาจะยังคงอยู่ ประชาชนกลับต้องโหลดแอปแจ้งเตือนเบอร์มิจฉาชีพด้วยตนเอง จึงได้ยื่นเรื่องร้องให้กสทช. เอาผิดผู้ให้บริการที่ไม่สามารถกำจัดเบอร์เหล่านี้ได้ซึ่งถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค 

(8)  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือหลายรายว่าตนเป็นผู้ให้บริการด้านระบบสาธารณูปโภคเท่านั้น (ไม่ได้มีความสามารถเพียงพอที่จะจัดการปัญหา) แต่เอาเข้าจริงหลายๆ ค่ายกลับออกมาประกาศว่าเริ่มเห็นทางตันของธุรกิจ และประกาศตัวเป็น Tech Company ดังนั้น ก็น่าจะมีขีดความสามารถในการใช้เทคโนโลยีสู้เทคโนโลยี

(9) น่าสนใจว่าล่าสุด เกิดกรณีที่มีเบอร์มิจฉาชีพที่อ้างตัวเป็น DHL โทรไปหา พล.ต.ท. กรไชย คล้ายคลึง ผู้บัญชาการกองบัญชาการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.ไซเบอร์) และมีการตอบโตกลับไปว่า “คุณรู้ไหม ผมเป็นใคร ผมเป็นผู้บัญชาการที่ปราบปรามอาชญากรรมทางไซเบอร์ คุณอย่ามาล้อเล่นกับผม นะ ไปล้อเล่นกับคนอื่น อย่าทะลึ่ง” 

(10) แถมกองบัญชาการไซเบอร์เองก็เคยออกมารณรงค์หลักการ “ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน” เรียกร้องให้ประชาชนตรวจสอบข้อมูลให้ชัดและชัวร์ หากการกู้ยืมเราต้องเป็นฝ่ายนำเงินให้ผู้ปล่อยกู้ก่อน ก็ขอให้คิดเสมอว่าอาจเป็นพวกมิจฉาชีพ 

สรุป

เมื่อมองการจัดการปัญหาเบอร์มิจฉาชีพของไทยในบริบทโลก จะเห็นได้ว่าในขณะที่หลายประเทศใช้เทคโนโลยีชนเทคโนโลยี รัฐไทยกลับใช้พฤติกรรมเจ้ายศเจ้าอย่างของรัฐไทยผลักภาระให้ประชาชนจัดการเอาเอง จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมหลังจากเกิดกรณีฉาวของ ผบช.ไซเบอร์ ขึ้นจึงเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นจำนวนมาก

ที่มา – The Straits Times, The West Australian

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

บาส รชต สนิท - นักข่าว นักเขียน ที่ Brand Inside | สนใจด้าน Future of Work, สิทธิคนทำงาน, สิ่งแวดล้อม, การเมืองโลก, ปัญหาทุนนิยม และ สิทธิมนุษยชน